โฉนดที่ดินเบื้องต้น 16 แปลงที่ตรวจสอบพบว่าเป็นการออกโฉนดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ในพื้นที่ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นเรื่องใหญ่ เพราะยิ่งตรวจยิ่งพบความผิดปกติ ยิ่งยื้อนานหลักฐานยิ่งโผล่
ทั้งปัญหาการออกโฉนดทับที่ชาวบ้าน ออกโฉนดทับที่สาธารณะ รวมทั้งโฉนดที่ออกลงระวางไม่ได้ จำนวนที่ดินตามโฉนดไม่ตรงกับที่มีอยู่จริง ชาวบ้านที่นั่นต้องการให้ ”ยกเลิกโฉนดที่ออกไม่ถูกต้อง” แต่ทางราชการ โดยนายอำเภอท่าอุเทน ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ พยายามที่จะหาทางออกโดยการ “ยกเลิกบางส่วน” คือโฉนดแปลงไหนที่มีปัญหาทับที่ทำกินชาวบ้าน หรือที่สาธารณะ ก็ยกเลิกเฉพาะส่วนที่เกินออกไปจากความเป็นจริง
ดูแล้ววิธีการแบบที่นายอำเภอนำเสนอ “มันสุ่มเสี่ยง” แม้จะหาทางออกโดยการเสนอให้ใช้ ม.61 ตามกฎหมายที่ดิน ก็เถอะเพราะมันเป็นการ “ออกโฉนดผิดพลาดคราดเคลื่อน” มาแต่แรก
ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะและการออกโฉนดโดยมิชอบ ในย่านนี้ถือเป็นมหากาพย์ที่คนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปคงได้รับรู้รับทราบมาพอสมควร โดยเฉพาะปัญหาการฟอกโฉนดที่ดินค้ำเงินกู้บีบีซีอันฉาวโฉ่ ที่มีนักการเมืองระดับบิ๊ก ๆ จำนวนไม่น้อยพัวพัน
ช่วงที่ดินบูม สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ดินบริเวณบ้านห้วยพระ หมู่ 9 และ หมู่ 14 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าอุเทน ประมาณ 7 กม.ไปทางบ้านแพง ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกกลุ่มนายหน้าเล็งเป้ากว้านที่ดินเพื่อขายให้นายทุน ที่นำโฉนดไปใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบ
ที่ดินบริเวณนี้เป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีเนินป่า มีลำห้วยสาขาแม่น้ำโขงหลายสาย ไหลวนคดเคี้ยว มีป่าบุ่ง ป่าทาม ชาวบ้านที่อาศัยย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นไทโซ่ ก็อาศัยทำกินมาหลายชั่วอายุคน แต่บริเวณที่มีปัญหาชาวบ้านนั่นเขาเข้าใจโดยธรรมชาติว่ามันเป็น “ที่สาธารณะ” โดยธรรมชาติ แม้ทางราชการจะไม่ประกาศเป็นที่นสล.ก็ตาม
ที่ดินย่านนี้เปิดให้ชาวบ้านเข้าจับจองทำกิน ประมาณปี 2519 และได้ใบจองเป็น นส.2 คนละประมาณ 15 ไร่ ประมาณปี 2532-2533 บรรดานายหน้าก็เข้าพื้นที่กว้านซื้อใบจอง ในราคาใบละ 200-300 บาท บางคนก็ขายเพราะไม่ใช่พื้นที่ทำกินหลัก แต่บางคนก็ไม่ขาย
พอนายหน้าได้ใบจองก็เข้าสู่กระบวนการออก นส.3 จาก นส.2 เนื้อที่ 15 ไร่ก็บวมใน นส.3 เป็น 30 – 40 ไร่ พอครบ 10 ปี ออกโฉนด จาก นส.3 เนื้อที่ 30-40 ไร่ ก็บวมเพิ่มในโฉนด เป็น 50 ไร่ ที่ความมันแตกเพราะไม่มีที่ดินจริง โฉนดไม่สามารถลงระวางได้ หรือโฉนดบางแปลงที่ลงระวางไม่ได้ก็เอาไปสวมระวางโฉนดแปลงอื่น
นายทุนที่ซื้อเห็นโฉนดก็ซื้อ โดยไม่สำรวจตรวจสอบว่าที่ดินจริงมีเท่าไหร่ เพราะที่ดินยังเป็นป่า พอเข้าครอบครองก็อ้างสิทธิตามโฉนด ที่ดินจริงมี 15 ไร่ แต่ในโฉนดมี 50 ไร่ใกล้เคียงบริเวณไหนก็รุกเข้าไปให้ครบตามจำนวน แม้จะรุกเข้าไปในลำห้วย ป่าบุ่ง ป่าทาม หนองน้ำ หรือที่ทำกินชาวบ้าน ก็ทึกทักอ้างสิทธิตามโฉนดที่ถืออยู่
ชาวบ้านที่นี่สู้ตามลำพังมาหลายปี ถึงขั้นฟ้องศาลแต่ก็แพ้ เพราะความเป็นโฉนดย่อมเหนือกว่าใบจอง นส.2 แม้เจ้าของโฉนดที่ชนะคดีจะมีโฉนดที่ไม่มีสารบบการออกโฉนดก็ตาม
การออกโฉนดย่านนี้ที่ผิดปกติมีประมาณ 3,000-4,000 ไร่ แต่ที่ตรวจพบแล้ว มีประมาณ 400 ไร่ ในโฉนด 16 แปลง ที่บังเอิญไปออกโฉนดทับที่ชาวบ้าน และยังพบว่าในจำนวนนี้ มีโฉนด 14 แปลงที่เป็นการออกโฉนดผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่นในโฉนดมีเนื้อที่ดิน 50 ไร่ แต่ที่ดินจริงมี 15 ไร่ บางรายครอบครองโฉนด 3 แปลง ๆ ละ 50 ไร่ แต่มีที่ดินจริง 50 ไร่ อีก 2 แปลง เป็นโฉนดลม
ชาวบ้านที่นี่หลายคนถูกนายทุนฟ้องขับไล่ และได้ร้องเรียนมานาน ผู้ว่าฯ นครพนมสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบจนพบความผิดปกติและจังหวัดได้เสนอให้อธิบดีกรมที่ดินยกเลิกโฉนดที่มีปัญหา…แต่ก็เงียบ และกรมที่ดินก็ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอีกรอบในปี 2557 และก็พบในสิ่งที่กรรมการระดับจังหวัดพบ แต่ก็ไม่มีการยกเลิกโฉนดที่มีปัญหาอยู่ดี
การยกเลิกโฉนดเป็นเรื่องใหญ่ ซวยอันดับแรกคือเจ้าหน้าที่ที่ดิน ไหนจะโดนนายทุนเจ้าของที่ดินฟ้อง ไหนจะโดน ม.157 และอาจลามไปหลายทอด โยงใยไปหลายระดับ เพราะเรื่องแบบนี้มันทำคนเดียวไม่ได้
ทางออกก็คือพยายามเฉือนยกเลิกบางส่วนในโฉนดแต่ละแปลง ถ้าตรวจพบว่าแปลงไหนรุกที่สาธารณะ หรือทับที่ชาวบ้านก็ยกเลิกเฉพาะส่วนที่มีปัญหา แต่วิธีการนี้ไม่รู้จะไปรอดหรือเปล่า เพราะข้อเท็จจริงคือออกโฉนดผิดแต่ต้น
เหมือนแม่ค้าจับได้ว่าคุณใช้แบ้งค์ 500 เก๊มาซื้อของ แล้วต่อรองว่าถ้างั้นก็ตีราคาเป็นแค่ 300 ก็พอ มันน่าจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: