น้ำท่วมอุบลราชธานีปีนี้ถือว่าหนักมาก เป็นรองก็เฉพาะน้ำท่วมเมื่อปี 2521 และเป็นน้ำท่วมที่มีเรื่องผิดปกติอย่างน้อย 2 เรื่อง
น้ำน้อยแต่ทำไมท่วมระดับสูง?
การบริหารการจัดการที่ไม่เป็นระบบเมื่อเกิดน้ำท่วม จน “บิณฑ์ บันลือฤทธิ์”แหกกฎระดมความช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรงด้วยตัวเอง
ถ้ากทม.เป็นเมืองหลวงแห่งน้ำที่ภาคกลาง ที่น้ำจากเหนือแทบทุกสายจะไหลลงมารวม เมื่อน้ำมากก็จะท่วมกทม. อุบลราชธานี ก็ไม่ต่างกับเมืองหลวงแห่งน้ำภาคอีสาน ที่น้ำแทบทุกสายในหากไม่ไหลลงแม่น้ำโขงโดยตรงก็จะไหลมารวมที่แม่น้ำมูลอุบลราชธานี ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม
หากจะคำนวณว่าน้ำจะท่วมกทม.หน้ามรสุมเมื่อไหร่ ก็ไล่เรียงตามสายน้ำจากเหนือที่ท่วมตามสายทางที่ผ่านมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายจบที่กทม. เช่นเดียวกับอุบลราชธานีหากปีไหนน้ำมากแม่น้ำชีท่วมไล่เรียงจากชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร บวกกับน้ำจากแม่น้ำมูล จากโคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เข้าอุบลฯ สามารถคำนวณวันที่จะท่วมเมืองอุบลฯได้ไม่ยากนัก
แต่ปีนี้ผิดปกติ ชัยภูมิ ขอนแก่น ที่ติดแม่น้ำชีน้ำแทบไม่ท่วม มีบ้างที่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ที่รับน้ำจากเขื่อนลำปาว ลงไปที่ยโสธร และปุ๊ปปั๊บก็ท่วมอุบลราชธานี
แม่น้ำมูลที่เป็นแม่น้ำสายหลักผ่านตัวเมืองอุบลฯด้านบนน้ำก็ยังน้อย เขื่อนที่เป็นต้นน้ำมูลในพื้นที่โคราชปริมาณเก็บกักก็ยังน้อย
จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ต้องหาคำตอบกัน
ดูตามข้อมูลย้อนหลังของกรมชลประทานที่ “Ubon Connect” รวบรวมมา พบว่าระดับน้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำมูลวัดจากสถานีฯ M7 หรือบริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย ที่ระดับล้นตลิ่งที่ 7เมตร พบว่าปีนี้ในวันที่ 14 ก.ย.ที่ระดับน้ำทรงตัวระดับน้ำมูลเท่อสูงมากวัดได้ 10.96 เมตร ท่วมปี 2554 ระดับน้ำ ที่9.81 เมตรท่วมปี 2545 วัดได้ 10.77 เมตร และ ปี 2521 ที่น้ำท่วมหนักสุด วัดได้ 12.76 เมตร ถ้าน้ำท่วมปี 2521 เป็นแชมป์ ท่วมปี 2562 ก็ถือว่ารองแชมป์ไปแล้ว
แต่ที่ผิดปกติของน้ำท่วมทุกครั้งส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนอยู่บริเวณตัวเมืองอุบลฯ ในพื้นที่ลุ่มต่ำกับฝั่งวารินชำราบ แต่ปีนี้น้ำท่วมขยายวงไปถึง อ.ตาลสุม อ.ดอนมดแดง อ.พิบูลมังสาหาร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อสภาพน้ำท่วมอุบลฯหากระดับน้ำโขงสูง น้ำจากแม่น้ำมูลระบายลงโขงลำบากก็จะเป็นปัญหา แต่กลับพบว่าระดับน้ำมูลที่ อ.โขงเจียม ช่วงน้ำท่วมอุบลฯปีนี้ต่ำกว่าระดับน้ำที่ตัวเมืองอุบลฯ ถึง 2.32 เมตร
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจมีผลทำให้เกิด “ความชะล่าใจ”
ความชะล่าใจที่ระดับ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานียังอยู่ที่เมืองจีนในวันที่น้ำเริ่มท่วม
ความชะล่าใจที่ปล่อยให้น้ำท่วมถนนหมายเลข 23 หรือถนนแจ้งสนิท ที่เป็นถนนสายหลักเชื่อมอุบลฯ-ยโสธร จมน้ำสูง 2 เมตร ยาวกว่า 4 ก.ม.ช่วงบ้านกอก อ.เขื่องใน ในจุดที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปตรวจน้ำท่วมและ แจกถุงยังชีพเมื่อวันที่ 9 ก.ย.การจราจรถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิงกว่า 10 วัน ที่เริ่มท่วมตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.
ทั้งที่หากเกิดภัยพิบัติอันดับแรกที่ผู้รับผิดชอบต้องเอาให้อยู่คือเส้นทางคมนาคม
เห็นสภาพการบริหารจัดการจากจุดน้ำท่วมถนนสาย 23 ยิ่งฉายชัดให้เห็นถึงสภาพที่ไม่เป็นระบบและความเป็นมืออาชีพ
เมื่อเกิดน้ำท่วมในตัวเมืองทุกอย่างดูเหมือนตกอยู่ในสภาพอลหม่าน ชาวบ้านที่อยู่ติดริมน้ำมูลทั้งฝั่งวารินฯ บริเวณที่เคยเป็นกุดปลาขาว ฝั่งตัวเมืองย่านวัดบูรพา มีประสบการณ์เอาตัวรอดกับน้ำท่วมยังเตรียมตัวไม่ทัน
เมื่อน้ำท่วมความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้าไปภายใต้ความไม่เป็นระบบ ที่สภาพเหมือนกับไม่มีเจ้าภาพ เมื่อติดต่อส่งความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ก็ถูกชี้เป้าให้นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปช่วยในพื้นที่เดิมๆ ซ้ำ ๆ ชาวบ้านที่น้ำท่วมในจุดเดิมๆสิ่งของช่วยเหลือล้น แต่คนชุมชนน้ำท่วมที่ไม่ถูกชี้เป้าให้ช่วยตกอยู่ในสภาพน่าเวทนา
หลายหน่วยงาน องค์กรที่ส่งน้ำใจเข้าช่วยเหลือชาวอุบลฯ ที่น้ำท่วมตอนนี้จึงพึ่งการสื่อสารส่งความช่วยเหลือผ่านแอพของทั้ง ม.ราชภัฏอุบลราชธานี และ ม.อุบลราชธานี ที่ทำแอพขึ้นมาและเชื่อมข้อมูลกับศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยต่าง ๆ เพื่อสำรวจความต้องการสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้ตรงเป้าและความต้องการมากว่า
ข้าราชการฝ่ายปกครอง และท้องถิ่นที่นั่นก็ไม่ต่างกับจังหวัดอื่น ๆ 2 เดือนที่แล้วก็เพิ่งประสบปัญหาภัยแล้งจนต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และได้งบฯแก้ภัยแล้งจังหวัดละ 200 ล้านบาท …แต่น้ำท่วมมาเร็ว
อย่างอุบลราชธานี ย้อนไปถึงปี 2521 ล้วนแต่ท่วมช่วงเดือนตุลาคม ทั้งจังหวัด , อำเภอ ก็มัวแต่ต้องปิดงบฯ ภัยแล้ง 200 ล้าน ที่ต้องเซ็นสัญญาจ้างภายใน 30 ก.ย.นี้เท่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็ส่งงบฯ คืน
ทั้งโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ โครงการเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำด้วยแซลลูล่าร์ ต้องเร่งหั่นซอยให้เหลือโครงการละ 5 แสน ขาดได้ แต่ห้ามเกิน เพื่อไม่ต้องผ่านการประกวดราคาผ่าน e-biding ถ้าไม่เกิน 5 แสน ใช้วิธีเรียกผู้รับเหมามาตกลงราคาและเซ็นสัญญาเลย
ข้าราชการในพื้นที่น้ำท่วมและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจึงตกอยู่ในสภาพ “น้ำท่วมปาก” แต่ก็ต้องทนเพราะ”นาย”เร่งมา
ระบบความช่วยเหลือก็มั่ว จะพึ่งใครก็ไม่ได้ จึงไม่แปลกที่คนมีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่าง “บิณฑ์ บันลือฤทธิ์”แหกกฎความช่วยเหลือ ระดมรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยการแจก ”เงินสด” ที่ตัวเลขรับบริจาคไม่กี่วันเกิน 260 ล้านแล้ว
ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ช่วย”หมูป่า”ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ไม่รู้กี่เวทีก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ายังทำแบบเดิม ๆ และมีข้ออ้างแบบเดิม ๆ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: