X

มหากาพย์เขาค้อ นายทุนยื้อยาว คนจนรับแจกผวา

ตั้งแต่เดือน พ.ค.- ก.ค.2652 ระยะเวลา 90 วัน ราษฎร และผู้ประกอบการรีสอร์ทบ้านพัก ในพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ ในพื้นที่อ.เขาค้อ 4 ตำบล ต้องไปแสดงสิทธิการถือครองที่ดิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ในการยึดคืนพื้นที่บางส่วนจากผู้ครอบครองที่ไมมีสิทธิ

3 หน่วยงาน มีกรมป่าไม้ กองทัพภาคที่ 3 ศูนย์ประสานการการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. และจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบส่วนเป็นคณะทำงานส่งมอบคืนพื้นที่ เพื่อเร่งให้เป็นไปตามแผนแม่บทเขาค้อโมเดลที่กำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปี 2560-2564   โดยแนวทางหลังจากยึดพื้นที่คืนจากผู้ที่ครอบครองไม่ถูกต้องจะนำพื้นที่ที่ยึดไปแจกจ่ายกับราษฎรที่ยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน ตามโครงการของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

การขอคืนพื้นที่เขาค้อ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีการขอคืนพื้นที่ภูทับเบิก และวังน้ำเขียว ที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ แม้ทั้ง 3 กรณีจะมีปัญหาคล้ายคลึงกันคือมีผู้บุกรุกป่า และมีการใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์

ที่ดินวังน้ำเขียว สปก.ขอพื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อจัดสรรให้ราษฎรทำกิน ภูทับเบิก กรมประชาสงเคราะห์ ของพื้นที่ป่าไม้เพื่อจัดสรรให้ชาวไทยภูเขาเป็นที่ทำกิน ขณะที่เขาค้อ กองทัพภาคที่ 3 ขอพื้นที่ป่าไม้ จัดสรรให้ราษฎรอาสา (รอส.)เป็นที่ทำกิน

ปัญหาของทั้ง 3 ที่ ไม่ต่างกันเนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ อยู่ในทำเลเหมาะ บรรยากาศดี จึงมีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากการจัดสรรให้คนจนเป็นที่ทำกินจึงมีการเปลี่ยนมือและมีการทำผิดวัตถุประสงค์ ทำรีสอร์ท บ้านพักรองรับนักท่องเที่ยว หรือสร้างบ้านพักตากอากาศส่วนตัว

แต่การรื้อ ทุบรีสอร์ท บ้านพัก เพื่อขอคืนผืนป่าหรือนำมาแจกจ่ายคนยากจนในกรณีเขาค้อ ปัญหาซับซ้อน และมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการมากกว่าภูทับเบิก และวังน้ำเขียวมากมาย

การแก้ปัญหาการบุกรุกป่าเขาค้อเริ่มจริงจังเมื่อปี 2560 เมื่อกระแสการท่องเที่ยวบูม จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวมาที่เขาค้อปีละ 2 แสนคน ขยับขึ้นมาเป็น 2 ล้านคน ทุ่งกะหล่ำ ไร่ขิง ไร่ข้าวโพด ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ถูกแปรสภาพเป็นรีสอร์ท บ้านพักผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่ดินเปลี่ยนมือจาก 10 กว่าปีก่อนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จากไร่ละหลักหมื่น ปัจจุบันขยับเป็นไร่ละหลักล้าน

ที่ดินเขาค้อที่เป็นปัญหาว่าง่าย ๆ คือแทบทั้งอำเภอ เพราะเดิมพื้นที่นี้มี ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีสภาพลูกคลื่นลอนลาดถึงลอนสูง เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญเช่นลุ่มน้ำเข็ก ลุ่มน้ำวังทอง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน และลุ่มน้ำป่าสัก ในอดีตเขาค้อปกคลุมด้วยป่าเขียวชอุ่มตลอดปี แต่จากการบุกรุกกว่า 20 ปี เพื่อทำไร่ข้าวโพด ไร่ขิง สวนผักสภาพโดยทั่วไปเขาค้อโดยส่วนใหญ่จะกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น แต่ด้วยบรรยากาศที่ดี ทำเลที่เหมาะพื้นที่บางส่วนแปรสภาพเป็นรีสอร์ท บ้านพัก

ปมที่มาของปัญหาเขาค้อในปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากสงครามปราบคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่เขตงาน 15 เขาค้อโดยทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ทำสงครามแย่งชิงมวลชนในพื้นที่เริ่มจากปี 2521 จนกระทั่งเปิดฉากยุทธการผาเมืองเผด็จศึก และสามารถยึดพื้นที่ผกค.ได้ในปี 2525

หลังเหตุการณ์สงบ และเป็นการตรึงพื้นที่ระยายาว ช่วง ปี 2525-2527  กองทัพภาคที่ 3 ได้ขอพื้นที่กรมป่าไม้ กว่า 120,000 ไร่ตามแนวเส้นทางช่วงทำสงคราม จากนางั่ว- แคมป์สนเพื่อจัดสรรให้ครอบครัวทหาร และอาสาสมัครที่ร่วมรบ และผู้สมัครใจ และเรียกรวมๆว่า “ราษฎรอาสา” หรือรอส. ทุกครอบครัวได้รับการจัดสรรที่ทำกินคนละ 20 ไร่ที่พักอาศัย 2 ไร่ จัดตั้งเป็นหมู่บ้านพัฒนา ตามแนวถนนซ้าย-ขวา ฝั่งละ 1 ก.ม.

ขอพื้นที่ป่าไม้มากว่า 120,000 ไร่ จัดสรรให้ รอส.ไปกว่า 6 หมื่นไร่ ที่เหลือยังมีสภาพเป็นป่า ที่ลึกเข้าไปจากถนนสายหลัก ที่ดินที่จัดสรรให้ รอส.มีเงื่อนไขให้เป็นที่ทำกิน ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกได้ แต่ต่อมาก็กลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อพื้น กว่า 6 หมื่นไร่กลายเป็นทำเลทอง

เงื่อนไขการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เงินล่อใจ ทำให้ รอส.จำนวนมากขายที่ดินที่ไร้เอกสารสิทธิให้กับนายทุนเพื่อสร้างรีสอร์ท บ้านพักเมื่อการท่องเที่ยวเขาค้อบูมแรงซื้อยิ่งทุ่ม การเทขายเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนราคาที่ดินถูกปั่นขึ้นเป็นไร่ละหลักล้าน

ชาวบ้านที่ขายที่ดินหน้าถนน ก็ขยับเข้าป่าที่ลึกเข้าไปจับจอง แผ้วถาง และก็ยังอยู่ในพื้นที่ที่กองทัพภาคที่ 3 ขอจากกรมป่าไม้แต่ไม่มีการจัดสรร นายทุนก็ตามเข้าไปซื้อ บ้านพัก รีสอร์ท เลยกระจายไปทั่ว นายทุนบางรายพอซื้อเสร็จก็ปล่อยให้ราษฎรเจ้าของพื้นที่เดิมเช่าเพื่อรอเวลาที่เหมาะสม

การตรวจยึดรีสอร์ทผิดกฎหมายในเขาค้อ จึงมักจะได้ยินคำว่าที่ดินในแปลง รอส.และ นอกแปลง รอส.ที่เป็นการบุกรุกป่า แต่ความจริงก็ผืนเดียวกัน ต่างกันเพียง”สิทธิ”ของผู้ครอบครอง

การพิสูจน์สิทธิ ในช่วง 3 เดือนจากนี้ หลัก ๆ เป็นบ้านพัก รีสอร์ทที่ตรวจพบมีการก่อสร้างเข้าข่ายผิดกฎหมาย ตั้งอยู่ในพื้นที่แปลงจัดสรรให้ รอส.ทั้งหมด 332 แห่ง และที่มีการบุกรุกนอกแปลง รอส.135 แห่ง

รีสอร์ท บ้านพัก 135 แห่ง ไม่ค่อยเป็นปัญหาในการจัดการเพราะถือเป็นการบุกรุกป่าแบบชัดๆ ตรวจสอบเจอก็รื้อ ทุบได้เลย แต่ 332 แห่ง ถือเป็นก้างชิ้นใหญ่ในการทวงคืนผืนป่า เพราะผู้ครอบครองต่อจาก รอส.ตัวจริงและลงทุนสร้างรีสอร์ท บ้านพัก ส่วนใหญ่เป็นผู้มีระดับ ชื่อ ชั้น และรู้ช่องกฎหมาย

ตรวจสอบ ยึด ฟ้องศาล รอให้ศาลสั่งแล้วรื้อ ทุบ ฟังดูก็ง่ายแต่หลายคดีอัยการ “สั่งไม่ฟ้อง” หรือบางคดีหลุดในชั้นศาลก็มี เพราะนายทุนตั้งป้อมสู้เรื่อง “ขาดเจตนา”

ลูกเล่นที่ของนายทุนที่ใช้ต่อสู้ส่วนใหญ่คือการอ้างว่า “เช่าที่”จากเจ้าของที่ดินเดิมที่เป็น รอส. หรือบางรายก็อ้างว่า รอส.เป็นหุ้นส่วน ถ้าว่ากันตามหลักฐาน เอกสาร ทุกอย่างจัดมาครบ

การแสดงตัวเพื่อยืนยันสิทธิในที่ดิน 4 ตำบล ช่วง 3 เดือนเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย แทบทั้งหมดจะเป็นอดีตรอส.หรือทายาทแม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ที่เขาค้อแล้วก็ยังต้องมาแสดงตัวว่ายังครอบครองที่ดินที่เป็นทั้งรีสอร์ทหลักสิบ หลักร้อยล้านแทบทั้งนั้น

เห็นแนวโน้มที่คณะทำงานส่งมอบคืนพื้นที่เขาค้อ จะดำเนินการตามแผนการให้เสร็จในปี 2564 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าริบหรี่ เพราะหลังจากพิสูจน์สิทธิแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาล ที่ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 พันคดีสำหรับข้อมูลเบื้องต้นของการเปลี่ยนมือที่ดิน และที่เป็นคดีแล้วและหลุดรอดจะทำอย่างไรต่อ?

ผมดูข่าวชาวบ้านเขาค้อที่ไม่มีที่ทำกินแล้วเช่าที่นายทุนซึ่งอยู่ในข่ายที่เขาจะได้รับการจัดสรรที่ทำกินหลังจากยึดที่ดินคืนจากนายทุนตามโครงการนี้ ถามแบบซื่อๆ แบบชาวบ้าน กับหัวหน้าหน่วยหยัคฆ์ไพร ชีวะภาพ ชีวะธรรม

“เขาจะมาไม่ยิงเราเหรอ”

 “ ถ้าจะยิงก็ยิงหัวหน้านี่ เป็นคนจัดการ”

ชาวบ้านก็ยังทำหน้ากังวล ถามต่อ

“แต่เขาบอกเขามีเอกสารนะ “

“มันเป็นที่หลวง…ถ้าได้ไปแล้วต้องไม่ขายต่อ ถ้าไม่เป็นตามนี้ก็ขอยึดคืน”

ชาวบ้านที่จะได้สิทธิรับแจกที่ดินฟรีที่ยึดจากนายทุนหน้าตาก็ยังไม่คลายจากแววกังวล.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์