X
เคาหยก,ร้านสีฟ้า,อาหารตรัง,เมนูเด็ด,

เปิดตำนานอาหารพื้นถิ่นจังหวัดตรัง “เคาหยก”

เคาหยก อาหารพื้นถิ่นจังหวัดตรัง ได้รับเลือกให้เป็น 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ชองกระทรวงวัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์อาหารของจังหวัดตรัง

นางจันทิมา มุณีกุล หรือพี่เอ๋ ผู้ประกอบการร้านสีฟ้าไลฟ์สไตล์ฟู้ด นำผู้สื่อข่าวเปิดครัว ดูขั้นตอนในการทำเคาหยก อาหารพื้นถิ่นจังหวัดตรัง ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะมาเป็นอาหารที่รสชาติอร่อย และมีความหมายที่เป็นมงคล โดยวัตถุดิบที่จะนำมาทำเคาหยกนั้น มีเครื่องปรุง เช่น เหล้าจีน หมูสามชั้น เผือก กระเทียม รากผักชี น้ำตาลแดง และอื่น ๆ ขั้นตอนการทำนั้น ทางร้านจะทอดหมู 3 ชั้น ให้สุกและนำมาใส่ในน้ำ แล้วเอาพักไว้ก่อนให้แห้ง

จากนั้น นำเครื่องปรุงดังกล่าว มาใส่กระทะเคี่ยวให้เข้ากัน จากนั้นหั่นหมู 3 ชั้น และเผือกเป็นชิ้นพอประมาณ แล้วนำมาใส่ในกระทะที่มีเครื่องปรุง รอจนกว่าส่วนผสมจะเข้ากันดี จากนั้นตักใส่ถ้วยแล้วนำไปนึ่งในหม้อนึ่งอีกครั้งหนึ่ง ใช้เวลานึ่งตามที่กำหนด เมื่อถึงเวลาก็นำออกแล้วนำมาคว่ำใส่จานดูสวยงามพร้อมเสริฟ์ให้กับลูกค้า การทำเคาหยกนั้นต้องใช้เวลาการทำประมาณ 1 วัน เนื้อหมูที่อยู่ในน้ำซอสถึงจะอร่อย

เคาหยก นางจันทิมา มุณีกุล ผู้ประกอบการร้านสีฟ้าไลฟ์สไตลฟู้ด อธิบายว่า เคาหยกเป็นอาหารจีนกวางตุ้งสมัยโบราณ สำหรับที่จังหวัดตรัง ชาติพันธุ์เชื้อสายจีนมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรังจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือชาวกวางตุ้งส่วนต้นตระกูล นั้นมาจากจีนกวางตุ้ง ภาษาที่ใช้คือ ภาษากวางตุ้ง เมนูนี้เป็นอาหารจีนกวางตุ้งเรียกว่า “เคาหยก” ที่แปลว่าหมูคว่ำเรียง ซึ่งเคาหยกมี 3 ภาษาที่เรียกขานกัน คือ ภาษาจีนกลาง เรียก ”โค่วโร่ว” ภาษากวางตุ้ง เรียก ”เคาหยก” และภาษาแต้จิ๋ว เรียก ”คะบะ” จะมีแค่ 3 ภาษาเท่านั้น

ในสมัยโบราณเมนูเคาหยกที่มีประวัติความเป็นมาคือจุงเป๋า (คนทำอาหารหรือพ่อครัวของจีน) ได้ทำเมนูในเทศกาลต่าง ๆ ในสมัยโบราณที่อพยพกันมาได้ทำเคาหยกในงานแต่งงาน งานเลี้ยงหรือไหว้เจ้า เมนูเคาหยกก็จะถูกนำมาวางบนโต๊ะในงานต่าง ๆ เช่น งานเทศกาลตรุษจีน งานเชงเม้ง งานเลี้ยงต่าง ๆ โดยชาวไทยเชื้อสายจีน มีความเชื่อว่า กินหมูแล้วทำอะไรก็ง่ายไปหมด หมูก็เลยเป็นอาหารมงคลของคนตรง เช่น หมูย่าง และเคาหยก ทั้งนี้ เคาหยกจะมีวัตถุดิบหลัก 2 อย่าง คือ หมู 3 ชั้นกับเผือก ความสวยของเมนูอยู่ที่เต้าหู้ยี้ที่เอามาเป็นส่วนผสมหลักในการทำเคาหยก เวลาทานเคาหยกต้องเอาไปคว่ำเรียงแล้วเอาไปนึ่ง เคาหยกมีความหมายคือ หยกแปลว่าหมู เคาหยกสองคำเอามาเรียกรวมกันคือ เนื้อหมูคว่ำเรียง ก็เลยเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่คนตรัง ที่อพยพมาจากเมืองจีน ทำเมนูนี้เพื่อความสวยงามของการจัดสรรวัตถุดิบ และกระบวนการปรุงอย่างพิถีพิถัน

ในส่วนของการนิยมทานเคาหยกนั้นมาจากความเชื่อที่รับกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ที่จะนำเคาหยกมาจัดวางบนโต๊ะอาหาร สำหรับบรรพบุรุษของตนนั้นเป็นจุงเป๋า ที่ลงอาหารตามงานเลี้ยงต่าง ๆ และมีความเชื่อว่างานเลี้ยงถ้ามีเคาหยกวางอยู่บนโต๊ะอาหาร บ่งบอกถึงฐานะอีกด้วย เนื่องจากเป็นเมนูที่มีความละเอียดอ่อน สวยงาม ในส่วนของเมนูเคาหยกนั้นมีตลอด ลูกค้าสามารถมาสั่งรับประทานได้ มีทั้งแบบรับประทานที่ร้านและแบบฟรีซเย็นสำหรับส่งให้ลูกค้าที่ต้องการสั่งทั่วประเทศ โดยนำเอาไปอุ่นรับประทานได้ทันที และสามารถฟรีซเก็บได้ประมาณ 1 เดือน ส่วนราคาจะอยู่ที่ 200-250 บาท ส่วนที่ส่งจะส่งที่ 250 บาท ยังไม่รวมค่าขนส่ง ผู้ที่สนใจเดินทางมารับประทานหรือสั่งซื้อ สามารถติดต่อที่เฟสซบุ๊กร้านสีฟ้าไลฟ์สไตล์ฟู้ดหรือโทร 075-210139

ในส่วนของการที่เคาหยกนั้นได้รับเลือกให้เป็น 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ชองกระทรวงวัฒนธรรม ตนเองรู้สึกดีใจที่มีการเห็นคุณค่าของเมนูเคาหยกของจังหวัดตรัง ซึ่งเคาหยกต้องใช้เวลาทำค่อนข้างนาน มีเรื่องราวจากบรรพบุรุษถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลัง เมนูเคาหยกนั้นเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ในวัฒนธรรมการกินของชาวจังหวัดตรัง และสามารถเก็บเอาเป็นมรดก สามารถต่อยอดได้ ส่วนที่มีการเรียกโกยุกนั้น คำว่าโกยุกไม่มีความหมายเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งได้พูดคุยกับทางวัฒนธรรมจังหวัดตรังแล้ว.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน