จากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักอ่าน” เป็นที่ตระหนักว่า การอ่าน เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และประเทศชาติ
เนื่องเพราะการอ่านคือรากฐานในการดำเนินชีวิตและการศึกษาหาความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้พื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารก็ตาม เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองเพิ่มพูนความรู้จากการอ่าน นางวัชรี นายโท บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ห้องสมุดประชาชนอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ผู้ที่ตระหนักในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะส่งเสริมการอ่านให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารก็ตาม
ห้องสมุดประชาชนอำเภอปะเหลียนตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนค่อนข้างมาก และการเดินทางไปมาก็ไม่สะดวกเนื่องจากเป็นอำเภอที่ไม่มีรถยนต์โดยสารวิ่งผ่าน ประชาชนต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทางเข้ามาในตัวอำเภอ ประกอบกับห้องสมุดตั้งอยู่ในมุมอับไม่ติดกับถนนใหญ่ ไม่สามารถมองเห็นจากถนนสายหลักได้ ผู้ใช้บริการที่มาใช้ห้องสมุดจึงต้องใช้รถส่วนตัวและต้องมีความตั้งใจจริงที่จะมาใช้บริการห้องสมุด ฉะนั้นสมาชิกห้องสมุดที่มาใช้บริการห้องสมุดเป็นคนที่รักการอ่านอย่างแท้จริงแต่มีจำนวนไม่มากนัก
จากสภาพปัญหาดังกล่าวนางวัชรี นายโท บรรณารักษ์ฯ พบว่า การที่จะให้สมาชิกที่สามารถเดินทางมาใช้บริการห้องสมุดเป็นสื่อกลางในการช่วยส่งเสริมการอ่านให้กับคนที่ไม่สามารถมาใช้บริการห้องสมุดได้อ่านหนังสือได้เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ จึงได้พูดคุยเชิญชวนสมาชิกที่มาใช้บริการเป็นประจำ เข้าร่วมเป็น “อาสาสมัครรักการอ่าน”ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร
และเป็นทีมการสนับสนุน ส่งเสริมการอ่าน ให้บริการหนังสือ ผู้ที่เป็นอาสาสมัครรักการอ่าน ต้องจะรวบรวมข้อมูลชื่อหนังสือที่เพื่อนในหมู่บ้านต้องการ เมื่อมีเวลาว่างก็จะเดินทางมาแจ้งบรรณารักษ์จัดหนังสือให้ (ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้เนื่องจากในพื้นที่ไม่สัญญาณ) และนำมาคืนเมื่อสมาชิกทุกคนอ่านหมดทุกเล่ม(ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 วัน)
ข่าวน่าสนใจ:
นางกัลยา แก้วจินดา อาชีพกรีดยาง อาศัยอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลลิพัง อยู่ห่างจากห้องสมุดประมาณ 19 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคมเป็นถนนลูกรัง มายืมหนังสือประมาณ 30-40 เล่ม ประเภทหนังสือที่ยืมได้แก่ นวนิยาย หนังสือสำหรับเด็ก รับผิดชอบสมาชิก ประมาณ 8-10 หลังคาเรือน เธอกล่าวว่าการอ่านสามรถลดอบายมุขอย่างหวยรายวัน การตั้งวงเล่นไพ่ ได้ และเมื่อนำหนังสือ ที่อ่านมาคืนบางครั้งจะเปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นสีแดง
นายสุพรรณ ด้วงหมุน อายุ 48 ปี อาชีพเกษตรกร อาศัยอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลลิพัง อยู่ห่างจากห้องสมุด 25 กิโลเมตร มายืมหนังสือประมาณ 30-34 เล่ม ประเภทหนังสือที่ยืมได้แก่ นวนิยาย รับผิดชอบสมาชิกประมาณ 15 หลังคาเรือน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ตนเองมีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักอ่าน”ครั้งเสด็จทรงงานที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหินจอก ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เห็นพระหัตถ์ของพระองค์ถือสมุด หนังสืออยู่ตลอดเวลา และพระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักอ่านนักพัฒนา ตนเองเลยตั้งปณิธานว่าจะส่งเสริมการอ่านให้กับคนในหมู่บ้านได้มีโอกาสพัฒนาตนเองด้วยการอ่านและสมัครเป็นอาสาสมัครรักการอ่านกับห้องสมุดประชาชนอำเภอปะเหลียนและนำหนังสือมาให้คนในหมู่บ้านได้อ่านมากว่า 4 ปีและจะทำต่อไป
นอกจากอาสาสมัครในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร แล้ว ยังมีอาสาสมัครที่รักการอ่านในตำบลอื่นๆที่ยังเป็นอาสาสมัครที่เข้มแข็ง อีก 24 คน ที่ได้ช่วยนำหนังสือจากห้องสมุดไปส่งเสริมให้เพื่อนในละแวกบ้านเดียวกันได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่ตนเองชอบ โดยอาสาสมัครทุกคน มีความคิดเหมือนกันว่า “ถึงแม้เราจะอยู่ห่างไกล แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่ห่างไกลหนังสือ เรายังโชคดีที่มีห้องสมุดและหนังสือดี ๆให้อ่าน”
จากผลการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ได้แก้ปัญหาการยืม คืน การใช้บริการการอ่าน ในห้องสมุดได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญหนังสือกลับมีชีวิตสามารถเดินทางไปอยู่ในมือของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้ อีกทั้ง ส่งผลให้สมาชิกที่ไม่สามารถเดินทางมาห้องสมุด มีโอกาสอ่านหนังสือตามความสนใจ สามารถนำความรู้จากการอ่านไปพัฒนาตนเอง ครอบครัวและชุมชนให้ดียิ่งขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: