พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานด้านกฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดตรัง และรับฟังปัญหา ข้อร้องเรียนและการทุจริตในพื้นที่ภาคใต้ ชมเสมายังไม่พบการทุจริตคอรัปชั่น ในวงการศึกษาตรัง
วันที่ 13 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดตรัง (สกสค.) พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานด้านกฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดตรัง และรับฟังปัญหา ข้อร้องเรียนและการทุจริตในพื้นที่ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ แนวทางการทำงาน หลังเกิดปัญหาข้อร้องเรียน และการทุจริตในโครงการต่างๆขึ้นในหลายจังหวัด เช่น โครงการ CCTV ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ นมโรงเรียน และอาหารกลางวันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเชิญผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดตรัง เช่น นายสวนดี นานอน ผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดตรัง , นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองศึกษาธิการ / รักษาการศึกษาธิการจังหวัดตรัง ,นายธัชชเวชว์ จันทร์สุขศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 13 , นายศังกร รักชูชื่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 ,นายประจักษ์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 นายสุรชัย จันทร์สถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดตรัง
พร้อมด้วยนายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดตรัง มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในจังหวัดตรัง ปัญหาข้อร้องเรียนและการทุจริตในพื้นที่ พร้อมให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไข และช่วยเหลือครูที่ไม่ได้กระทำผิด พร้อมเสนอแนวคิดให้ สกสค.มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อทำงานดูแลให้ความเป็นธรรมกับบุคลากรครูที่อาจตกเป็นเครื่องมือของการทุจริต เพราะปัจจุบันโรงเรียน และในสำนักงาน สกสค.เกิดการทุจริตขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่บุคลากรครูผู้น้อย ครูพัสดุ ครูตรวจรับงานจ้าง จะตกเป็นแพะรับบาป กระทำการไปโดยขาดเจตนา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และถูกผู้บริหารบังคับ แต่พอมีการตรวจสอบพบการทุจริตกลับถูกทอดทิ้งให้เป็นการกระทำส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้พบเป็นจำนวนมาก จึงเน้นย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเข้าไปดูแล เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมายแก่ครูเหล่านั้น ตั้งแต่ขณะ สตง.เข้ามาตรวจสอบ ทั้งการรับรองความประพฤติและรวบรวบพยานหลักฐานช่วยเหลือครูผู้น้อยไม่ตกเป็นเครื่องมือของการทุจริต เพราะหากปล่อยไปถึงชั้น ปปช.แล้ว จะแก้ไขหรือช่วยเหลือยาก
พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องข้อร้องเรียนและการทุจริตในภาคใต้มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ประเด็นทุจริตในภาคใต้เป็นประเด็นทุจริตที่ใหญ่โตมาก แต่คนทุจริตไม่ใช่คนในภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนในรั้วเสมา (กระทรวงศึกษาธิการ) ทุจริตทำให้พวกเขาเดือดร้อน การมาภาคใต้ของตนและคณะทำงานในครั้งนี้ เน้นมาบรรยายให้ความรู้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ ภาคใต้เราไม่ห่วงเลย เราเชื่อมั่นคนใต้รักในศักดิ์ศรีเรื่องทุจริตคิดว่าไม่น่าจะมี ส่วนใหญ่จะเป็นคนในรั้วเสมาเป็นคนทำเรื่องให้เขา เรื่องอาหารการกินเด็กๆก็ไม่มีปัญหา ส่วนที่โรงเรียนบ้านท่าใหม่ จ.สุราษฎร์ธานี นั้น ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงนามให้ ผอ.โรงเรียนออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว เพราะมีมูลความผิดวินัยร้ายแรงชัดเจน ไม่เฉพาะเรื่องโกงอาหารกลางวันอย่างเดียว แต่มีหลายเรื่อง แต่ในพื้นที่พัทลุง และตรัง ยังไม่พบเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น โครงการอาหารกลางวัน
พร้อมกับมีแนวคิดจะให้ สกสค.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาพอเกิดเรื่องทุจริตเกิดขึ้น บางทีครูซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ หรือกรรมการตรวจรับ ครูพวกนี้เขาไม่มีความรู้ ความสามารถเขาทำไปด้วยอำนาจหน้าที่ที่มีผู้บริหารสั่งก็ต้องทำ เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ที่ผ่านมาครูเหล่านี้ก็จะถูกลอยแพ ตอนทำๆในฐานะเป็นองค์กรของรัฐ แต่พอโดนคดีกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเขาน่าสงสารมาก ที่ผ่านมาไม่มีใครไปให้คำปรึกษากับเค้า ก็เลยเสนอแนวคิดว่า ทาง สกสค.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลสวัสดิการสวัสดิภาพควรจะมีทีมงาน ที่อาจจะร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา หรือศึกษาธิการจังหวัด ตั้งฝ่ายกฎหมายขึ้นมา เกิดเรื่องตรงไหนก็ลงไปดู แต่การที่จะดูว่าคนนั้นทุจริตด้วยหรือไม่ หรือบริสุทธิ์จริง
ก็ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของคณะกรรมการชุดนี้ว่า ประวัติของบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างไร ดูเจตนาที่แท้จริงของเขาว่าเขาไม่รู้เรื่องจริงหรือไม่ หรือเขาร่วมกับขบวนการด้วย จึงคิดว่าให้มีองค์กรนี้เกิดขึ้นน่าจะดีกว่าปล่อยครูเค้าลอยแพ ทั้งนี้ จะต้องไปดูกรอบรายละเอียดในการเขียนแนวทางการทำงานขององค์กรนี้ว่า มีกรอบการทำงานอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการช่วยเหลือคนผิดเกิดขึ้นในภายหน้า แต่ขณะนี้เป็นแค่แนวคิดที่จะอยากจะให้มีการจัดตั้งขึ้นมาเท่านั้น ส่วนกรณีปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาที่ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนวัดชลวาปีวิหาร และโรงเรียนบ้านควรอินทนินงาม อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง และปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ประสบปัญหามีครูไม่ครบตามจำนวนนักเรียน และไม่ครบชั้นเช่นเดียวกับทั่วประเทศ จากการลงพื้นที่รับฟังทราบปัญหาแล้ว ก็จะนำปัญหาไปรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เพื่อให้ท่านกำหนดแนวทางนโยบายในแก้ปัญหาต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: