X

9เม.ย.ลุ้นทางออกบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ

9 เม.ย.กรรมการศาลยุติธรรมประชุม และจะพิจารณาปัญหาข้อข้อคัดและเรียกร้องให้มีการรื้อบ้านพักตุลาการที่เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ วันเดียวกัน รัฐบาลนัดหารือ 3 ฝ่ายเพื่อหาทางออกปัญหาเดียวกัน ที่แม้ฝ่ายรัฐจะนำเสนอทางออกเรื่องนี้ไว้ 3 ทางเลือกแต่เครือข่ายที่คัดค้านยังยืนกรานในข้อเรียกร้องเดียวคือรื้อบ้าน 45 หลัง

9 เม.ย.เวลา 09.30 น.คณะกรรมการศาลยุติธรรม จะประชุมและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะเสนอกรณีการก่อสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพให้กรรมการฯพิจารณา และส่งมติให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงแนวทางการดำเนินการ ทางออกเรื่องนี้จะจบอย่างไร ภาคประชาชนคาดหวังจะได้ตามที่เรียกร้องหรือไม่ คุยกับ “ดร.ทนง ทองภูเบศร์”ผู้ริมเริ่มแคมเปญทวงคืนป่าดอยสุเทพ #บ้านพักศาล #ทวงคืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย 77ข่าวเด็ด เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2018

คุยกับดร.ทนง ทองภูเบศร์ ผู้ริเริ่มแคมเปญทวงคืนป่าดอยสุเทพ หลังเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม สราวุธ เบญจกุล แถลงท่าทีของศาลต่อการแก้ปัญหาการคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.โดยยังยืนยันในการดำเนินการตามพันธสัญญาเดิมที่ทำไว้ และจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการศาลยุติธรรม ที่จะประชุมในวันที่ 9 เม.ย.เพื่อขอให้ความเห็นว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และดร.ทนง บอกว่าเป็นการแถลงที่ไม่ได้มีท่าทีใหม่และไม่เข้าใจในประเด็นการคัดค้านของชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไปกับการก่อสร้างบ้านพักในพื้นที่เชิงดอยสุเทพ

ดร.ทนง บอกว่าค่อนข้างผิดหวังกับกระบวนทัศน์ทางสิ่งแวดล้อมกับผู้ใหญ่ในบ้านเรา ตั้งแต่เช้าพล.อ.ประวิตร ก็บอกว่าไม่ต้องรื้อบ้านโดยอาจจะเอาไปใช้ทำอย่างอื่นแทน โดยมีธงอยู่แล้วว่าจะไม่มีการรื้อ ต่อมาการแถลงของเลขาธิการ สนง.ศาลยุติธรรม ในการแถลงไม่มีประเด็นเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย ทำให้ผิดหวังต่อกระบวนทัศน์ที่นำเสนอมา เพราะข้อมูลที่แถลงก็เป็นเรื่องข้อมูลโครงการทั่วไป และย้ำว่าเป็นที่ดินของทางราชการ เป็นที่ของรัฐเงินที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน แต่ไม่ได้บอกว่ามีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ และยังย้ำถึงความฟุ่มเฟือยว่าการสร้างบ้านพักหลายสิบหลังเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ดร.ทนง บอกว่า การแถลงไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ว่าการสร้างหมู่บ้านข้าราชการตุลาการอยู่ในโซนของการใช้ประโยชน์ ทั้งที่ความจริงยูเนสโก้ แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ในบริเวณดอยสุเทพเมื่อปี 2520 ตามพันธสัญญาสงวนชีวมณฑล เป็น3 โซน โซนบนสุดเป็นโซนอนุรักษ์ เป็นพื้นที่โซนอุทยานฯดอยสุเทพ-ปุย ฯ โซนต่อมาเป็นโซนกันชน หรือBuffer zone และโซนที่สามเป็นโซนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ อ.แม่ริม อ.สะเมิง อ.หางดง ซึ่งเป็นโซนพื้นราบ และพื้นที่ก่อสร้างหมู่บ้านตุลาการ ชัดเจนจากการพิสูจน์โดยความสูงแล้ว อยู่ในโซนกันชน

ในพื้นที่ นสล.23,000ไร่ ที่เป็นเขตทหารเดิม ก็มีการขอใช้ประโยชน์หลายหน่วยงาน เช่น การก่อสร้างสนามกีฬา 700ปี ศูนย์ประชุมนานาชาติ รพ.นครพิงค์ หมู่บ้านสวัสดิการกองทัพบก และอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งสามารถใช้ได้เพราะเป็นพื้นที่อยู่ในโซนการใช้ประโยชน์ แต่หมู่บ้านตุลาการชัดเจนว่าสร้างในโซนกันชน หรือBuffer zone จึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

ดร.ทนง บอกว่า ในศตวรรตที่21เขาคุยกันเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ข้าราชการไทยกลับไม่แยแส พูดแต่เรื่องปลูกป่าทดแทนที่มันไม่ใช่การจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ภูเขา การจัดการป่าจึงเป็นแนวคิดอันตราย และสิ่งที่อันตรายมากที่สุดคือการอ้างกลไกกฎหมายที่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้อย่างถูกต้อง  แนวคิดแบบนี้แสดงว่ากลไกมีปัญหาเมื่อกลไกมีปัญหาก็ต้องยกเลิกกฎหมาย ยกเลิกกลไกนั้น เพราะไม่เช่นนั้นหากยังดำเนินการต่อไปที่อื่นก็จะสามารถอ้างอิงได้ว่าทำได้เพราะถูกกฎหมายซึ่งหากเป็นเช่นนี้ป่าไม้ก็หมดพอดี

ดร.ทนง ในฐานะที่เป็นผู้ริมเริ่มแคมเปญขอคืนป่าดอยสุเทพเมื่อ 2   เดือนกว่าที่ผ่านมายืนยันว่า แม้แนวทางที่รัฐบาลที่เริ่มลงมาดูแลปัญหานี้ แต่ไม่ได้ให้ความหวังว่าปัญหานี้จะจบในเร็ววัน เครือข่ายทั้งชาวเชียงใหม่ และชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเดินหน้าและยกระดับการเรียกร้องที่มีเป้าหมายให้รื้อบ้านพักที่จำนวน45 หลังที่สร้างในโซนกันชนและให้ป่าและธรรมชาติจัดการตัวเอง

“หลังจากนี้ เราจะไม่คุยเรื่องความรู้สึกอีกแล้ว มันเลยความรู้สึกไปแล้ว เราไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างหมู่บ้านบนเขา เราจะเดินหน้าต่อด้วยเหตุและผล ที่มันไม่ใช่ว่าเพราะความอยากได้ หรือไม่อยากได้ “ดร.ทนง กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์