คณะทำงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนและแถลงความคืบหน้าการจัดเตรียมงานพระราชพิธีฯ พร้อมขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อสีดำและสวมใส่เสื้อสีเหลืองตั้งแต่เดือนเมษายน ไปจนถึง เดือนกรกฎาคม 2562
(1 มี.ค. 62) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง, พลตำรวจโทไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ, พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมแถลงข่าวการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ศูนย์สื่อมวลชนย่อย ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ซอยอารีย์สัมพันธ์
นายวิษณุ เครืองาม ระบุว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นงานใหญ่ที่สุดรองลงมาจาก พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากในพระราชพิธีฯ จะต้องมีการสร้างพระเมรุมาศ และรื้อถอนภายในระยะเวลาอันจำกัด แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใดใหม่ เพียงแต่ปรับปรุงให้สวยงาม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระกระแสรับสั่งให้เป็นไปตามพระราชประเพณี ประหยัดและไม่ให้ปรุงแต่สิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งพระราชพิธีทั้งหมดจะเริ่มในช่วงเดือนเมษายน
โดยวันที่ 6 เมษายน 2562 จะมีพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำไปเป็นน้ำในพิธีสรงมูรธาภิเศก โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสรงมูรธาภิเศก หรือหากเทียบกับภาษาอังกฤษ คือ Shower(อาบน้ำฝักบัว) แต่เนื่องจากไม่มีผู้ใดสามารถสรงมูรธาภิเศกพระมหากษัตริย์ได้ ในอดีตจึงได้มีการใช้ฝักบัวในการสรงมูรธาภิเศกแทน
โดยจะใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำทั้ง 5 สายในประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากในอดีตการเดินทางระหว่างไทยกับอินเดียเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก จึงมีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำลำดับที่ 2 และ 3 แทน ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นกัน จะใช้น้ำจากแม่น้ำทั้ง 5 สายในไทยและน้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 แห่ง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล โดยเป็นน้ำคนละอย่างกับน้ำอภิเษก
โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ทำเนินการเตรียมสถานที่ในการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลจะมีการนำประวัติของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาทำน้ำอภิเษกมารวมเป็นหนังสือเพื่อแจกจ่ายให้หอสมุดตามมหาวิทยาลัยและสถานที่สำคัญต่อไป
สำหรับตราสัญลักษณ์รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและได้มีการส่งให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาและจะมีการพระราชทานลงมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้จะประดับคู่กับธงชาติไปตลอดพระราชพิธีและประดับไปจนถึงปี 2563 ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีฯ จะเกิดพระปรมาภิไธยใหม่ ซึ่งจะเป็นพระนามใดก็จะต้องรอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานลงมาอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 จะมีพระราชพิธีที่ 3 พระที่นั่งหลักซึ่งอยู่ใกล้กัน คือ
– พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งพระองค์จะทรงบรรทมเพื่อเป็นฤกษ์ในการเริ่มรัชกาลใหม่ ซึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์ รัชกาลอื่น ๆ ทรงบรรทมที่พระที่นั่งนี้เช่นกัน
– พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หากเปรียบเป็นภาษาชาวบ้านคือ “ห้องพระ” ซึ่งที่พระที่นั่งนี้จะมีการนำน้ำอภิเษกจาก 108 แห่งทั่วประเทศมาสรงพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นี่ โดยในอดีตขั้นตอนนี้เคยใช้พราหมณ์ทั้งหมดในการประกอบพิธี ทั้งนี้ นายวิษณุ ให้คำนิยามสั้น ๆ ของพราหมณ์ในอดีตว่า คือ ตัวแทนของเทพเจ้า ซึ่งมอบอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปลี่ยนเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย เพราะ เป็นการเปรียบเสมือนว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์มาจากประชาชน
และหลังจากเสร็จสิ้นพิธีในวันที่ 4 พฤษภาคม จะทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ส่วนในวันที่ 5 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดย ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค หรือ ทางบก โดยพระองค์จะเสด็จใน 4 เส้นทาง โดยจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง
สำหรับพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีการกำหนดให้เป็นรูปเดียวกันทั่วประเทศสำหรับส่วนราชการและที่ว่าการจังหวัด เพื่อให้สมพระเกียรติและเป็นระเบียบปฏิบัติเดียวกัน ส่วนภาคประชาชนหากประสงค์จะติดตั้ง พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ในพระอิริยาบถต่าง ๆ ก็สามารถทำได้
นายวิษณุ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระกระแสเตือนรัฐบาลถึงการเคลื่อนย้ายแขกและผู้ติดตามในพระราชพิธีฯ ให้มีความเหมาะสม เพราะขณะประกอบพิธีทุกอย่างจะเกิดขึ้นตามขั้นตอนหากจะย้ายบุคลากรตามไปในทุก ๆ ที่อาจจะเป็นการลำบาก ซึ่งรัฐบาลก็ได้น้อมรับพระกระแสรับสั่งและเตรียมลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจในจุดต่าง ๆ ที่จะมีการจัดงานและนำมาวางแผนต่อไป
สำหรับงานพระราชพิธีฯ จะไม่มีการเชิญพระราชอาคันตุกะ หรือ แขกจากต่างประเทศ แต่หากมีการแจ้งความประสงค์มาก็จะดำเนินการเตรียมต่าง ๆ ไว้รองรับ เนื่องจากระเบียบปฏิบัติแตกต่างกัน หากมีการเชิญ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงเสด็จไปต้อนรับและมีขั้นตอนอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งนี้ นายวิษณุ เชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยว สวมใส่เสื้อสีเหลืองตลอดทั้งเดือนเมษายน ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสการขึ้นรัชสมัยใหม่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อสีดำแต่ถ้าหากมีงานที่จำเป็นต้องใส่ เช่น บุคคลในครอบครัวเสียชีวิต ก็สามารถใส่ได้ภายในงานที่จัดขึ้น
โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบในการจัดงานทั้งหมด 1,000 ล้านบาท แต่งบประมาณดังกล่าวไม่ได้ใช้แล้วหมดไป แต่จะเป็นการซ่อมแซมปรับปรุง เรือ, พระราชยาน, ถนน รวมถึงการนำสายไฟฟ้าลงดินให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป
ขณะที่ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของสถานที่จัดงานพระราชพิธีฯ ทาง กทม. ได้ปรับปรุงสถานที่ต่าง ๆให้มีความเหมาะสม ทั้ง ป้าย ถนน ไฟส่องสว่างและการตีเส้นถนน ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว 75% ส่วนการจัดระเบียบเสาไฟฟ้าและสายสื่อสารขณะนี้เรียบร้อยไปแล้ว 50% โดย กทม. จะทำการซ่อมแซมโบราณสถาน ได้แก่ สะพาน และอนุสาวรีย์ทั้งหมด 12 แห่งให้มีความสวยงามและประดับด้วยดอกไม้สีสันต่าง ๆ ให้สมพระเกียรติ
สำหรับสถานที่จอดรถและการรักษาความปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดเตรียมสถานที่จอดรถตามทิศต่าง ๆ รอบกรุงเทพมหานคร 27 แห่ง โดยได้ประสานงานกับ ขสมก. ในการจัดรถ รับ-ส่ง ประชาชนมายังจุดต่าง ๆ รอบงานฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: