สถานการณ์การเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไทย นับวัน ยิ่งพบอยู่ในช่วงอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ จำเป็นที่ผู้ใหญ่ต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพเด็ก เริ่มตั้งแต่ต้นทางโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินเหมาะสมตามวัย ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่
เด็กไทยไม่กินหวาน : วันที่ 28-30 มิถุนายน 2566 เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจกรรมต้นแบบในจังหวัดตรัง นำโดยดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายฯ
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวถึงสถานการณ์การเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไทย นับวัน ยิ่งพบอยู่ในช่วงอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นจึง จำเป็นที่ผู้ใหญ่ต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพเด็ก เริ่มตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินเหมาะสมตามวัย ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ รวมถึงปัญหาสุขภาพในช่องปาก การเกิดโรคฟันผุ ซึ่งการทำงานลงไปในระดับพื้นที่ ถือว่า มีความสำคัญมาก
ทพญ.ปิยะดา กล่าวถึง การทำงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานที่ผ่านมาได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายทั่วประเทศให้ร่วมดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบาย ประกาศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารว่างและเครื่องดื่ม รวมทั้งบูรณาการภาพรวมการจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) โรงเรียนอ่อนหวาน หน่วยงาน องค์กร ชุมชนอ่อนหวาน รวมถึงการเชื่อมโยงระบบอาหารชุมชนสำหรับพื้นที่จังหวัดตรัง ผู้จัดการเครือข่ายฯ กล่าวว่า เป็นจังหวัดแรกๆ ที่ทำงานกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มีนวัตกรรมออกมาเป็นระยะๆ เพื่อลดการกินหวานของเด็ก มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ และเข้มแข็ง ทั้งที่ รพ.กันตัง รพ.ตรัง รพ.นาโยง
“ตรังเป็นจังหวัดที่เข้าไปทำเรื่องการลดน้ำตาลในโรงครัว โรงอาหารในโรงเรียน ซึ่งมีการตรวจวัดออกมาชัดเจนว่า สามารถลดน้ำตาลลงไปได้กี่กิโลกรัม ต่อเดือน และเมื่อพบว่า เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีปัญหาเรื่องของฟันผุเยอะ เครือข่ายก็เข้าไปทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เน้นกระบวนการทำสื่อ ภาพวาด เพลง นิทาน ทำเมนูอ่อนหวานสำหรับเด็ก และขนมอ่อนหวาน มีชมรมผู้ดูแลเด็กเล็กที่เข้มแข็ง” ทพญ.ปิยะดา ระบุ และว่า แม้ช่วงหลัง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จะเน้นการทำงานกับร้านกาแฟอ่อนหวาน ตรังก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน และยังคงเน้นทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน โดยเฉพาะเข้าไปขยายผลประเด็นไม่กินหวานกับโรงเรียนขนาดใหญ่ได้
ข่าวน่าสนใจ:
“สภาราชินี จังหวัดตรัง” เป็นโรงเรียนรัฐขนาดใหญ่ในจังหวัดตรัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 13 ทพญ.อาภาพรรณี เขมวุฒิพงษ์ หัวหน้ากลุุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดตรัง เล่าว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการขับเคลื่อนตามนโยบายลดการบริโภคน้ำตาลของเด็กไทยในพื้นที่ เพื่อรณรงค์การบริโภคหวานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้ำหนักเกินเกณฑ์และโรคฟันผุ
“ที่โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง สำนักงานสาธารณสุขตรัง ได้เข้าไปจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน โดยมีกิจกรรม เช่น หวานน้อยสั่งได้ เพื่อให้นักเรียนปรับพฤติกรรมลดการบริโภคหวาน และสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย ให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม บันทึกการสั่งหวานน้อยผ่าน Google Form ผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนครั้งสูงสุด จะได้รับของที่ระลึกจากเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน”
ผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญจนออกเป็นประกาศ “นโยบายและแนวทางการดำเนินงานโรงอาหารอ่อนหวานในโรงเรียน” เช่น ไม่มีน้ำอัดลมจำหน่ายในโรงเรียน ให้บริการน้ำดื่มฟรี มีจุดบริการแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน พร้อมกันนี้การเรียนการสอนได้สอดแทรกนโยบายลดการบริโภคหวาน เข้าไปใน กลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น วิชาภาษาไทย มีเรื่อง ช้อนกลางสร้างสุข เครื่องดื่มที่ฉันเลือก การเลือกบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องร้อยละในชีวิตประจำวัน รวมทั้งวิชาการสังคม ภาษาอังกฤษ และการออกแบบกราฟฟิก ด้วย ขณะเดียวกันมีการตั้งชมรมอย.น้อย ที่สุ่มตรวจคุณภาพอาหารโรงอาหาร อยู่เป็นประจำ ลดการใช้เครื่องปรุง เพื่อลดหวานมันเค็ม กำหนดเมนูอาหารให้คร 5 หมู่ มีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารทุกวัน เป็นต้น”
ส่วนที่ โรงเรียนบ้านโคกยาง อ.กันตัง จ.ตรัง โรงเรียนขยายโอกาส ที่เปิดทาการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีการดำเนินงานให้โรงเรียนปลอดขนมหวานและปลอดน้ำอัดลม ภายใต้ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการและแนวทางการสร้างเสริมความรอบรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากและการเลือกรับบริการทางทันตกรรม
นางบุษราภรณ์ ศรีรักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกยาง กล่าวถึงการดำเนินการให้มีโรงอาหารอ่อนหวาน สหกรณ์ปลอดขนมหวาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานตรังหวานน้อย มีการจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง โครงการเกษตรอินทรีย์เพื่ออาหาร ปลูกผักกางมุ้ง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลาดุก เพื่อทำเป็นกลางวัน ส่งเข้าโรงอาหารอ่อนหวาน
ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ได้รับการคัดเลือก 1 อำเภอ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2565 จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และยังเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ่อนหวาน ต้นแบบความยั่งยืนที่ดำเนินงานตั้งแต่ ปี 2551 ที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องความใส่ใจจากผู้บริหารเทศบาลสู่เยาวชน ส่วนคุณครูสรรค์สร้างสื่อการสอน หนังสือนิทาน “น้ำหวานฟันสะอาด” “เด็กเล็กอ่อนหวาน” จนคว้ารางวัลหนังสือนิทานอันดับ 1 มาแล้ว โดยเฉพาะเมนูอาหารกลางวันของเด็กๆ จะเน้นเมนูอ่อนหวาน มีการตรวจวัดระดับน้ำตาล ควบคู่กับเรื่องของความสะอาด
เช่นเดียวกับที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ถือเป็นศูนย์กิจกรรมสานสัมพันธ์ชุมชน ผู้ดูแลเด็ก ร่วมสร้างนิสัยอ่อนหวานในวัยเยาว์ มีทั้งกิจกรรมแปรงฟันนักเรียน กิจกรรมชุมชน ผู้ดูแลเด็ก ที่เข้มแข็ง ผลักเปลี่ยนเข้ามาร่วมกันสอนภูมิปัญญาชาวบ้านให้เด็กๆ ได้ซึมซับกันตั้งแต่วัยเยาว์ รวมไปถึงชักชวนเด็กรักการกินผัก ผลไม้ ด้วยกิจกรรมผู้ดูแลเด็กและนักเรียนร่วมกันปลูกผัก จ.ตรังจึงนับเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนประเด็นของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่เข้มแข็ง ครบทุกไซด์ ครบทุกอำเภอ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: