ไก่ดำภูพานเกิดจากการคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ โดย อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีจำหน่ายลูกพันธุ์ไก่แล้วที่ตรัง
ไก่ดำภูพาน บินไกลมาขยายพันธุ์สร้างอาชีพให้คนใต้ ไก่ดำ KU-ภูพาน จะมี 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ สายพันธุ์ 1 จะมีลักษณะเด่นคือ ขนสีดำ สายพันธุ์ 2 จะมีลักษณะเด่นคือ ขนสีขาว และสายพันธุ์ 3 จะมีลักษณะเด่นคือ ขนสีเหลืองทอง ทั้ง 3 สายพันธุ์ จะมีเนื้อสีดำ,ปาก,ลิ้น,หงอน,เล็บ,แข้งขา,กระดูก,เครื่องใน เป็นสีดำหมด การพัฒนาไก่ดำ KU-ภูพาน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ดำ KU -ภูพาน เพื่อบริโภคในครัวเรือนและแบ่งจำหน่ายสร้างรายได้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
แต่หลังจากมีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ออกไป ไก่ดำเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ทราบได้ว่า ความต้องการของไก่ดำทั้งการเลี้ยง และการบริโภคสูงมาก จังหวัดตรัง โดยนายถาวร เลี้ยงสกุล เป็นคนแรกที่นำพ่อแม่พันธุ์ไก่ดำ KU-ภูพาน มาเพาะเลี้ยงที่ฟาร์ม “ไก่ดำภูพาน ดวงใจฟาร์ม” เลขที่ 419/2 ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
เพาะเลี้ยงเพื่อบริโภคและจำหน่ายลูกพันธุ์ในราคาถูก แก่เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยง เชิงพานิช ซึ่งเป็นผลสำเร็จ สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกไก่ได้หลายรุ่นๆ ละ 50-100 ตัว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตร
นายถาวร เลี้ยงสกุล จะเน้นให้เกษตรกรเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อประหยัดต้นทุน ด้วยการนำข้าวงอก หยวกกล้วย ใบเตย มาเป็นอาหาร และปล่อยให้หากิน มด แมลงในสวนยางพารา จะทำให้ไก่สุขภาพดี โตเร็วอัตราแลกเนื้อสูง ที่สำคัญในข้าวงอกจะมีโปรตีนสูง ย่อยง่าย แถมมีสาร Gaba (กาบา) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำดี และลดการสะสมของไขมัน หยวกกล้วยหมัก จะช่วยในการย่อยอาหารมีโปรตีนสูง
และใบเตยจะทำให้ไก่มีกลิ่นหอมลดการสะสมของกรดยูริค และเพรียวรีน ปัจจุบันไก่ดำ KU-ภูพาน เลี้ยงเพียง 3-4 เดือนก็สามารถนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้แล้ว ราคาจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150-200 บาท ไก่ดำ KU-ภูพาน จะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเยอะมาก
เพราะในไก่ดำ KU-ภูพาน จะมีสาร เมลานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ชะลอความแก่ ลดการเกิดฝ้า ลดปวดประจำเดือนอีกทั้งมีสารคาร์โนลีน (Carnosine) ที่มากกว่าไก่ทั่วไปอยู่ 2 เท่า ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชะลอความแก่ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น โลหิตจาง
ซึ่งขณะนี้นายถาวร เลี้ยงสกุล กำลังจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้และเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้เลย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: