รมว.ทส.แถลงสาเหตุการตายของ มาเรียม เกิดอาการช๊อค และพบเศษพลาสติกเล็กๆ ขวางลำไส้จนมีการอุดตันบางส่วนและอักเสบ มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง
มาเรียม : นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า มาเรียมถือเป็นพะยูนตัวแรกของไทยและของโลกที่มนุษย์ให้นม ในสภาวะธรรมชาติ การดูแลมาเรียมเป็นงานที่เหนื่อยและยากลำบาก ต้องใช้องค์ความรู้งานวิชาการหลายด้าน แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านก็ได้พยายามดูแลมาเรียมตลอดมาอย่างเต็มที่ด้วยความรู้สึกผูกพันกับมาเรียมเหมือนลูกหลานของตัวเอง
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่มาเรียมออกไปท่องทะเลกว้างกับทีมสัตวแพทย์ มาเรียมเจอพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคาม จนหนีกลับเข้าอ่าวและมีภาวะเครียด แม้จะกินสารอาหารวิตามินและน้ำหญ้าปั่นแทน แต่มาเรียมยังไม่ค่อยดื่มนม จึงมีอาการอ่อนเพลียให้เห็น ไม่ร่าเริง ไม่ค่อยว่ายน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด
ต่อมาวันที่ 11 ส.ค. 62 เจ้าหน้าที่มีการประชุมกันและตัดสินใจเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เพราะพบยังมีอาการน่าเป็นห่วง จนวันที่ 15 ส.ค.62 ทีมสัตวแพทย์ได้ย้ายมาเรียมไปดูแลในบ่อชั่วคราว และเมื่อวันที่ 17 ส.ค.62 เวลา 00.09 น. มาเรียมได้จากไปอย่างสงบ เกิดจากการช๊อค นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา
ด้าน รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 16 สิงหาคม 2562 มาเรียม มีอาการลอยนิ่ง จากนั้นทีมสัตวแพทย์ตรวจไม่พบชีพจร และการตอบสนอง ทั้งมาเรียมยังไม่สามารถทรงตัวในน้ำได้ จึงรีบทำการกู้ชีพและกระตุ้นการหายใจ
โดยกระทำเหนือน้ำ จนเริ่มตรวจพบการตอบสนอง โดยสามารถกระพริบตา และตอบสนองต่อการสัมผัสได้ จึงนำมาเรียมลงประคองในน้ำ แต่สัญญานชีพ ได้หายไปอีกครั้งเวลา 23.45 น. จึงต้องนำขึ้นจากน้ำอีกครั้งเพื่อทำการกู้ชีพ ด้วยยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นการหายใจ การใช้สารน้ำ แต่เนื่องจากไม่สามารถกู้ชีพกลับมาได้ จึงตัดสินว่ามาเรียมเสียชีวิต ที่เวลา 00.09 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2562
ผลการชันสูตรซากพะยูนมาเรียม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ได้ทำการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย โดยสภาพภายนอก พบรอยขูดขีด ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แพนหาง โดยตำแหน่งใกล้เคียงกันพบจ้ำเลือด ขนาด 2-3 เซนติเมตร ซึ่งสอดคล้องกับผลเลือด ที่พบสภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดจุดเลือดออกได้ง่าย ภายในช่องปาก พบแผลในปากจำนวนหนึ่ง
ส่วนของอวัยวะภายในพบว่ากล้ามเนื้อมีสีซีดกว่าปกติมาก เนื่องจากมาเรียมมีการใช้พลังงานต่อวันเท่าเดิมในทุกวัน แต่ไม่สามารถรับอาหารได้ จึงมีการย่อยสลายส่วนของกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน รวมทั้งภาวะทุพโภชนาการ ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง โปรตีนในเลือดต่ำ และการติดเชื้อในช่องอกและทางเดินหายใจ ปอดมีสีซีดและเกิดการโป่งพอง เกิดก้อนหนองแทรกตามเนื้อปอด โดยเฉพาะปอดข้างซ้าย พบรอยช้ำของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องและผนังช่องท้องด้านใน
คาดว่าเกิดจากการกระแทกของพะยูนตัวผู้ ตับมีสีเหลืองเนื่องจากการไม่รับอาหารมาเป็นเวลานาน มีจุดเนื้อตายและหนองบนตับ หัวใจพบเลือดเล็กน้อย และบีบตัวแข็งจากการเกิดสภาวะช็อค และส่วนของระบบทางเดินอาหารและมีการสะสมของแก๊สจำนวนมากตามทางเดินอาหาร ซึ่งคาดว่ามาจากการที่กระเพาะอาหารมีการเคลื่อนตัวและบีบตัวลดลง
ตลอดลำไส้เล็กอักเสบพบจุดเนื้อตายสีขาว และพบมีการหนาตัวและมีเนื้อตายเคลือบด้านในของผนังลำไส้และพบขยะประเภทเศษถุงพลาสติกจำนวน ๘ ชิ้น อัดแน่นกันอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทั้งนี้เนื่องจากมาเรียมมีสภาวะขาดน้ำที่รุนแรง ทำให้ส่งผลต่อการบีบตัวของทางเดินอาหารลดลงหรือไม่เคลื่อนที่ ทำให้เกิดการสะสมของแก็สในทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก ทำให้เกิดสภาวะช็อคเนื่องจากความเจ็บปวด และเสียชีวิตลงทันที
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้าย ในนามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอกราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก และทรงรับไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา และทรงพระราชทานกำลังใจให้กับทีมงานที่ดูแลพะยูนตลอดมา
อีกทั้งต้องขอขอบคุณทีมสัตวแพทย์ กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทีมพิทักษ์ดุหยง อาสาสมัคร และผู้นำท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันดูแล อนุบาล และฟื้นฟูน้องมาเรียมอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่แรกพบจนถึงมาเรียมได้จากเราไปอย่างสงบ ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำซากมาเรียมมาสตาฟเพื่อเป็นโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้และการอนุรักษ์ต่อไป
พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล ปกป้อง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ชาวประมงในพื้นที่ เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณขยะทะเล และจะจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนของประเทศไทย รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อให้เป็น “มาเรียมโปรเจค” ใช้เป็นประโยชน์ในการดูแลพะยูน เพื่อนำไปเป็นแนวทางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมพะยูนโลกที่จะจัดในปีหน้าต่อไป
ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช/ภาพ-ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: