ผู้ว่าฯ อัศวิน นำทีมปล่อยโดรนพ่นละอองน้ำ 6 จุดทั่วกรุงฯ ยอมรับตรงๆ “ผมไม่รู้” ออกปากเชิญผ่านสื่อให้ผู้มีความรู้เข้ามาให้ข้อมูล 14.00 น. วันนี้
(31 ม.ค. 62)ที่ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีปล่อยขบวนหน่วยปฏิบัติการแก้วิกฤติมลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร และปล่อยอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน 6 ลำ ขึ้นบินเพื่อฉีดพ่นละอองน้ำที่มีขนาดเล็กจนสามารถดักจับฝุ่นได้ โดยขึ้นบินสูง 50 เมตร จากพื้นดิน ซึ่งโดรนที่นำขึ้นบินวันนี้มาจากชมรมโดรนเพื่อการเกษตร จ.นครราชสีมา และ จ. ชัยภูมิ พร้อมด้วยรถน้ำจาก กรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งการบินโดรนครั้งนี้ถือว่าเป็นการบินโดรนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังจากก่อนหน้านี้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ได้ทำการบินทดลองก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามการบินโดรนครั้งนี้ ผู้ว่า กทม. ระบุว่า เรื่องนี้จะต้องไปถาม สทป. เองในเรื่องของสารดักจับฝุ่นที่นำมาทดลอง
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานครจึงได้ประสานจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอความร่วมมือชมรมโดรนเพื่อการเกษตรจากทั้งสองจังหวัดขึ้นบินฉีดพ่นละอองน้ำสะอาดในอากาศช่วยดูดจับฝุ่นละออง ซึ่งกำหนดขึ้นบิน 2 วัน คือ วันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 62 โดยกรุงเทพมหานครจะรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก และอาหารสำหรับคณะนักบินโดรนฯ ที่เดินทางมาช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ
ซึ่งการบินโดรนวันนี้นอกเหนือจากลานคนเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว จะมีการทำการบินที่ วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน) , ฐานบิน ม.เกษตร , สวนจตุจักร (บินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว) , สวนลุมพินี (บินบริเวณอนุสาวรีย์ ร.6 และถนนพระราม 4) และ สะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร เขตบางคอแหลม ซึ่งจากข้อมูลของ สทป. ระบุว่าการบินโดรนและฉีดพ่นละอองน้ำสะอาดจะสามารถลดฝุ่นได้ถึง ร้อยละ 15 และถ้าผสมสารดักจับฝุ่นจะอยู่ที่ร้อยละ 20 ถึง 30 ในพื้นที่ทดลอง
ทาง กรุงเทพมหานคร ระบุว่า วันนี้จะมีโดรนกว่า 50 ลำบินทั่วกรุงเทพมหานคร ส่วนโดรนที่นำมาบินในวันนี้เป็นโดรนที่รูปร่างคล้ายกับโดรนที่ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศใช้ในการทดสอบที่สวนรถไฟ โดยผู้ว่าฯ กทม. เชิญผ่านสื่อ ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีความรู้ในก่ารแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ มาร่วมหารือหาทางออกแก้วิกฤติ วันนี้ ( 31 ม.ค. ) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชั้น 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยจะมีผู้แทนจากหลายสาขามาร่วมประชุม อาทิ แพทยสมาคม ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอาคารสูง ฯลฯ
สำหรับการปฏิบัติการแก้วิกฤติ ครั้งนี้ จะเป็นการลดฝุ่นละออง 3 ระดับความสูง ได้แก่ ระดับบนสุด ใช้โดรนจะบินฉีดพ่นละอองน้ำ โดยโดรนแต่ละเครื่องมีรัศมีทำการบินประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และสามารถบรรทุกน้ำได้ประมาณ 10 ลิตร สำหรับขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ซึ่งการบินแต่ละครั้งสามารถบินได้ประมาณ 20 นาที จากนั้นจะต้องลงมาเปลี่ยนแบตเตอรี่และเติมน้ำสำหรับฉีดพ่น ระดับที่ 2 รถน้ำจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักสิ่งแวดล้อม จะฉีดฝอยละอองน้ำขึ้นไปในอากาศ และระดับที่ 3 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่จะกวาดและล้างทำความสะอาดตามบนพื้นจราจร ทางเท้า และที่สาธารณะทั่วไป อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครต้องขออภัยในความไม่สะดวกสำหรับประชาชนที่พักอาศัย และสัญจรผ่านไปมาในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำด้วย
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองล่าสุด ศูนย์แก้มลพิษ กทม. แจ้งสถานการณ์ฝุ่นและการดำเนินงานรอบเช้า 31 ม.ค.62 รายงานว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 65 – 108 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า มีค่าเกินมาตรฐาน จำนวน 24 แห่ง (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) และพบว่ามี 3 แห่งที่อยู่ในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) คือ บริเวณเขตบางพลัด บางกอกน้อย และเขตบางเขน ดังนี้
1) เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) : มีค่าเท่ากับ 79 มคก./ลบ.ม.
2) เขตพญาไท หน้าแฟลตทหารบกใกล้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ตรงข้ามกระทรวงการคลัง: มีค่าเท่ากับ 77 มคก./ลบ.ม.
3) เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 : มีค่าเท่ากับ 81 มคก./ลบ.ม.
4) เขตปทุมวัน บริเวณริมถนนจามจุรีสแควร์ เยื้อง MRT สามย่าน : มีค่าเท่ากับ 76 มคก./ลบ.ม.
5) เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า : มีค่าเท่ากับ 65 มคก./ลบ.ม.
6) เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก : มีค่าเท่ากับ 90 มคก./ลบ.ม.
7) เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ : มีค่าเท่ากับ 73 มคก./ลบ.ม.
8) เขตจตุจักร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : มีค่าเท่ากับ 80 มคก./ลบ.ม.
9) เขตบางกะปิ ข้างป้อมตำรวจตรงข้ามสำนักงาน เขตบางกะปิ : มีค่าเท่ากับ 84 มคก./ลบ.ม.
10) เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ : มีค่าเท่ากับ 86 มคก./ลบ.ม.
11) เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ : มีค่าเท่ากับ 81 มคก./ลบ.ม.
12) เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน : มีค่าเท่ากับ 83 มคก./ลบ.ม.
13) เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย : มีค่าเท่ากับ 92 มคก./ลบ.ม.
14) เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม (ประมาณซอยเพชรเกษม 36) : มีค่าเท่ากับ 86 มคก./ลบ.ม.
15) เขตพระนคร ภายในสำนักงานเขตพระนคร : มีค่าเท่ากับ 79 มคก./ลบ.ม.
16) เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย : มีค่าเท่ากับ 79 มคก./ลบ.ม.
17) เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ : มีค่าเท่ากับ 81 มคก./ลบ.ม.
18) เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ : มีค่าเท่ากับ 87 มคก./ลบ.ม.
19) เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน : มีค่าเท่ากับ 108 มคก./ลบ.ม.
20) เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม : มีค่าเท่ากับ 90 มคก./ลบ.ม.
21) เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด : มีค่าเท่ากับ 96 มคก./ลบ.ม.
22) เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน : มีค่าเท่ากับ 81 มคก./ลบ.ม.
23) เขตราชเทวี บริเวณสำนักงานเขตราชเทวี : มีค่าเท่ากับ 73 มคก./ลบ.ม.
24) เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ : มีค่าเท่ากับ 80 มคก./ลบ.ม.
นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานพยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีลมสงบและมีเมฆบางส่วน ทั้งนี้ แนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย N95 ขณะอยู่กลางแจ้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: