ชาวบ้านมุสลิม กว่า 20 คน ร่วมเรียนรู้การทำขนมลาจากผู้ทรงภูมิปัญญาในท้องถิ่น เพื่อสืบสานให้อยู่คู่กับชุมชน
ขนมลาเป็นขนมพื้นบ้านของภาคใต้ ถือเป็นขนมที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และเป็นขนมที่ใช้ในงานบุญสำคัญทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม แต่ปัจจุบันจะไม่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต เด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกับขนมลากันมากนัก
กศน.อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง โดยนางสาวรอฮานี อาแวกาจิ ผู้อำนวยการ เห็นถึงความสำคัญถึงคุณค่าของขนมลา จึงให้ครู กศน.ตำบล ลงพื้นที่สำรวจชาวบ้านในชุมชนที่สนใจ กว่า 20 คน เข้ามาร่วมเรียนรู้การทำขนมลาโบราณ จากนางสาวสุภาพร ไชยมล อยู่บ้านเลขที่ 29/6 ม.5 บ้านนาควน ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง เป็นผู้ที่ทำขนมลา สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่สำคัญคือขนมลา ใช้วัตถุดิบน้อย ราคาถูก แต่ได้ปริมาณขนมเยอะ
ซึ่งวัตถุดิบประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้า 1 กิโลกรัม แป้งมันสำปะหลัง 2.5 กรัม น้ำตาลทราย 6 กรัม และน้ำสะอาด 1 ถ้วย ขั้นตอนการทำก็ไม่ยุ่งยาก โดยนำน้ำสะอาดเทผสมกับน้ำตาลทรายคนให้ละลาย แล้วเทแป้งข้าเจ้า แป้งมันสำปะหลังลงไปผสม จากนั้นนวดแป้งให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 40 นาที จากนั้นนำแป้งที่มัดได้ที่แล้วมานวดอีกครั้ง จากนั้นก็น้ำแป้งใส่ในภาชนะที่ทำจาก กะลามะพร้าวที่เจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้แป้งไหลผ่านได้ แล้วนำไปร่อนในน้ำมันที่ร้อนปานกลาง
โดยใช่ไม้ไผ่ขาดเท่าไม่ตะเกียบ ยาว 1 ฟุต เคาะที่กะลาเพื่อให้แป้งไหลลงอย่างช้าๆ จะได้เส้นขนมลาที่สวยงาม ต่อไปก็ใช้ไม้ไผ่มาพับขนมลา แล้วยกไปพักเพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน เป็นอันเสร็จสิ้น ส่วนที่มาของขนมลา นางสาวเบ็ญจพร แข็งแรง ครู กศน.กล่าวว่า ขนมลา คือขนมที่บรรพบุรุษ ใช้กะลามะพร้าวมาเจาะรูเพื่อใช้เป็นภาชนะในการใส่แป้งเพราะสมัยก่อนไม่มีภาชนะที่เป็นพลาสติกหรือสแตนเลสเหมือนปัจจุบันนี้
เลยเชื่อกันว่ากะลาคือชื่อของขนมลา นั้นเอง ซึ่งขนมลาที่ทำได้จะนำไปฝากขายที่ร้านค้าชุมชน ในหมู่บ้าน และตลาดประชารัฐ ขายในราคา 2 ชิ้น 5 บาท เท่านั้นเองถือว่าถูกมากๆ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กศน.อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: