20 ต.ค.2562 เกษตรกรคนใดที่ไม่ขึ้นทะเบียนในการใช้สารพาราควอต หรือสารเคมีในการปราบวัชพืชจะมีความผิด
และในวันที่ 25 มิ.ย.2562 ก็เป็นส้นตาย 60 วัน ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเงื่อนไขกับคณะกรรมการควบคุมวัตถุอันตราย เมื่อ 25 เม.ย.2562 ให้ทบทวนการยกเลิกการใช้สารพาราควอต
เมื่อ 14 ก.พ.2562 คณะกรรมการควบคุมวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีในการกำจัดศรัตรูพืช 3 ชนิด ทั้งพาราควอต อาตราซีน และไกลโฟเซต ตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังการประชุมร่วม 5 กระทรวงฯเห็นชอบให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้สารเคมีในการกำจัดศรัตรูพืชทั้ง 3 ตัว โดยตั้งเป้ากำหนดเวลาในการเลิกใช้ทั้งหมด1 ม.ค.2563
แต่อำนาจการยกเลิกอยู่คณะกรรมการควบคุมวัตถุอันตราย 26 คน ที่ตามโครงสร้างมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการฯ แต่มอบอำนาจให้ รองปลัดกระทรวงฯ นายอภิจิณ โชติกเสถียร เป็นประธาน
ข่าวน่าสนใจ:
คณะกรรมการควบคุมวัตถุอันตรายให้เหตุผลที่ยังไม่สั่งยกเลิกสารเคมีในการกำจัดศรัตรูพืช ที่ 53 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิก และหลายประเทศเริ่มทยอยยกเลิก ตามคำแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้เหตุผลว่าก่อนจะถึงวันที่ 1 ม.ค.2563 ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการวางมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีที่ถูกต้องปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อเกษตรกร ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
มติของกรรมการควบคุมวัตถุอันตราย จึงเป็นที่คลางแคลงใจว่าหากตั้งเป้า ประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้สารเคมีฆ่าหญ้า ใน 1 ม.ค.2563 ทำไมมติจึงออกมาแบบ “ให้โอกาส”
25 เม.ย.2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เชิญประธานกรรมการควบคุมวัตถุอันตรายไปหารือ และนำสู่การวางเงื่อนเวลาว่า ใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการแบนสารเคมีฆ่าหญ้า จะนำเรื่องนี้เสนอต่อครม.และอาจจะต้องยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบว่าการยื้อไม่แบนมีอะไร”ลึกลับ”หรือไม่
ว่าเฉพาะสารเคมีในการกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้า หลัก ๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรามี 2 ตัว คือสารพาราควอต กับไกลโฟเซท ,พาราควอต มีชื่อทางการค้าคือ “กรัมม็อกโซน” ส่วน ไกลโฟเซต มีชื่อทางการค้าคือ “ราวน์อัพ” ที่เข้มข้นฆ่าหญ้าฉับไว เป็นสารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ในการปราบวัชพืชในไร่ นา ประสิทธิภาพเป็นสารเผาไหม้ ออกฤทธิ์เร็วทำให้วัชพืชเหี่ยวแห้งและตายในเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
ความนิยมในการใช้สารเคมีฆ่าหญ้า ที่ไม่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น กรมทางหลวง การรถไฟฯ แม้กระทั่งหน่วยงานต่าง ๆ ก็มักใช้สารพวกนี้กำจัดวัชพืชข้างทาง แม้กระทั่งในกทม. ที่เเห็นเจ้าหน้าที่กทม.คลุมไอ้โม่งถือขวดฉีดน้ำพ่นใส่หญ้าตามสวนหย่อม หรือข้างถนน หรือผู้รับเหมาถมที่ต้องการปราบบรรดาวัชพืช เช่นพวกต้นธูปฤาษี ที่บางวันมีกลิ่นเหม็นโชยมาจนปวดหัวโดยไม่ทราบสาเหตุก็มาจากการใช้ยาฆ่าหญ้านี่เอง
การยกเลิก หรือใช้ต่อก็ยังเป็นประเด็นถกเถียง มีเหตุผลในการคัดง้างกันทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการยกเลิก ก็มุ่งเรื่องสุขภาพของคน ทั้งผู้ใช้ และผู้บริโภค รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อมที่ต้องไม่ถูกทำลายด้วยสารเคมี
ผลกระทบจากยาฆ่าหญ้าที่เป็นสารดูดซึมตกค้าง จากงานวิจัย จะมีปัญหาการเจ็บป่วยต่อระบบทางเดินหายใจ หญิงตั้งครรภ์ได้รับสารเคมีและถ่ายทอดผ่านรกจากแม่สู่ลูก ส่งผลต่อภาวะหายใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว และไตวาย และมีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน ระบบประสาท และมีความสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า โรคเนื้อเยื่ออักเสบ
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก เหตุผลหลัก ๆ คือหากเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนกับเกษตรกรในการกำจัดวัชพืช เพราะยังไม่มีอะไรมาทดแทน ถ้าเทียบความสูญเสียเป็นตัวเลข เฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน ที่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมปีละประมาณ 442,600 ล้านบาท ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้น 39,794 ล้านบาท/ปี หรือ ผลผลิตลดลงรวมมูลค่า 112,435 ล้านบาท/ปี
เมื่อเห็นตัวเลขแล้วก็ยากที่จะตัดสินใจว่าจะยกเลิกการใช้ยาฆ่าหญ้าได้ง่าย ๆ เพราะที่กระทบโดยตรงคือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรป้อนโรงงาน แต่หากดูต้นทุนสำหรับเกษตรผู้ที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีที่ต้นทางแล้ว เขาต้องจ่ายเพื่อซื้อยาฆ่าหญ้าต่อปีเป็นเงินมหาศาล
ปี 2560 ปี ประเทศไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,510 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในการนำเข้าสารอันตาย รองลงมาเป็นสาร ไกลโฟเซต ที่นำเข้า 59,852 ตัน มูลค่า 3,283 ล้านบาท รวม 7,099 ล้านบาท นี่เป็นตัวเลขการนำเข้ายังไม่รวมที่ต้องมาบวกเพิ่มการจัดจำหน่ายในท้องตลาด
เป้าประเทศไทยต้องงดใช้ยาฆ่าหญ้า 1 ม.ค.2563 หากดูตามไทม์ไลน์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดำเนินการในขณะนี้จะเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะยกเลิกได้ ตรงกันข้ามกลับเหมือนเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย และถือเป็นเรื่องถูกต้องเสียด้วยซ้ำ ภายใต้เหตุผลที่ว่า หากใช้ให้ถูกวิธีก็ไม่เป็นอันตราย
กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ใช้ยาฆ่าหญ้าต้องขึ้นทะเบียน และต้องผ่านการอบรมการใช้ให้ถูกวิธี กำหนดห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าในบางพื้นที่ เช่นในเขตต้นน้ำ ในที่สาธารณะ แต่อนุญาตให้กรมทางหลวง การรถไฟฯ ใช้ฉีดพ่นวัชพืชข้างทางได้
20 ต.ค.2562 นี้หากใครใช้ยาฆ่าหญ้าที่ไม่ลงทะเบียนจะมีความผิดตามประกาศที่หากพิจารณาผิวเผินแล้วก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมกลับกันก็มองได้ว่าไม่ต่างกับการโปรโมทให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องเปิดเผย เกษตรกรนับล้านคนที่ลงทะเบียนเข้าอบรมก็ล้วนเป็นงบฯรัฐที่ต้องจ่าย
กรมทางหลวง การรถไฟฯที่เคยใช้ยาฆ่าหญ้าแบบหลบ ๆ ซ่อนๆ ตอนนี้ก็ใช้กันอย่างเปิดเผยโดยถูกระเบียบ และก็จะเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านเข้าใจแบบง่ายๆ ว่ามันไม่อันตรายเพราะหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจมีการใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างเอิกเกริก
สิ่งที่ต้องให้การคุ้มครองควบคู่กันนอกจาก “ผู้ใช้”แล้ว ต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เขาอาจไม่รู้หน้าตาของพาราควอต หรือไกลโฟเซต เป็นอย่างไรด้วยซ้ำ แต่สารพวกนี้เป็นสารดูดซึม ตกค้าง กินผัก ผลไม้ หรือขับรถสูดกลิ่นทุกวันก็สะสมไปโดยไม่รู้ตัว
มาตรการควบคุมการใช้ให้ถูกวิธีของกระทรวงเกษตรฯ ในอีกมุมไม่ต่างกับการช่วยทำการตลาดให้กับธุรกิจยาฆ่าหญ้าโดยปริยาย และเป้าหมายการยกเลิกใช้สารเคมีฆ่าหญ้าในประเทศไทย ใน 1 ม.ค.2563 จึงเป็นไปได้ยาก เพราะมาตรการที่กำลังทำอยู่ไม่ต่างกับการดึงสิ่งที่อยู่ใต้ดินให้มาอยู่บนดินอย่างเปิดเผย
ยกเว้นต้องพึ่งอำนาจรัฐที่มองปัญหาโดยองค์รวมทั้งด้านสุขภาพ อนามัย สิ่งแวดล้อม โดยไม่มี “ตัวเลข” เป็นม่านบังตา.
ภาพ : ชวโรจน์ วิรโชติชูวิทย์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: