X
นาแล้ง

ทำนาทุกปีมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีนี้มีแต่หนี้ไม่มีซัง

ปีนี้ฝนทิ้งช่วงเกิดภัยแล้งไปทั่วทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางส่วนแม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขอให้ชาวนาชะลอปลูกข้าวนาปีเลื่อนไปช่วงเดือนกันยายน ที่คาดว่าพายุจะเข้าอีกรอบแต่ก็ถือว่าสายไปแล้ว

ชาวนาที่นอกจากรอโชคชะตาจากฟ้าฝนด้วยความกระวนกระวายแล้วยังต้องห่อเหี่ยวใจกับ ”ความไม่รู้” ของหน่วยงานที่ต้องมาช่วยบริหารจัดการที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของข้าวนาปีที่ “แสง”และอุณหภูมิ เป็นตัวกำหนดเวลาออกรวง เก็บเกี่ยว ซึ่งไม่ว่าจะปลูกวัน เวลาไหนก็ตาม ภายในเดือนตุลาคมข้าวจะต้องออกรวง ในพฤศจิกายน- ธันวาคม ก็ต้องเก็บเกี่ยวแล้ว ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ที่ทำนาช้ากว่าภาคอื่นจากสภาพภูมิอากาศ

ต้องเตรียมใจว่าแล้งปีนี้จะเป็นปีที่หนักหน่วงรุนแรงสำหรับภาคการเกษตร ต่อเนื่องถึงภาคอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค  

ไม่เฉพาะชาวนาในพื้นที่เพาะปลูกข้าว 50 กว่าล้านไร่ ที่ตกอยู่ในสภาพ “รอโชคชะตา”  น้ำต้นทุนที่เหลือน้อยผลกระทบต่อเนื่องช่วงปลายปีจะเป็นชาวสวนที่ต้องใช้น้ำเพื่อเร่งผลผลิต คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ

รัฐบาลก็ได้แต่แสดงความห่วงใยเกษตรกร ส.ส.ที่อภิปรายในสภาก็ยังวนแต่เรื่องเดิม ๆ เน้น ๆ เรื่องสร้างถนนหนทาง การแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ แต่น้อยมากที่จะพูดถึงเรื่องชาวนาแทบจะไม่มีข้าวกินกันแล้ว

จากการประเมินของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ เทียบสถิติและการคาดการณ์ ปีนี้ 2562 ปริมาณน้ำฝนของไทยต่ำกว่า ปี 2561 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3-4 ปีย้อนหลัง และในปีหน้าถ้าฝนยังน้อย นั่นก็ชัดเจนว่าปัญหาใหญ่เกิดแน่ ๆ

รัฐบาลที่วางยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0 “ที่มุ่งเอาเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนประเทศ แต่เมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาภาคเกษตรแล้วชัดเจนว่ายังไปไม่ถึงไหน

การขับเคลื่อนก็ยังเป็นการ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แบบเอาให้ผ่านก่อน แต่จริงๆ แล้วไม่ถูกจุด

เทียบสำนวนไทยก็ประมาณ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” หรือ “พุ่งหอกเข้ารก” ทำพอให้เสร็จไปแบบลวก ๆ แบบขอไปทีให้ผ่าน ๆ ไปตามฤดูกาล เป็นการแก้ปัญหาที่ขาดประสิทธิภาพ จึงไร้ประสิทธิผล

“ไทยแลนด์ 4.0” ยังต้องรอโชคชะตากับฟ้าฝน แล้วมานั่งคำนวณน้ำต้นทุนในอ่างเพื่อบริหารจัดการ น้ำน้อยก็ให้ชาวบ้านงดทำนา น้ำมากก็ระบายทิ้ง

ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าคือปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศแม้จะยังไม่หมดฤดูฝน อ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน มีน้ำในอ่างที่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์เพียงที่เดียวคืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง โคราช นอกนั้นระดับเก็บกักน่าใจหายส่วนใหญ่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ซึ่งเป็นระดับวิกฤตถึงระดับขอดน้ำก้นอ่างใช้กันแล้ว

เป็นผลพวงจากธรรมชาติและการจัดการปี 2561 ที่ปริมาณฝนน้อยยังไม่พอ ยังมีปัญหาการบริหารการจัดการที่ผิดพลาด เช่นการสั่งการจากส่วนกลางให้เร่งระบายน้ำจากอ่างเพราะกลัวน้ำท่วม จึงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาถึงปีนี้

หากไปตามดูชีวิตชาวนาในขณะนี้ที่ต้องเร่งกู้วิกฤตตัวเองจากกาการที่ต้องแข่งกับเวลาที่ข้าวต้องตั้งกอออกรวงเดือนตุลาคม ต้องหาวิธีให้ต้นข้าวรอด ไม่เว้นแม้นาข้าวในเขตชลประทานที่เริ่ม”ปันส่วน”การใช้น้ำมันช่างลำบากยากเย็น

ชาวนาที่มีที่นาติดลำน้ำและอยู่ด้านล่างเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ต้องพึ่งชลประทานขนาดเล็กโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ทุกวันต้องจองคิวรับน้ำเข้านาแก้ปัญหาต้นข้าวยืนตาย

ค่าน้ำต้องจ่ายเองชั่วโมงละ 90 บาท เวลาคิวรับรับต้องเฝ้าดึกดื่น ก็ต้องรอเพราะหากข้ามคิวแล้วกว่าจะวนมาความเสียหายเกิดขึ้นแน่ ๆ

นาข้าวในเขตชลประทานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ที่คนภายนอกมักจะมองว่า เป็นพื้นที่อภิสิทธิ์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

หากสังเกตคลองชลประทานขนาดกลาง และขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน สภาพคลองน้ำขาดการบำรุงรักษา ต้นไม้ริมคลอง หญ้า เต็มไปหมด เพราะ “งบประมาณ “ถูกตัด การบำรุงรักษากลายเป็นงานที่ดูจำเจ ไม่จำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถ จนผิดเพี้ยนจากหลักการโครงการชลประทานที่ประสพผลสำเร็จจะสังเกตเห็นได้ง่ายโดยดูจากพืชพันธุ์ที่เจริญงอกงามสม่ำเสมอทั่วทั้งพื้นที่ในฤดูฝน

กลับมาดูระบบชลประทานขนาดเล็กอย่างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่สนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในระดับ 500-3,000 ไร่ ที่เข้าถึงไร่นาได้ง่ายกว่าโครงการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นโครงการที่ปล่อยตามยถากรรมเมื่อถ่ายโอนให้อปท.ดูแล

งบประมาณเท่ากัน นักการเมืองชอบสร้างถนนมากกว่าสร้างคลองน้ำ ถนนสร้างง่ายเสร็จเร็ว และหากจะทุจริตก็ง่ายกว่าคลองส่งน้ำ และไม่ต้องมีปัญหาตามมาเรื่องการบำรุงรักษา

จึงไม่แปลกที่มักมีข่าวโครงการฯ ถูกขโมยหม้อแปลงไฟ เพราะนานๆ จะใช้ที อบต.บางที่ติดค้างค่าไฟฟ้าจนถูกตัดกระแสไฟ โครงการก่อสร้างก็เน้นสร้างถนนคอนกรีตตามหมู่บ้าน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมักเน้นการขุดลอก ที่ถูกนินทาว่ามีการทุจริตเรื่องคิวดินมาตลอด

รถไฟฟ้าในกทม.ที่ระดมสร้างเพิ่มหลายเส้นทางทางคืบหน้าไปมาก มอเตอร์เวย์จากอยุธยา ถึงโคราชใกล้แล้วเสร็จ  รถไฟทางคู่เริ่มเปิดใช้บางเส้นทาง และรถไฟความเร็วสูงกำลังเริ่มสร้าง

เป็นภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนของแนวคิดของคนในรัฐบาลส่วนกลาง กับผู้บริหารท้องถิ่นที่สอดคล้องต้องกันค่อนข้างชัดเจน

ภาคการเกษตรไทยแลนด์ 4.0 จึงยังคงวนเวียนอยู่กับการรอโชคชะตา รอฟ้ารอดิน ไม่มีพอกิน หนี้สินเต็มนา เช่นเดิม

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์