X

ระเบียบค่าชดเชยชาวนาที่ตั้งไว้เพื่อ”ไม่จ่าย”รัฐต้องแก้

ค่าชดเชยทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมนาข้าวที่ชาวนาต้องได้รับจากรัฐเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่ความจริงเกษตรกรแทบไม่ได้รับค่าชดเชย และจากประกันภัย เพราะระเบียบการจ่ายต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง เท่านั้น 

ทั้งน้ำฝนแล้ง น้ำท่วม นอกจากความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้า รัฐบาลทุกยุคก็มักจะออก มาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย โดยเฉพาะนาข้าวที่ปลูกทั่วประเทศ 2.6 ล้านไร่ ถูกนำมากำหนดตัวเลขความช่วยเหลือจากภัยแล้ง ภัยน้ำท่วมตลอด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่เจอภัยพิบัติผลผลิตได้ความความเสียหาย ตามระเบียบกระทรวงการคลังที่กำหนดให้เกษตรกรจะได้รับชดเชยความเสียหาย ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม แยกเป็น นาข้าว ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่

ดูอาการจริงจังของรัฐบาลทุกครั้งเมื่อเกิดภัยแล้ง น้ำท่วมในการอนุมัติกรอบวงเงินตัวเลขความช่วยเหลือก็ดูดี แต่ข้อเท็จจริงชาวนาที่ตกอยู่ในภาวะพูดไม่ได้ เมื่อภัยพิบัติผ่านไปข้าวในนาแทบหาเป็นชิ้นเป็นอันไม่มี เงินชดเชยก็แทบไม่เคยจะได้รับ

แต่สังคมทั่วไปที่ติดตามข่าวก็มักจะเข้าใจว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือเยียวยาตามที่ประกาศ และตามระเบียบแล้ว

ระเบียบกระทรวงการคลังเจ้าปัญหา บอกชัดแต่แรกว่า เป็น”ระเบียบกระทรวงการลัง กรณีพื้นที่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง”

คำว่า “ความเสียหายสิ้นเชิง”เป็นข้อความที่ทำให้สงสัยว่า เป็นระเบียบที่ตั้งไว้เพื่อ “จ่าย” หรือเพื่อ “ไม่จ่าย” หรือเพื่ออะไรกันแน่ ?

ความเสียหายโดยสิ้นเชิงกรณีภัยแล้ง พูดแบบง่ายๆ คือต้นข้าวต้องตายสนิทหมดไม่มีต้นไหนเหลือรอดในแปลง เช่นเดียวกับกรณีน้ำท่วมต้นข้าวต้องเน่าตายทั้งแปลง หากมีต้นใดต้นหนึ่งโผล่ชูใบในแปลงก็ไม่ถือว่าเสียหายโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างชัด ๆ คือนาแล้งปีนี้ช่วงที่มีครม.ใหม่ฟิตปั๋ง แม้ห้องทำงานยังแต่งไม่เสร็จรัฐมนตรีก็แบ่งสายตระเวนตรวจภัยแล้ง ช่วงเดือนก.ค.ที่เป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา บางพื้นที่ข้าวเริ่มตั้งกอแต่ภัยแล้งแผ่ลามไปทั่วมีคำสั่งให้สำรวจพื้นที่นาแล้งเพื่อรับการชดเชยตามระเบียบให้เสร็จภายใน 90 วัน

ขั้นตอนสำรวจก็ง่าย ๆ คือให้เจ้าของนานำเอกสาร และภาพถ่ายนาแล้งไปแจ้งตำบล ตำบลแจ้งอำเภอ –จังหวัดและรวมเป็นพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศ บางแห่งตัวเลขเยอะก็ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ

แต่นั่นมันยังไม่ใช่แล้งจริงตามระเบียบ ต้องมีคณะกรรมการระดับตำบลลงสำรวจแปลงภายใต้กรอบ “ต้องเสียหายสิ้นเชิง” ระหว่างการลงสำรวจแบบรีเชคของกรรมการ ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ปรากฏว่า ทั้งฝนเทียม ฝนจริง เริ่มลง ต้นข้าวที่แห้งเหี่ยวบางส่วนกลับฟื้นคืนชีพแทงใบ แตกกอ

ในหลายพื้นที่ต้องให้เกษตรกรที่แจ้งเป็นผุ้ประสบภัยแล้งไปยกเลิกรายชื่อผู้ประสบภัยเพราะต้นข้าวไม่ได้”เสียหายโดยสิ้นเชิง”

การการชดเชยที่ต้องเสียหายโดยสิ้นเชิงก็ใช้กับกรณีน้ำท่วมนาข้าว ที่ต้องถูกท่วมเสียหายโดยสิ้นเชิง เกษตรกรบางพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ในพื้นที่ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ที่ช่วงก.ค.-ส.ค.เคยเป็นผู้ที่แจ้งชื่อประสบภัยแล้ง พอฝนเริ่มมาต้นข้าวเริ่มฟื้นรายชื่อถูกตัด ไม่กี่วันจากนาแล้งกลายเป็นน้ำท่วมในที่นาแปลงเดิม

นาแล้งโดยส่วนใหญ่ตามการสำรวจช่วงฝนมาเกษตรกรแทบไม่หวังว่าจะได้ชดเชยไร่ละ 1,113 บาท เช่นเดียวกับน้ำท่วม ที่อย่างไรเสียน้ำท่วมนาข้าวภาคอีสานหรือภาคเหนือก็ไม่ใช่ท่วมแช่ขังนานเป็นเดือนแบบนาข้าวภาคกลาง โอกาสที่ต้นข้าวจะตายแบบสิ้นเชิงตามเกณฑ์เพื่อรับเงินชดเชยจึงเป็นเรื่องยาก

แต่ข้อเท็จจริงทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมช่วงทำนาเกษตรกรได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพราะความแห้งแล้งทำให้ต้นข้าวไม่เติบโต ไม่แตกกอถึงจะมีน้ำมาในภายหลังผลผลิตก็ลด น้ำท่วมก็เช่นกัน ยิ่งท่วมช่วงเดือนก.ค.-ต.ค.ที่ข้าวบางส่วนเริ่มตั้งท้อง ถึงน้ำลดต้นข้าวไม่ตายทั้งหมดแต่ที่รอดก็จะเป็นต้นข้าวที่ออกรวงให้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวลีบ ได้เป็นแกลบมากกว่าเมล็ดข้าว

วันที่ “สุทิน คลังแสง”ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ยื่นกระทู้ในสภากับมาตรการช่วยเหลือชาวนาของรัฐมีมุมน่าสนใจ ตรงที่เสนอให้การช่วยเหลือชดเชยชาวนาให้เป็นระบบ”ขั้นบันใดความเสียหาย” ไม่ใช่เหมารวมว่าต้องเสียหายโดยสิ้นเชิงเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง

แต่รมช.เกษตรฯประภัตร โพธสุธน กลับไปให้น้ำหนักกับการไปพิจารณาแก้ไขระเบียบอัตราการจ่ายชดเชยความเสียหายต่อไร่ที่ใช่มานานไม่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่มันไม่มีประโยชน์เพราะเกณฑ์ที่ต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง ต่อให้เพิ่มเงินชดเชยต่อไร่สูงขนาดไหนชาวนาที่ได้รับความเสียหายก็ไม่ได้รับเงินอยู่ดี

เกณฑ์ที่ต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง เกษตรกรซวยสองต่อ เพราะนอกจากไม่ได้รับชดเชยตามที่รัฐบาลประกาศแล้ว ยังไม่ได้รับการชดเชยกรณีไปเข้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี กับธ.ก.ส.ที่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน ไร่ละ 90 บาท โดยเกษตรกรจ่ายเอง 36 บาท รัฐบาลอุดหนุนไร่ละ 54 บาท และทุกปีรัฐบาลต้องควักเงินจ่ายสมทบค่าประกันภัยปีละประมาณ 2,600 ล้านบาท

แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เอาประกันก็ไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะ ธ.ก.ส.ก็ต้องต้องจ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังที่ต้องเสียหายอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน

ถ้าระเบียบตั้งขึ้นมาเพื่อจ่าย ก็ต้องหาวิธีการจ่ายชาวบ้านที่เดือดร้อน

ถ้าระเบียบมีปัญหาในการจ่ายก็ต้องแก้ระเบียบให้สามารถจ่ายได้ตามความเหมาะสม

ไม่ใช่ประกาศความช่วยเหลือโดยประกาศตัวเลขล่วงหน้าสวยหรู แต่จ่ายชดเชยตามระเบียบจริงไม่แจ้งตัวเลข

การชิงประกาศจ่ายค่าการผลิตไร่ละ 500 บาท สำหรับนาแล้ง นาล่มเป็นรางวัลปลอบใจชาวนาที่แทบทุกรัฐบาลทำมาโดยไม่สนใจจะมองปัญหาที่ระเบียบ มันก็เป็นเพียงการหาเสียงว่ารัฐบาลใส่ใจ ระเบียบจ่ายไม่ได้ก็ยังมีน้ำใจช่วยเหลือชาวนา

หมดเวลาดราม่านั่งเรือแจกของแล้ว รีบเข้ากระทรวงไปแก้ระเบียบเจ้าปัญหานี้เสียทีเถิด ถ้าจะช่วยเหลือชาวนาจริงจัง.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์