ตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นไป คนกทม.ต้องจ่ายค่าขยะ จากเดิมปีละ 240 บาท เป็นปีละ 960 บาท แต่ก็ยังขาดทุนในระบบการจัดการขยะปีละกว่า 4,700 ล้านบาท
ตอนเช้ามีเจ้าหน้าที่กทม.เขตบางนา ในเครื่องแบบ 2 คนเดินเข้ามาในหมู่บ้านตระเวนเก็บค่าขยะ ผมก็นั่งสังเกตว่าการเก็บค่าขยะในเขตเมือง ทั้งในกทม.กับต่างจังหวัดแตกต่างกันหรือไม่ ข้อสรุปที่เห็นวันนี้ ก็ชัดว่า คนเมืองในตจว.กับในกทม.เรื่องจ่ายค่าขยะไม่ต่างกัน ยังมีประเภท “มี ไม่หนี ไม่จ่าย”
บ้านหรู ๆ รถจอดในบ้าน พนักงานกดกริ่ง ร้องตะโกน “เก็บค่าขยะรายปีครับ” ไม่รู้กี่รอบ แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากที่เรียก เจ้าหน้าที่ที่ออกแรงพยายามเพื่อขอเก็บค่าขยะหลายรอบ สุดท้ายก็ต้องพ่ายพร้อมกับสีหน้าเซ็ง ๆ
ข่าวน่าสนใจ:
- แม่ทัพภาคที่ 2 - ผู้ว่าฯสกลนคร แถลงผลปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด "สกลนครโมเดล"
- วอนผู้ใจบุญช่วยหนูน้อยวัย 10 เดือน ไม่มีอวัยวะเพศ ต้องเจาะท้องขับถ่าย
- "นครพนมเข้ม! จับเครือข่ายยาเสพติด 352 คน ยึดทรัพย์กว่า 10 ล้านบาท เดินหน้าป้องกันปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน"
- พะเยา ฮือฮา!ท้าพิสูจน์หมอเทวดารักษาคนมีอาการ 108 ในตัว ด้วยไม้ตะเกียบลงอาคม
เจอทุกรูปแบบครับ แม้กระทั่งในบ้านจัดสรรที่บวกรวมเก็บขยะในค่าสาธารณูปโภคที่รวมทั้งค่า รปภ.ค่าคนกวาดถนน ค่าแสงไฟส่องสว่าง ตัดกิ่งไม้ ฯลฯ คนที่ไม่ยอมจ่ายก็คนเดิมๆ และมักจะมีเหตุผลจิปาถะที่ไม่จ่าย จนคนเก็บเงินเอือมระอา
ปีนี้กทม.ยังเก็บค่าขยะอัตราเดิมเก็บรายปี 240 บาท คิดเป็นเดือนตกเดือนละ 20 บาท คิดเป็นวัน ก็ 66 สตางค์
แต่ปีหน้าที่จะเริ่ม นับ 1 ต.ค.2562 คนกทม.จะต้องจ่ายค่าขยะปีละ 960 บาท คิดเป็นเดือนละ 80 บาท วันละ 2.6 บาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มจากเดิม ถึง 400 เปอร์เซนต์
14 พ.ค. 2562 สภากทม.ได้ผ่านข้อบัญญัติ เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อปรับอัตราค่าจัดเก็บขยะอัตราใหม่ หลังจากที่เก็บอัตราเดิมมาตั้งแต่ปี 2548 และจะมี ผล 1 ต.ค.2562
ตามอัตราใหม่ ดังนี้
1. กรณีที่มีวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร ค่าเก็บขน 40 บาท/เดือน (เดิม 20 บาท/เดือน) เพิ่ม ค่ากำจัด 40 บาท/เดือน รวมเป็น 80 บาทต่อเดือน
2. กรณีที่วันหนึ่งเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 500 ลิตร (คิดเป็นหน่วยทุกๆ 20 ลิตร) เช่น มีปริมาณมูลฝอย 40 ลิตร/วัน จะคิดเป็น 2 หน่วย ค่าเก็บขน หน่วยละ 65 บาท(เดิมหน่วยละ 40 บาท) และค่ากำจัดหน่วยละ 70 บาท เท่ากับเริ่มที่ 135 บาท/เดือน
3. กรณีวันหนึ่งเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ค่าเก็บขน 2,450บาท/เดือน (เดิม 2,000 บาท/เดือน) และค่ากำจัด 2,650บาท/เดือน เท่ากับเริ่มที่ 5,100 บาท/เดือน
4. กรณีวันหนึ่งเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร (คิดเป็นหน่วยทุกๆ 1 ลูกบาศก์เมตร) ค่าเก็บขนหน่วยละ 3,250 บาท (เดิมหน่วยละ 2,000 บาท ) และค่ากำจัดหน่วยละ 3,500 บาท เท่ากับเริ่มที่ 6,750 บาท/เดือน
ในข้อ 1 เป็นที่เข้าใจว่าเหมารวมบ้านพักอาศัยทั่วไป ที่คิดคำนวณจากมาตรฐานการทิ้งขยะคนละ 1 ลิตร หรือ 1 ก,ก.ต่อคน เฉลี่ยบ้านละ 4 คน ส่วนข้อ 2,3,4 จะเป็นสถานประกอบการ
อัตราค่าเก็บขยะ เป็นปัญหาการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นพยายามเลี่ยงที่จะไม่ให้ปรับค่าเก็บขยะเพิ่มเพราะกลัวเกิดการกระทบกับมวลชน ฐานคะแนนเสียง ซึ่งทุกคนก็คือคนสร้างขยะ คนเข้าใจระบบก็ก้มหน้าก้มตาจ่าย เพราะรู้ว่าค่าขยะไม่ใช่เพียงแค่รถวิ่งมาเก็บขยะหน้าบ้านเท่านั้น มันรวมทั้งองคาพยพ 3 ส่วน ทั้งค่าเก็บขยะ ค่าบำบัด และยังมีค่าบำบัดน้ำเสียจากขยะ เฉพาะต้นทุนคิดตามครัวเรือน ตกเดือนละ 226 บาท แต่ที่กทม.จัดเก็บในอัตรานี้ 14 ปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 20 บาทต่อเดือน กทม.ต้องแบกรับภาระส่วนเกินเดือนละ 206 บาท
กทม.มีบ้านเรือนประมาณ 2.1 ล้านหลังคาเรือน แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 1.9 ล้านหลังคาเรือน อีก 2 แสนหลังคาเรือนสามารถเก็บได้ด้วยปัญหาสารพัด ซึ่งการเบี้ยวค่าขยะบทลงโทษไม่เป็นคดีอาญาไม่เหมือนถูกตัดน้ำ ตัดไฟ คนไม่จ่ายก็เฉย ๆ
เก็บปีละ 240 บาททำให้กทม.มีรายได้จากการเก็บขยะปีละ 495ล้านบาท ขณะที่ต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะ 6,568 ล้านบาท นั่นแปลว่าหมายความว่า กทม.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี
ปรับค่าเก็บขยะจากปีละ 240 บาท เป็นปีละ 960 บาท หรือเดือนละ 80 บาท ถ้าคนที่เคยจ่าย 1.9 ล้านราย ยังแน่นเหนียว ยอมจ่ายตามอัตราใหม่ กทม.ก็จะมีรายได้เพิ่ม เป็นปีละ1,800 ล้าน แต่ทั้งระบบการบำบัดขยะของกทม.ตกปีละ 6,568 ล้านบาท กทม.ก็ยังต้องแบกภาระปีละกว่า 4,700 ล้านบาทอยู่ดี
เรื่องขยะง่าย ๆ คือคนไม่สร้างขยะ ถ้าคิดแบบสมองสี่เหลี่ยม ตามอัตราขั้นต่ำต่อครัวเรือนสร้างขยะวันละ 20 ลิตร ก็ต้องมานั่งนับตัวเลขคนจ่าย ซึ่งความจริงมันก็ไม่แฟร์ ถ้าจะให้แฟร์ก็ต้องมีอุปกรณ์ชั่งวัดแจกตามครัวเรือน นั่นก็ทำได้ แต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
หลักการง่าย ๆ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเพราะคนในชุมชนจะรู้ว่าใครมีขยะเยอะ ขยะน้อย ใครจัดการตัวเองโดยไม่มีขยะให้เป็นภาระสังคม รวมทั้งใครเบี้ยวจ่ายค่าขยะ เขาก็จะตามกันเอง
มีตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเยอะครับ ที่ให้ชุมชนเก็บค่าขยะรายเดือนเอง ไม่ใช่อย่างกทม.ทำ ที่ให้เจ้าหน้าที่มาเก็บรายปีที่มันดูเป็นเงินก้อน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: