ตรังมรสุมคลื่นลมแรง ซัดถนน-คอสะพานขาด เรือประมงกว่า 5 ลำหนีไม่ทันถูกคลื่นซัดพังเสียหายยับ วอนภาครัฐทำพนังกั้นคลื่น หลังต้องประสบปัญหามากว่า 10 ปี ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้าน ต้องนำเรือกว่า 100 ลำ จอดหลบคลื่น เหตุออกทะเลไม่ได้ ทำขาดรายได้มากว่า 1 เดือนแล้ว
มรสุมทำพิษ : เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ 9 ต.ค.64 นายมนัส เอ่งฉ้วน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านนาทะเล ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง พร้อมด้วย ชาวบ้านในพื้นที่ นำผู้สื่อข่าว เดินทางลงตรวจสอบความเสียหายของพื้นถนนเลียบชายทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.ตรัง ได้ถูกคลื่นซัดกัดเซาะพื้นดินด้านล่างจนทำให้พื้นผิวถนนคอนกรีตแตกหักและพังได้รับความเสียหาย
ความกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร โดยมีการนำเชือกและกรวยจราจรปิดกั้นไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่สัญจรไปมา และอยู่ในระหว่างกองช่างของ อบจ.ตรัง เข้าพื้นที่ซ่อมแซมแก้ไข ขณะเดียวกันยังพบว่า บริเวณคอสะพานถนน ที่ได้รับความเสียหายจากความแรงของคลื่นทะเลได้ถูกซัดจนคอสะพานทั้งสองฝั่งขาด โดยได้มีการนำดิน และหินเข้าอัดบด เพื่อให้รถได้สัญจรตามปกติแล้ว
ทั้งนี้บริเวณในทะเลมีคลื่นสูงกว่า 2-3 เมตร น้ำทะเลเป็นสีขุ่นดำ ได้พัดพาเศษขยะเข้ามาบริเวณชายหาดอย่างต่อเนื่อง และแรงคลื่นยังคงซัดเข้าหาฝั่งอยู่ตลอดเวลา ส่งผลทำให้ เรือประมงที่จอดเทียบอยู่บริเวณชายหาด ได้ถูกคลื่นซัดทำให้ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 5 ลำ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวประมงในพื้นที่ต้องหยุดการประกอบอาชีพทางเรือ พร้อมได้แล่นเรือของตนเอง จำนวนกว่า 100 ลำ ไปจอดเทียบท่าเพื่อหลบคลื่น บริเวณท่าเรือและภายในลำคลองพื้นที่ หมู่ 4 ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ
ด้านนายชิต หล้าเก็ม อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 1 ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า คลื่นได้กัดเซาะทำให้ถนนและคอสะพานขาดมาหลายครั้งแล้ว เนื่องจากไม่มีพนังกั้นคลื่น จึงอยากให้ทางภาครัฐเข้ามาทำแนวพนังกั้นคลื่นอย่างเร่งด่วน ส่วนเรือประมงจำนวน 5 ลำที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากนำไปจอดหลบคลื่นไม่ทัน และจากมรสุมที่เกิดขึ้นทำให้ชาวประมงในพื้นที่ออกทะเลไม่ได้ ต้องงดเดือนเรือมากว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งทำให้ขาดรายได้เป็นอย่างมาก รายได้หดเป็นศูนย์ บอกได้เลยว่าแย่ มีแต่รายจ่าย
ข่าวน่าสนใจ:
ขณะที่ นายมนัส เอ่งฉ้วน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวว่า ถนนที่ได้รับความเสียหายเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว ปีนึ่งละหลายครั้ง โดยที่ทาง อบต.ตะเสะก็ได้เข้ามาซ่อมแซมตลอด แต่เป็นการแก้ปัญหาเท่าที่เกิดขึ้น ไม่ได้มั่นคงถาวร ล่าสุดทางทีมช่าง อบจ.ตรัง ได้เข้ามาตรวจวัดพื้นถนนเพื่อซ่อมพื้นถนน แต่ไม่แน่ชัดในวันเวลาที่จะดำเนินการ โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแล โดยอยากให้ดำเนินการหากจะมั่นคงถาวรต้องทำแนวกันคลื่น ให้เร็วที่สุด เพราะช่วงมรสุมจะเป็นปัญหาใหญ่กับชาวประมง
ส่วนนายรักคุณากร สามทอง อายุ 48 ปี ชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวเรือเดือดร้อนมากต้องหยุดเรือมาตั้งแต่มีประกาศ โดยต้องนำเรือกว่า 100 ลำ หนีมาจอดหลบคลื่น ไม่อย่างนั้นจะได้รับความเสียหายหนัก ทำให้ขาดรายได้พอสมควร โดยปกติหากออกทะเลได้จะมีรายได้วันละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งไม่มีใครเสี่ยงออกไป เพราะหากออกไปเสี่ยงถึงเอาชีวิตไม่รอด ส่วนเรือโดยสารที่วิ่งไปยังเกาะสุกร ต้องวิ่งแค่บางช่วงเท่านั้น และต้องตรวจสอบสภาพคลื่นลมในช่วงเวลานั้นๆ และต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมากด้วย
ทั้งนี้ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตรัง ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตง (กปภจ) 0021/ว 6075 ลงวันที่ 7 ต.ค.64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ประกอบกับพายุดีเปรสชันบริเวณจีนใต้ตอนกลางเคลื่นตัว ทำให้คลื่นลมสูงกว่า 3 เมตร ฝนฟ้าคะนอง โดยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรงใน 10 อำเภอของ จ.ตรัง.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: