วงการรถแห่กระเทือน หลังตำรวจบุรีรัมย์นำร่อง ประกาศอย่างเป็นทางการ ให้ดำเนินการตรวจสอบรถแห่ที่มีการดัดแปลงสภาพรถตามที่ขอจดทะเบียน และให้ตรวจสอบรถแห่ที่มาแสดงมหรสพในพื้นที่ว่าขออนุญาตถูกต้องหรือไม่
แต่เป้าใหญ่จริง ๆ ของมาตรการนี้ เพื่อตัดปัญหาวัยรุ่นทะเลาะกันในงานต่าง ๆ จนตำรวจไม่ไหวจะเคลียร์
ในคำสั่งของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ย่อมชัดเจนว่ารถแห่ ที่กำลังบูมสุด ๆ ในพื้นที่ภาคอีสานหากตรวจสอบแค่ 2 ข้อตามที่ระบุ อย่างน้อยประเด็น “รถดัดแปลง” ผิดเต็ม ๆ แน่นอน
บางคนบอกว่ามาตรการนี้จะทำให้ถึงจุด “อวสานรถแห่” แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะรถแห่ทุกวันนี้เป็นธุรกิจหลักพันล้านกระจายตัวไปทั่วแล้ว
“รถแห่” ที่ว่า ไม่ใช่รถยนต์ทั่วไป ทั้งรถเข็น รถกระบะ รถ 6 ล้อ ที่มาติดเครื่องเสียงแล้วให้บริการเพื่อนำขบวนแห่นาค แห่งานบุญประเพณี หรือรับจ้างนักการเมืองใช้เป็นเวทีหาเสียง แต่มันเป็นรถที่ดัดแปลง แต่งเติมในรถคันเดียวให้เป็นเวทีคอนเสิร์ตเคลื่อนที่ ทั้งให้บริการแห่ หรือเปิดคอนเสิร์ตแสดงสดในพื้นที่จำกัดสามารถจัดการได้หมดในรถคันเดียว
หากเสิร์ชเข้าดูในออนไลน์ จะพบว่ามีผู้ให้บริการรถแห่เยอะมาก และกำลังเป็นธุรกิจที่กำลังแข่งกันโต แข่งกันทั้งรูปแบบการต่อเติมตัวรถ อุปกรณ์ภายใน รวมทั้งจุดขายลูกเล่นบนรถแห่ที่มีดนตรีเต็มวง นักร้องครบ ความนิยมในวงการรถแห่รถแห่มีองค์ประกอบหลักคือ นักร้อง นักดนตรี เครื่องเสียง
ใครจะเชื่อว่าศิลปินประจำรถแห่ ที่ตอนนี้ได้ฉายา “ราชารถแห่” อย่าง “ออย แสงศิลป์” เด็กหนุ่มจากวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่เริ่มร้องเพลงตั้งแต่อายุ 17 ปีในคณะหมอลำ ช่วงหลังปักหลักในสังกัดทีมรถแห่ทัศน์เจริญซาวนด์ อ.ยางชุมชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ที่โด่งดังในวงการอินดี้ แค่เพลง “ภาวะแทรกซ้อน”เพลงเดียว ยอดวิวในยูทูปเฉียด 300 ล้าน และเพลงใหม่ “ขีดอันตราย” กระแสตอบรับในวงการรถแห่ หรือคอเพลงอินดี้ก็มาแรงไม่แพ้กัน
หรืออย่าง “ใบปอ รัตติยา” ที่ได้ฉายา “เจ้าแม่รถแห่” สังกัดรถแห่ออดิโอ มหาสารคาม ที่เขาเคยโลดแล่นอยู่ในเวทีหมอลำซิ่งมานับสิบปี พอเปลี่ยนแนวมาเป็นนักร้องประจำรถแห่ จากค่าตัว 2,000 บาท ตอนนี้ขยับเป็น 30,000 บาท มากว่านั้นเธอยังมีคิวร้องเพลงที่ต่างประเทศไม่น้อย
ตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจรถแห่ที่ทำให้หลายคนเริ่มหันมาจับธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราว วงการรถแห่ที่ความจริงก็คือเวทีคอนเสิร์ตเคลื่อนที่ ประเมินว่าขณะนี้ มีประมาณ 2,000 คัน ตระเวนรับงานเฉพาะแห่ในเวลาจำกัด ต่องานตั้งแต่ระดับ 15,000 บาท -20,000 บาท ต่อ 3 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นรถแห่ที่มีศิลปินดังประจำ ราคาจะอัพเป็น 30,000 บาท ราคานี้เป็นราคาพื้นฐาน แต่หากเจ้าภาพติดใจ ขอแถมก็นับรายชั่วโมง
การสู้กันในธุรกิจรถแห่ส่งผลให้ธุรกิจอู่ต่อรถโตตามเงา จากรถแห่ที่ใช้รถ 6 ล้อ มาต่อเติม ดัดแปลง เริ่มที่ประมาณ 1 ล้านกว่า ล่าสุดที่ชัยภูมิ รถแห่บางคัน รวมราคากว่า 3 ล้านบาท
องค์ประกอบในรถแห่แต่ละคันประกอบด้วย
1.รถบรรทุก ที่นิยมใช้เป็นรถขนาด 6 ล้อขึ้นไป ทำการดัดแปลงติดเครื่องเสียงแบบเวทีคอนเสิร์ต เครื่องดนตรี แสง สี เสียง รอบคัน พร้อมเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดใหญ่ติดตั้งในตัวรถ เพื่อสะดวกในการเปิดการแสดงแบบไม่จำกัดสถานที่
2.นักร้อง และนักดนตรีประจำรถแห่ ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่ขาดไม่ได้ สามารถร้องพลงได้หลากหลายเพลงหลายสไตล์ นอกจากนี้ยังทีมประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งไลฟ์สดในช่วงแสดง และเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น
ความนิยมรถแห่สะท้อนชัดคือจำนวนรถแห่ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น และแข่งขันกันสูง บางบริการรถแห่ที่ดัง ๆ ต้องจองคิวข้ามเดือนเลยทีเดียว
รถแห่ที่เริ่มมีปัญหาก็มาจากการงัดกลยุทธ์สู้กันในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเพลงที่นำมาร้องที่เน้นสนองเร้าใจอารมณ์วัยรุ่นที่ปกติเวลาเดินในขบวนแห่จะคึกอยู่แล้ว และลีลาการร้อง อย่างเพลง “งัด ถั่ง งัด” ของเต้ย อธิบดินทร์ หรือ “เต่างอย” ของจินตหรา พูนลาภ ที่ดูเหมือนว่าทุกคณะทุกบริการรถแห่ต้องร้อง
ร้อง Cover ต้นฉบับนี่ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ลีลาศิลปินนักร้องรถแห่นี่จะต่างกับนักร้องเวทีคอนเสิร์ต ทั่วไป มักจะเน้นท่อนฮุค ที่แปลงจากต้นฉบับแบบสองแง่สองง่าม เขย่าลีลาบรรดาวัยรุ่น แม้กระทั่งเด็กตัวเล็ก ๆ ที่เดินตามขบวนแห่ต่างดิ้นข้างรถแห่ยังกับหน้าเวทีคอนเสิร์ต
บางคนก็บอกว่า รถแห่เป็นตัวกระจาย “วัฒนธรรมสะเดิดดิ้น”กลางท้องถนน พอดิ้นชนิด “เด้งกลางอากาศ”แบบเต็มที่ บางทีในงานรื่นเริงก็มีคนเมา หรือวัยรุ่นโชว์ลีลาขัดใจกัน มักเกิดปัญหาทะเลาะวิวาทที่มีอยู่บ่อยครั้ง
จนเป็นเหตุผลที่ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดบุรีรัมย์งัดมาตรการคุมเข้มรถแห่ ที่เมื่อไม่สามารถจะไปจัดการในมุมของการแสดงที่เร่งเร้าการสะเดิดดิ้น หรือเด้งกลางอากาศบนท้องถนน หรือแม้กระทั่งในลานวัดก็งัดกฎหมายที่มีอยู่จัดการเป็นเบื้องต้น
หากแต่ละจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีรถแห่ประมาณ 2 พันคัน ลงทุนรวมอย่างต่ำ 4 พันล้าน เข้มงวดแบบบุรีรัมย์นี่กระเทือนไม่น้อย
ปัญหาคือ “ความพอดี” หากปล่อยปละละเลย แบบเสรีอย่างที่ผ่านมาก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะรถแห่แต่ละคันไม่ใช่จะรับงานเฉพาะในพื้นที่ มีรับงานข้ามจังหวัด ข้ามภาค หรือแม้กระทั่งช่วง”ปิดวง” หน้าฝน ที่พอไม่มีงานจ้างในพื้นที่ก็ รถแห่ดัง ๆ เริ่มไปเปิดวิกแถวชานกรุงเทพฯ เก็บเงิน 150 บาท คนดูเป็นหมื่น บางงานรถแห่ประชันกันเป็น 40-50 คัน ก็มี
โจทย์ใหญ่คือการแก้ปัญหาวัยรุ่นทะเลาะกันบ่อยกับเวทีรถแห่ที่เน้นเพลงแนวสะเดิดดิ้น และความปลอดภัยของตัวรถที่ต้องวิ่งตามถนนสาธารณะเหมือนรถทั่วไป
หาจุดพอดีให้ได้ก็น่าจะจบ หากลามไปจังหวัดอื่น ๆ และเข้มงวดกับรถแห่ จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งจนอาจมี ม้อบรถแห่ นี่ถือว่างานใหญ่มาก ที่สำคัญยุคที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองในแต่ละพื้นที่ก็ล้วนแต่มีเครือข่ายรถแห่ ที่อยู่กันแบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าทั้งนั้น
ปล่อยไว้นานเดี๋ยวจะแก้ยาก เหมือนปัญหารถตู้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: