ช่วงทิ้งท้ายรัฐบาล คสช.ทั้งกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือเวียนถึงหน่วยงานในสังกัดให้พล่าน หลัง ป.ป.ช.ตรวจสอบพบการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนที่โคราช
งบฯ อาหารกลางวันเด็กที่กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานสปอนเซอร์หลัก สนับสนุนงบฯ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ (อปท.) ปีละ 22,900 กว่าล้านบาท ในอัตรามื้อละ 20 บาทต่อคน ใน 200 วันต่อปี กับโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 29,000 โรง ที่มักจะมีข่าวการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ มาต่อเนื่อง
คนจะโกงก็ยังโกง แม้จะมีตัวอย่างศาลตัดสินจำคุก 70 ปี อดีตผอ.โรงเรียน ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่จับได้ว่าโกงเงินค่าอาหารกลางวันเด็กก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่คิดจะโกงเกรงกลัวอะไรเลย
“การโกงมันกลายเป็นวัฒนธรรม สังคมไทยมีแนวโน้มที่ข้าราชการถ้ามีโอกาสจะทุจริตหมด”
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ของภาคการศึกษากรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใน จ.กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น และมหาสารคาม” ได้สรุปไว้ในงานวิจัยความหนา กว่า 270 หน้า ที่เพิ่งนำเสนองานวิจัยต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา
ถกลึก ๆ กับคนทำวิจัยทำให้เห็นกลโกงของคนในวงการการศึกษาที่มากกว่าเรื่องเล่า ที่ส่วนใหญ่คนภายนอกแค่สรุปว่าถ้าผู้บริหารคนไหนที่มีบ้านหลังใหญ่ๆ นั่งรถหรู ๆ นั่นแหละเขาได้เงินมาจากการโกง
งบฯ อาหารกลางวัน ปีละ 2 หมื่นกว่าล้าน ที่มีการโกงกันแบบสารพัดโกง ตั้งแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มี “เจ้าประจำ” รับเหมาและจ่ายเปอร์เซ็นต์ ผอ. เป็นกอบเป็นกำแล้วมาลดปริมาณ คุณภาพอาหาร จนถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ ผอ.มีงบฯ น้อยก็หาวิธีการโกงเล็กโกงน้อยจนได้ ตั้งแต่ให้คนในครอบครัว หรือคนสนิทจัดการ มีงบฯ สัปดาห์ละ10,000 บาท ก็จ่ายไปจริง 5,000 บาท โกงกันแบบครึ่งต่อครึ่ง ผอ.บางคนก็เนียนหน่อย ลดค่าข้าวทำเฉพาะอาหารโดยให้นักเรียนห่อข้าวเปล่ามาเอง โกงแบบนี้ก็ทำ
2 หมื่นกว่าล้านบาท กับงบฯ อาหารกลางวันเด็ก เมื่อเทียบในงานวิจัยของ อ.พรอัมรินทร์ ที่ใช้เวลาลงเก็บข้อมูล 2 ปี (2560-2561) แล้วมันเป็นเพียง “โกงปลายแถว” เมื่อเทียบกับการโกงระดับนโยบาย หรือตามใบสั่ง
และข้อมูลการโกงในวงการการศึกษาที่น่ากลัวก็คือ “ข้าราชการระดับสูง” กลายเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ตัวจริงที่ทำให้เกิดการโกงฝังราก
งบฯ จัดซื้อจัดจ้าง ที่พบว่ามีการทุจริต หรือโกงไปอย่างน้อยที่ทอนให้กับเครือข่ายผู้มีอิทธิพล อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์จนกลายเป็นประเพณี ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง หรือรัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้ทำให้ท่อน้ำเลี้ยงนี้เหือดหาย
ตามเส้นทางรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง เครือข่ายจะทอดยาว เป็น 4 ประสาน เริ่มจากรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงฯ แล้วให้คนของตัวเองลงมากำกับระดับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สำนักงานเขต ก็กำกับผอ.โรงเรียน และมีพ่อค้า นักธุรกิจที่รับงานเป็นผู้จัดสรร เพื่อให้สมประโยชน์ของคนในเครือข่าย
พอรัฐบาล คสช.ที่วงจรสั้นขึ้น กลายเป็น “ข้าราชการระดับสูง”ในกระทรวงฯ เป็นผู้จัดแจงแทบทุกอย่างในช่องทางการโกงเดิม
ไม่ว่านักการเมืองจะมา หรือทหารจะมา ข้าราชการระดับสูงนี่แหละเป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง การผัน หรือซิกแซกงบฯ ชั้นเซียนเพื่อให้มี “งบฯเหลือจ่ายปลายปี” ถึงจะเป็นรูปแบบโบราณแต่ยังเป็นที่นิยมเพราะมันตบตาคนง่าย เมื่อจัดแจงกันงบฯไว้เสร็จ ก็หาโครงการมาละเลงล้างท่อ ด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบรวบรัด ยัดเยียดสถานศึกษาให้เซนต์รับ เช่นงบฯ จัดซื้อครุภัณฑ์ล่าสุด โรงเรียนละ 6 แสนบาท รวม 279 ล้านบาท ให้กับ 458 โรงเรียนในภาคอีสาน ก็มีที่มาที่ไปแบบรวบรัดล้างท่อ สตง.และ ป.ป.ช.ก็เล็ง ๆ ว่าที่ไหนจะบวม จนข้อมูลปูดออกมา
อีกอย่างที่น่ากลัวของการโกงในวงการการศึกษาคือ “เรื่องเงียบ” เพราะมีการกระบวนการที่ทำให้เงียบ ส่วนใหญ่ที่ตรวจสอบพบการทุจริต จะไม่ค่อยเป็นข่าว หรือเป็นคดีความขึ้นศาล หรือแม้แต่คดีขึ้นศาลก็มีกระบวนการทำให้เงียบ อย่างกรณีผู้ตรวจฯ พบการโกงที่ จ.กาฬสินธุ์ จนต้องจบที่ศาล และผอ.ต้องคืนเงิน 39 ล้านบาท โดยกระบวนการทำให้เรื่องเงียบเป็น “นิติกร” ที่คอยจัดการ
“ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระ หรือเคยบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจ มองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว”
เป็นบทสรุปจากงานวิจัย ของ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟังการนำเสนองานวิจัยถึงกับอึ้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: