X
ปูทองหลาง,ปูหน้าขาว,เลี้ยงปู,บ่อกุ้งร้าง,

เปลี่ยนบ่อกุ้งร้างมาเลี้ยงปูทองหลางโกยเงิน ครึ่งแสนต่อเดือน

เกษตรกรชาวอำเภอกันตัง จ.ตรัง ขานรับนโยบายการเลี้ยงปูทองหลาง หรือปูหน้าขาวในบ่อกุ้งร้างปีแรกของกรมประมง เพียง 3 เดือนปูมีน้ำหนักตั้งแต่ 5-6 ขีด เลี้ยงต่อไปอีก 45 วันจะได้ปูน้ำหนักตัวละ 1 กิโลกรัม ขายได้ราคาดีกว่าปูดำ โตเร็วกว่า และเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่ทำได้หลากหลายเมนูอร่อย

ปูทองหลาง : วันนี้(21 ก.ค.66) ที่บ่อกุ้งร้าง เนื้อที่ 3 ไร่ หมู่ที่ 4 ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง เดิมเป็นบ่อกุ้งของนายวิทยา ธนากรเจริญ ที่ได้หยุดเลี้ยงไปแล้วเพราะกู้งราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนสูง ขาดทุน  ปัจจุบันได้ยกให้ลูกชายคือนายวรุฒม์ ธนากรเจริญ อายุ 52 ปีเป็นผู้ดูแล ได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการตัดสินใจปรับเปลี่ยนบ่อที่เคยเลี้ยงกุ้ง หันมาเลี้ยงปูหน้าขาวหรือปูทองหลางเป็นปีแรก ตามโครงการพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงปูทะเลในบ่อกุ้งของกรมประมง เนื่องจากปูหน้าขาวเป็นปูทะเลที่โตเร็ว ได้น้ำหนักและราคาดีกว่าปูดำและปูม้า เนื้อปูแน่น  ก้ามโต ตัวใหญ่ รสชาติหวานมันกว่าเนื้อปูทะเลชนิดอื่น

ยังเป็นที่ต้องการของตลาดสูง แต่เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจจึงปล่อยบ่อกุ้งให้เป็นบ่อร้างมานานหลายปี จนกระทั่งสำนักงานประมงจังหวัด ได้จัดทำโครงการนำร่อง ชักชวนเกษตรกรในจ.ตรัง เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 ราย ๆ ละ 1 อำเภอ ๆ ละ 1 บ่อบนเนื้อที่บ่อละ 3 ไร่ ซึ่งแต่ละบ่อจะปล่อยลูกปูครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจำนวน 3,000 ตัว ปรากฏว่า 3 เดือนผ่านไป พบว่าปูหน้าขาวตัวผู้มีน้ำหนักตัวละ 5-6 ขีด ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักตัวละ 3-4 ขีด มีเนื้อแน่น ก้ามใหญ่ และมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังไม่ขายเพราะต้องการทำน้ำหนักให้ได้ตัวละ 8 ขีดถึง 1 กิโล ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 45 วัน จึงจับขายได้ในราคากิโลกรัมละ 350-500 บาท หรือตัวละ 500 บาท หากเป็นตัวผู้

โดยให้อาหารเป็นเนื้อปลาสดในช่วง 2 เดือนแรก วันละ 2 เวลาคือเช้า-เย็น พอย่างเข้าเดือนที่ 3 ให้อาหารวันละ 1 ครั้งๆ ละ 30 กิโลกรัม ไม่ต้องตีน้ำให้ออกซิเจน ไม่ต้องวัดค่าความเค็มของน้ำ น้ำกร่อยก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี  ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาก ลดความเสี่ยงและการลงทุนลงไปได้มาก นับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในจ.ตรัง ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งตรัง สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกปูหน้าขาว เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้แล้วในราคาตัวละ 3 บาท

หลังประสบความสำเร็จได้มีเกษตรกรจากหลายอำเภอ เดินทางมาศึกษาดูงานกันเป็นจำนวนมาก ส่วนตลาดรับซื้อก็เปิดกว้างรอวันที่เกษตรกรจับขายจนแทบจะแย่งกันมาซื้อถึงบ่อ   สามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งผัดพริกไทยดำ แกงส้ม นึ่ง เผา หลนปูไข่ ผัดผงกะหรี่ และอื่น ๆ  โดยในปี 2567 มีเกษตรกรเจ้าของบ่อกุ้งร้างในจ.ตรัง สนใจเลี้ยงปูหน้าขาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางรายเลี้ยงแค่ 3 เดือนก็จับขายได้แล้ว ส่วนเกษตรกรรายใดสนสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประมงจ.ตรังได้ทุกวัน ในวันและเวลาราชการ

ด้านนายวรุฒม์ ธนากรเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงปูหน้าขาวในอำเภอกันตัง จ.ตรังกล่าวว่า ดีกว่าการเลี้ยงกุ้ง เมื่อก่อนตนเลี้ยงกุ้งกุลาดำซึ่งต้องใช้ต้นทุนเยอะ แต่ตอนนี้อาหารคือให้ปลา และไม่ต้องตีน้ำ ตอนแรกปล่อยวันแรกถึงอายุ 2 เดือนให้อาหารวันละ 2 มื้อคือ เช้ากับเย็น พอหลังอายุ 2 เดือนให้อาหารเย็นเป็นเนื้อปลาวันละ 1 มื้อ ราคาขายตัวผู้กิโลละ 350 บาท ตัวเมียราคากิโลละ 500 บาท ตอนนี้จับขายได้แล้ว แต่ตนจะเลี้ยงต่อไปอีก เพราะปูหน้าขาวครบกำหนด 6 เดือนตอนนี้เพิ่งได้ 3 เดือน อายุยังน้อย เนื้อจะไม่ค่อยเต็ม

ตนจึงจะเลี้ยงให้ได้ 4 เดือนครึ่งก่อนจึงจะจับขาย หากโตเต็มที่จะมีน้ำหนัก 8 ขีด-1 กิโล ตอนนี้ได้ 5-6 ขีด ซึ่งเลี้ยงปูดีกว่าเพราะไม่เสี่ยง ส่วนตลาดก็ยังกว้าง ดีกว่าเลี้ยงอย่างอื่น เช่น เลี้ยงปลาตลาดบ้านเรายังไม่ดีสู้ภาคกลางไม่ได้ แต่ถ้าเลี้ยงปูบ้านเราโอเคเลย ส่วนรสชาติหวานดี และนี่คือปูตามโครงการเป็นปูขาว ซึ่งตนก็เคยเลี้ยงปูดำมานานแล้ว ถามว่าเลี้ยงปูอยู่ได้มั้ย ตอบว่ามีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท อยู่ได้อย่างสบาย ๆ

ขณะที่นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจ.ตรังกล่าวว่า ตอนนี้จ.ตรังได้ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปูหน้าขาวในบ่อกุ้งร้าง ซึ่งเป็นโครงการที่ของบพัฒนาจังหวัดปี 2566 นำร่องใน 5 อำเภอ ๆ ละ 1 บ่อต่อเกษตรกร 1 รายเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งจ.ตรังเองยังไม่เคยมีการเลี้ยงปูหน้าขาวหรือปูทองหลางมาก่อน ถือว่าเป็นครั้งแรก ซึ่งผลผลิตเท่าที่ได้ติดตามเป็นที่น่าพอใจโดยเลี้ยงมา 3 เดือนตัวผู้ได้น้ำหนักประมาณ 5-6 ขีด ตัวเมียประมาณ 3 ขีดกว่า ซึ่งผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนปูดำทั่วไปตัวจะตัวเล็กกว่าเมื่อใช้เวลาเลี้ยงเท่ากัน โดยมีน้ำหนักต่างกันครึ่งต่อครึ่ง แต่ปูดำที่เลี้ยงในเวลา 6 เดือนจะเป็นตัวเล็ก เนื้อแน่น ส่วนปูขาวเลี้ยง 3 เดือนถือว่ายังเป็นวัยรุ่นอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปจึงจะนำไปประกอบอาหารได้ดี.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน