X
สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ "ท่ามเฮง" ,สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ, ท่ามเฮง, ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ประชาธิปัตย์ เขต 3 จ.ตรัง, ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ตรัง,บทสัมภาษณ์พิเศษส.ส., ลูกสาวสมชาย โล่สถาพรพิพิธ,ทายาทการเมือง,

สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ “ท่ามเฮง” คลื่นลูกใหม่ ทายาทการเมืองพร้อมทำงานเพื่อจังหวัดตรัง

นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ หรือ น้องท่ามเฮง ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จ.ตรัง มีประวัติที่น่าสนใจหลายด้านด้วยกัน กับบทสัมภาษณ์พิเศษ

นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ “ท่ามเฮง”

สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ “ท่ามเฮง” คลื่นลูกใหม่ ทายาทการเมืองพร้อมทำงานเพื่อจังหวัดตรัง

นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ หรือ น้องท่ามเฮง อายุ 27 ปี เป็นบุตรของ นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ กับนางรัชดาพร โล่สถาพรพิพิธ

ประวัติการศึกษา

·       ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จบ 3 ปีครึ่ง)

·       เนติบัณฑิตไทย สมัย 67

·       ปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายประกันภัย (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

·       ปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยเค้นท์ กรุงแคนเทอร์เบอรี่ ประเทศอังกฤษ

ประวัติการทำงาน

·       อดีตเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (นายกิจ หลีกภัย)

·       รองประธานสมาคมคนไทยในมหาวิทยาลัยเค้นท์ (หัวหน่ายฝ่ายกิจกรรม) ในระหว่างศึกษาระดับปริญญาโท ณ กรุงแคนเทอร์เบอรี่ ประเทศอังกฤษ

·       อดีตสมาชิกชมรมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของหอการค้า (YEC) จังหวัดตรัง

·       ตัวแทนนำเสนอศักยภาพของท่าเรือนานาชาติตรัง (ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ) ในงานกันตังฟอรั่ม (KANTANG FORUM) ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

·       ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนิวเด็ม (NEW DEM) คนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์

·       ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จ.ตรัง

มุมมองในการพัฒนาจังหวัดตรังและประเทศไทย

ดิฉันเป็นคนโชคดีที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณพ่อสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ทำงานทางด้านการเมืองมานานทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และมักจะพาลูกๆลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านบ่อยครั้ง ทำให้ดิฉันได้คลุกคลีและรับรู้ถึงความรู้สึกทุกข์สุขของคนในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นภาพที่ชาวบ้านเข้ามาสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนต่อคุณพ่อเป็นภาพที่ดิฉันคุ้นเคย นอกจากนี้โดยส่วนตัวของดิฉันเองได้มีโอกาสได้เรียนรู้งานระดับท้องถิ่นโดยตรงในขณะดำรงตำแหน่งเลขาฯนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง รวมถึงมีโอกาสได้เรียนรู้งานบางส่วนในระดับประเทศในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติเพราะเคยติดตามและเรียนรู้งานจากคุณพ่อ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ดิฉันเห็นภาพโครงสร้างต่างๆในระดับจังหวัดและประเทศได้ชัดขึ้นและประสบการณ์ทำให้เรียนรู้ว่าทุกภาคส่วนในสังคมมีความสัมพันธ์กัน ถ้าเปรียบสังคมเราเสมือนเครื่องจักร แต่ละองค์กรในสังคมก็เหมือนฟันเฟืองเล็กๆ เครื่องจักรจะเดินไปข้างหน้าได้ ฟันเฟืองแต่ละตัวต้องมีประสิทธิภาพและทำงานไปพร้อมๆกัน

        จังหวัดตรังของเรามีจุดเด่นในเรื่องของจุดยุทธศาสตร์ ด้วยทำเลที่ตั้งเองทำให้ตรังมีความพร้อมในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ มีทั้งป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำตก ภูเขา และทะเลสวย ฉะนั้นการท่องเที่ยวในจังหวัดตรังควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริม เพราะดิฉันเชื่อว่าการท่องเที่ยวสามารถนำมาเป็นจุดขายหลักที่สามารถทำรายได้เข้าจังหวัดมหาศาล ถ้าภาคท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมจะส่งผลดีต่อภาคบริการและฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยซึ่งทำรายได้อันดับ 1 ในมุมมองส่วนตัวอำเภอหาดสำราญมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตรังที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดทะเล วิถีชีวิตชาวบ้านแถวนั้นน่าสนใจ และยังได้รับการรับรองจากกรมควบคุมมลพิษให้เป็นปอดแห่งใหม่ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศดีเป็นลำดับต้นๆของเมืองไทย

แต่การที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น คิดว่าการคมนาคมต้องมีการพัฒนาไปพร้อมๆกัน ท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณะที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไร ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการให้บริการรถโดยสารประจำทาง(สีม่วง)รอบตัวเมืองตรัง โดยมีจุดรับส่งผู้โดยสารเริ่มจากสนามบิน ไปจนถึงสถานศึกษาเพราะคิดว่าเป็นรูปแบบการบริการที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้จริง แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตก็อยากให้มีการขยายเส้นทางไปต่างอำเภอและเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง

นอกเหนือจากทรัพยากรธรรมชาติ ดิฉันเชื่อว่าจังหวัดตรังยังมีความพร้อมในทรัพยากรบุคคล ค่านิยมเดิมๆในการประกอบอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียวควรจะถูกเปลี่ยน ที่เห็นได้ชัดเจน คือคนตรังส่วนใหญ่ฝากชีวิตไว้กับพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ไม่ได้มีอาชีพเสริม ทำให้เมื่อราคายางพาราตกต่ำก็จะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่เนื่องจากรายได้ต่อครัวเรือนลดน้อยลง บางครอบครัวถึงกับมีรายได้ไม่พอส่งลูกหลานเรียน ทำให้กระทบไปถึงเรื่องการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะช่วยคนตรังในการหาทางออกในเรื่องของราคายางและปาล์มแล้ว ดิฉันจะสนับสนุนและสร้างค่านิยมให้แต่ละครอบครัวมีการประกอบอาชีพเสริมไม่ยึดติดกับราคาพืชผล ตอนนี้ส่วนตัวกำลังศึกษาและผลักดันในเรื่องของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพราะอยากจะแก้ไขปัญหาการว่างงาน และเพิ่มรายได้ให้แต่ละครัวเรือน เพื่อสนับสนุนช่วยชาวบ้านอีกทางหนึ่ง ส่งเสริมให้ปลูกพืชที่มีแนวโน้มจะเป็นพืชเศรษฐกิจได้ เช่น พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน, ต้นสะตอพันธุ์ตรัง1 เป็นต้น

นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจ จังหวัดตรังเองมีท่าเรือนานาชาติตรัง (ท่าเรือบ้านนาเกลือ) อยู่ที่อำเภอกันตังซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ด้วยทำเลของจังหวัดตรังและที่ตั้งของท่าเรือ ถือได้ว่าจังหวัดตรังมีศักยภาพที่จะเป็นประตูสู่อันดามัน ทุกภาคส่วนควรช่วยกันทำให้ท่าเรือแห่งนี้เกิด นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการส่งออกสินค้าให้กับผู้ประกอบการในจังหวัด ยังเป็นการเพิ่มสถิติการส่งออกให้กับประเทศอีกด้วย โดยส่วนตัวเคยได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในการนำเสนอศักยภาพของท่าเรือนานาชาติตรังต่อชาวต่างชาติบ่อยครั้ง และตั้งใจจะสานต่อเพื่อผลักดันให้เป็นท่าเรือแห่งความภาคภูมิใจของชาวตรัง

ดิฉันตั้งใจจะเข้ามาทำงานเพื่อสังคม นำความรู้ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สานต่อ ปรับปรุง ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย และตั้งใจเข้ามาเป็นตัวช่วยประสานทุกภาคส่วนให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเมืองตรังไปข้างหน้า เพราะดิฉันยังคงเชื่อว่าทุกภาคส่วนมีจุดที่เชื่อมต่อกันได้

ปีใหม่นี้น้องท่ามเฮงอวยพรปีใหม่ให้คนไทยและคนตรังหน่อย

“ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ ในสิ่งอันพึงปรารถนาตลอดไป”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน