ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง เผยสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาการ์ตูนหรือ ปลานีโม่ ได้จำนวน 20 สายพันธุ์ ซึ่งปีนี้มียอดขายหลายแสนบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ก่อนจะส่งขายต่อทั้งในและต่างประเทศ และส่วนหนึ่งปล่อยคืนสู่ทะเลตรัง เพื่อเพิ่มประชากรปลานีโน่ประจำถิ่นต้อนรับนักท่องเที่ยว
ปลานีโม่ : วันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง น.ส พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ เผยความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปลาการ์ตูนหรือปลานีโม่ได้จำนวน 20 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งปลานีโม่ประจำถิ่นฝั่งตะวันออก ฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน สายพันธุ์ต่างประเทศและปลานีโม่ไฮบริค (ลูกผสม) เช่น ปลาการ์ตูนลายปล้อง การ์ตูนส้ม-ขาว การ์ตูนอานม้า การ์ตูนอินเดีย การ์ตูนมะเขือเทศ การ์ตูนแดง-ดำ การ์ตูนแดง การ์ตูนดำ การ์ตูนทอง การ์ตูนเพอร์คูล่า การ์ตูนปิกัสโซ่และอื่น ๆ ซึ่งมีสีสันที่สวยงามแตกต่างกันไป
โดยเปิดจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ นำไปเพาะเลี้ยงขายเป็นรายได้เสริม หรือเลี้ยงในตู้ปลาทะเล และส่วนหนึ่งซื้อไปปล่อยคืนสู่แนวปะการังตามถิ่นที่อยู่เดิมของปลาแต่ละชนิด ซึ่งขนาดความยาว 3-4 เซนติเมตร ราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 70 บาท-350 บาท แต่หากเป็นไซส์ใหญ่ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแต่ละปีจะมียอดจำหน่ายปลาการ์ตูนไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ตัว แต่ปีนี้มียอดจำหน่ายได้มากกว่า 50,000 ตัว สร้างรายได้เกือบ 1 ล้านบาทต่อปี
โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปขายต่อทั้งในและต่างประเทศ เช่น เวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งที่ขายดีที่สุดคือปลาการ์ตูนส้ม-ขาวและสายพันธุ์ปีกัสโซ่ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องสีสัน และความพลิ้วไหว ส่วนลูกค้าที่สนใจ สามารถไปเลือกตักเองได้ถึงบ่อ พร้อมมีนักวิชาการคอยให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาการ์ตูนด้วย ซึ่งตอนนี้ศูนย์วิจัยฯ มีปลาการ์ตูนทั้ง 20 ชนิดพร้อมจำหน่ายอีกจำนวน 2,000-3,000 ตัว และถือว่าเป็นแหล่งเพาะปลาการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
ด้าน น.ส พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรังกล่าวว่า ตอนนี้ผลิตปลาการ์ตูนได้ 20 ชนิดมีทั้งสายพันธุ์พื้นเมืองและสายพันธุ์ลูกผสม ส่วนที่ขายเป็นหลักคือส้ม-ขาวหรือนีโม่เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ไซส์ 3-4 เซนตัวละ 70 บาท ขายให้สำหรับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงเป็นปลาตู้ ปลาสวยงามหรือเอาไปปล่อยสู่ธรรมชาติ ในแหล่งที่มีปลาการ์ตูนธรมชาติอยู่แล้วที่มีดอกไม้ทะเล
ส่วนอีกตัวที่ขายได้เยอะและมีราคาดีคือปิกัสโซ่ ลายจะสวยมากต่างจากส้ม-ขาว ขนาด 3-4 เซน ราคาตัวละ 350 บาท ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ก็สวยแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด ของเรามีหลายชนิดมาก จึงเชิญชวนใครที่สนใจเพาะ หรือทดลองเลี้ยง ก็มาศึกษาเรียนรู้ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง ซึ่งปีนี้ขายได้ 50,000 ตัวขึ้นไป และปีนี้ขายได้เยอะขึ้น โดยศูนย์ฯ ที่ผลิตปลาการ์ตูนได้ในภาคใต้มีอยู่ประมาณ 2-3 ที่ ของจ.ตรังก็เป็นแหล่งหนึ่งที่เราผลิตได้เยอะ แต่จุดเด่นของปลาการ์ตูนที่ตรังคือมีหลายสายพันธุ์ ทั้งลูกผสมและพันธุ์พื้นเมือง และผู้ที่สนใจหรือพ่อค้าสามารถมาเลือกได้เอง ตักได้เองเลย ผู้ที่สนใจติดต่อได้ทาง FB ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 075-274077-8 ในวันและเวลาราชการ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: