มทร.ตรัง สนับสนุนจังหวัดตรังพร้อมเปิดเป็นสถานที่กักตัวกลาง (Local Quarantines) ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงจากโรค COVID-19
มทร.ตรัง : วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563
โดยสถานการการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายในพื้นที่จังหวัดตรัง จากข้อมูลการประเมินความเสี่ยงของการระบาดจำนวนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (pui) ข้อมูลผู้เดินทางจากต่างประเทศและจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่ระบบกักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ (Local Quarantines) ในพื้นที่อำเภอ จากระบบ Thai QM ของกรมการปกครองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจังหวัดตรังได้กำหนดแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป โดยการแยกกักตัวผู้เดินเข้ามาจังหวัดตรังเพื่อสังเกตอาการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 22, 34 และ 35 ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจที่จะดำเนินการประกาศ
หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการแยกกัก กักกัน หรือควบคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจแยกและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรค หรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ผู้เดินทางจากต่างประเทศและจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เข้าสู่จังหวัดตรังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้สถานที่กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ (Local Quarantines) ระดับอำเภอ ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องจัดเตรียมสถานที่กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ (Local Quarantines) ระดับจังหวัด
ไว้เพื่อรองรับผู้เดินทางดังกล่าว จังหวัดตรังจึงขอรับการสนับสนุน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เป็นสถานที่กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ (Local Quarantines) ระดับจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ณ วันนี้ (30 เมษายน 2563) มีจำนวนผู้เข้ากักกันตัว จำนวน 14 คน ซึ่งเป็นพี่น้องชาวจังหวัดตรัง ที่ไปประกอบอาชีพที่ประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้มีผู้ดูแลประกอบด้วย กองร้อยอาสารักษาดินแดน จังหวัดตรังที่ 1 จำนวน 4 นาย บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสิเกา จำนวน 2 คน โดยจะเดินทางมาตรวจวัดไข้ของผู้กักกัน วันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและช่วงเย็น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 1 คน ซึ่งจะดูแลในเรื่องของอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น เช่น ถุงดำ ไม้กวาด อื่นๆ และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดอำเภอสิเกา คืนละ 2 คน โดยแต่ละหน่วยงานจะหมุนเวียนสลับบุคลากรกันไปชุดละ 4 วัน.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: