สัตวแพทย์เผยแม่พะยูนเพศเมียที่พบเกยตื้นตายตัวแรกในรอบปี 63 ที่เกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรังเมื่อเช้าวันนี้ ป่วยตายตามธรรมชาติ หลังผ่าพบก้อนเนื้องอกในตับหนักกว่า 700 กรัม
ผ่าซากพะยูน วันนี้ (5 ก.ย.2563) เวลาประมาณ 13.30 น. ที่อาคารพะยูน ภายในสำนักงานอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นายสันติ นิลวัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง พร้อมด้วย สพ.ญ.ปิยรัตน์ คุ้มรักษา สัตวแพทย์ประจำศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ รวมกว่า 10 นาย
ได้ร่วมกันผ่าซากพะยูนชันสูตรหาสาเหตุการตาย หลังจากที่นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้รับแจ้งจากนายพัน หมาดบู ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ว่าพบ พะยูน เกยตื้นตายบนชายหาดเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง โดยใช้เวลาผ่าซากนานกว่า 4 ชั่วโมง
สำหรับพะยูนตัวดังกล่าวเป็นเพศเมีย ความยาวลำตัวประมาณ 2.75 เมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม อายุประมาณไม่ต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งเป็นตัวโตเต็มวัย โดยทางสัตว์แพทย์ได้เก็บชิ้นเนื้อ ประกอบด้วย หัวใจ ตับ ปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร พบว่าพะยูนตัวดังกล่าวมีก้อนเนื้องอกในตับ น้ำหนักกว่า 700 กรัม ทำให้ป่วยตายโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดจากเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายหรือใบพัดเรือแต่อย่างใด และนับเป็นพะยูนตัวแรกที่ตายในทะเลตรังในปี 2563
โดยสัตวแพทย์หญิงปิยรัตน์ คุ้มรักษา กล่าวว่า จากการเปิดผ่าพิสูจน์ซาก พบมีน้ำอยู่ในปอด พบความผิดปกติของตับ เจอเนื้อลักษณะแข็งแน่น ซึ่งเป็นเนื้องอก น้ำหนักประมาณ 700 กรัม เมื่อผ่าออกมาพบว่าเป็นก้อนหนองอยู่ภายในจำนวนมาก เป็นความผิดปกติเนื้องอกที่ตับ ในส่วนของกระเพราะอาหาร
ข่าวน่าสนใจ:
และลำไส้ยังคงมีหญ้าทะเลและอาหารเต็มอยู่ในกระเพราะ ไม่พบขยะ หรือเศษพลาสติก ในส่วนของการเสียชีวิตคาดว่าน่าจะไม่เกิน 1 วัน ส่วนของสาเหตุการตายคาดว่าน่าจะเกิดจากภาวะป่วยจากธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะภายนอก ผิวหนัง และลำตัว ไม่พบบาดแผลจากการโดนเครื่องมือประมง ชั้นกล้ามเนื้อก็ไม่พบการบอบช้ำ หรือการกระทบกระเทือนและกระแทกแต่อย่างใด
สพ.ญ.ปิยรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่การป่วยตามธรรมชาติจะพบเจอได้บ่อย ถัดมาสาเหตุก็จะเป็นเรื่องการเกยตื้น และโรคที่พบในพะยูน จะมีติดเชื้อในแบคทีเรียไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ โดยพะยูนตัวดังกล่าวเป็นตัวโตเต็มวัย ส่วนใหญ่พะยูนที่โตเต็มวัยจะไม่ค่อยมีการเกยตื้น แต่ในบางตัวจะมีอาการทางระบบประสาท ทำให้การนำทางผิดพลาดอาจจะกลับฝั่งหรือลงน้ำไม่ทัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้แต่พบได้น้อยมาก.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: