X

เปิดตำนานลูกลมจังหวัดตรัง

ตรัง: เปิดตำนานลูกลมจังหวัดตรังลูกลม นับเป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานับ 100 ปี ของชาวบ้านตำบลนาหมื่นศรี มีการสืบสานประเพณีดังกล่าวด้วยการจัดงาน “แลลูกลม ชมถ้ำช้างหาย” ต่อกันมาเป็นปีที่ 20   

นายประเสริฐ  คงหมุน ผู้เฒ่าวัยจะ 80 ปี  ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำลูกลม และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การแข่งขันลูกลม ปี2536 บริเวณเขาช้างหาย  เล่าถึงประวัติความเป็นมาของลูกลม ว่า ลูกลม เป็นเรื่องเทพนิยายโบราณ ที่เล่าสืบต่อกันมา เป็นเรื่องของครอบครัวเล็กๆของพระพายบนสวรรค์ วันหนึ่งเป็นวันฤดูเก็บข้าว (เกี่ยวข้าว) ซึ่งบนสวรรค์มีฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเหมือนกันนะครับ ลมพัดแรงเมื่อข้าวในนาเริ่มสุก มีนกกา นกไผ นกเสียก (นกกระจาบ) และนกอื่นๆ ออกมากินข้าวของพระพาย พระพายไม่มีเวลาเฝ้านกทุกวัน เพราะต้องไปอยู่เวรพัดลมทำความเย็นให้เทวดา จึงมอบให้ลูกลมลูกของพระพายทำหน้าที่โห่นก ไล่กาแทน

ลูกลมซึ่งขี้เกียจแต่มีปัญญา จึงคิดวิธีที่จะไม่ใช้เสียงของตนในการไล่นกไล่กา จึงได้ตัดไม้ไผ่ให้แบนเหลาให้บิดๆเบี้ยวๆ คาดเป็นกากบาททับกันหลายๆอันเพื่อดักลมให้หมุนไปซ้ายไปขวาได้ เพราะเมื่อไม้ดังกล่าวโต้ลมก็จะหมุนคล้ายกังหันวิดน้ำ และมีเสียงดังจากดังนี้ทำให้นกกา กลัวไม่กล้ามากินข้าวในนาทำความพอใจให้ลูกลม ลูกพระพายเป็นอย่างมาก พระพายกลับมาจากเข้าเวร เห็นลูกทำอะไรแปลกๆทำไม้ดักลมมีเสียงไพเราะ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง น่าฟัง

วันต่อมาพระพายต้องไปเข้าเวรพัดลมให้เทวดา ก็ถือโอกาสเสนอผลงานของลูกให้เทวดาทราบเมื่อเทวดาทราบ ก็แสดงความชื่นชมเป็นความคิดที่ดี เฉลียวฉลาด เห็นควรเผยแพร่ไปยังเมืองมนุษย์ จึงเรียกเวศนู ซึ่งเป็นทหารเอกให้เข้าเฝ้าเพื่อบัญชีให้เวศนู ไปเผยแพร่ลูกลมให้มนุษย์ ได้ทำจึงเป็นที่แพร่หลายตั้งแต่นั้นมา จึงมีการเล่นลูกลมในฤดูเกี่ยวข้าวกัน โดยเฉพาะทางภาคใต้และจังหวัดตรัง ตำบลนาหมื่นศรี ก็สืบทอดเรื่องลูกลมจนถึงทุกวัน

การทำลูกลมในสมัยโบราณ มีกระดาษ ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้มุก ไม้ปอจง ไม้คำจัด ไม้เป้อ หวายหรือย่านลิเภา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการลูกลมปัจจุบัน เริ่มจากการพับกระดาษเล่นของเด็กๆทำเป็นรูปวงกลมโดยพับให้โต้ลมได้และเมื่อลมพัดต่อมาได้ใช้กาบไม้ไผ่ ตัดเป็นชิ้นทำเหมือนกระดาษ เมื่อเห็นการใช้ไม้ก็หันได้เริ่มใช้ไม้เนื้ออ่อนโดยผ่าและเหลาให้ได้ขนาดอย่างสวยงาม

ปัจจุบันมีการนำเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์งานไม้เข้ามาทำลูกลมเพราะสะดวก รวดเร็วสวยงาม แต่ยังคงใช้วัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น อย่างเช่น ไม้ไผ่ ใบและลำต้นของหวาย กาบมะพร้าว กาบหมาก เป็นต้น สำหรับผู้ทำสำหรับการแข่งขัน จัดให้มี 3 ขนาด ใช้เสียงและเครื่องประดับตกแต่งตัวตัดสินคือ 1.ขนาดเล็ก(จิ๋ว) ความยาวไม่น้อยกว่า 1 เมตร 2.ขนาดกลาง ความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3.ขนาดใหญ่ มีความยาวตั้งแต่ 2เมตรขึ้นไป  การตกแต่งเครื่องทรงไม่จำกัด

ซึ่งนายประเสริฐ  คงหมุน กล่าวทิ้งท้ายว่าตนและผู้นำชุมชนในตำบลนาหมื่นศรี ร่วมอนุรักษ์ สืบสานประเพณีการเล่นลูกลมมาเป็นปีที่ 20 แล้ว ก่อนหน้านี้จะเป็นการทำลูกลมว้าเพื่อไล่นก ไล่กา ไม่ให้มากินข้าวที่รอการเก็บเกี่ยวเท่านั้น ระยะหลังมีการจัดงาน “แลลูกลม ชมถ้ำช้างหาย” ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 20 แล้ว ดีใจที่คนตรังและนักท่องเที่ยวให้ความความสนใจมาเที่ยวมาชมลูกลมกันเป็นจำนวนมาก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน