ตรัง ผู้ว่าฯ นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำหลังจากที่เกิดน้ำป่าไหลหลากที่น้ำตกกะช่อง พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน
วันที่ 19 ตุลาคม 2565 นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายเถลิงศักดิ์ ภูวญาณพงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง, นายจรูญศักดิ์ หมาดเท่ง นายอำเภอนาโยง, พ.ต.อ.ภูมิสิทธิ์ นาวัง ผกก.สภ.นาโยง, เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานตรัง, เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงชนบทตรัง ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอนาโยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสูงสุด 130 มิลลิเมตร ในช่วง 24 ชั่วโมง
ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน โดยพื้นที่อำเภอนาโยง เป็นอำเภอที่อยู่ตามแนวเทือกเขาบรรทัด มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งภูเขา ถ้ำและน้ำตก จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กรณีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ขอให้ประกาศแจ้งเตือน งดการท่องเที่ยวและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ได้มาติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากที่น้ำตกกะช่อง เนื่องจากเมื่อวานนี้ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากที่น้ำตกกะช่อง แต่สถานการณ์ขณะนี้น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดได้ลดลงแล้ว แต่น้ำยังเป็นสีขุ่นอยู่ หลังจากนั้นได้เดินทางไปติดตามโครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียง ผันน้ำจากอำเภอนาโยง ไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอนาโยง ขณะนี้สามารถระบายน้ำได้ 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตามทางจังหวัดตรังได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด พร้อมสั่งการให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ สภาพอากาศ ปริมาณฝน สถานการณ์น้ำ และประเมินความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมถึงซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัยและหลังเกิดภัย เพื่อให้การป้องกันแก้ไขสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ทางด้านโครงการชลประทานตรัง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงไว้พร้อมแล้ว
โดยขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อติดตั้งในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขังในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ทั้งโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังดังกล่าว และโครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียง แม้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้แล้วบางส่วน ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินการตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วทั่วทั้งจังหวัด
พร้อมดำเนินแก้ไขเรียบร้อยแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามจังหวัดตรังได้ให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชน ให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แนวทางปฏิบัติตน และช่องทางการขอรับการช่วยเหลือเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน/ชุมชน เสียงตามสายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อวิทยุกระจายเสียง
สื่อสังคมออนไลน์ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด และหากพี่น้องประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: