X

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครอง พาลูกเที่ยวแหล่งน้ำ ระวังเด็กจมน้ำ!

กรมควบคุมโรค ระบุปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 84 ราย เฉพาะช่วงสงกรานต์มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 8 ราย แหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุดคือคลองชลประทานและอ่างเก็บน้ำ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาพบสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวกินเลี้ยงสังสรรค์และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเอง แนะสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำต้องกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อหรือสระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจลื่นและพลัดตกลงน้ำได้

(12 เม.ย. 62) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ในเดือนเมษายนซึ่งตรงกับช่วงที่อากาศร้อนและเป็นช่วงปิดเทอม พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็ก(อายุต่ำกว่า 15 ปี) จมน้ำเสียชีวิต 84 ราย โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 160 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย มากกว่าช่วงวันปกติ 2 เท่าตัว โดยในวันที่ 14 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 6 ราย


จากข้อมูลในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่าช่วงสงกรานต์เพียง 3 วัน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 5 ราย อายุ 5-9 ปี มากที่สุด (5 คน) แหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุดคือคลองชลประทานและอ่างเก็บน้ำ และพบว่าวันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่มีเด็กจมน้ำสูงที่สุด ในวันเดียวถึง 5 คน ส่วนเหตุการณ์ที่มักพบบ่อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา คือ ครอบครัวจะกินเลี้ยงสังสรรค์และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำสนุกสนานกันเอง หรือเด็กๆ แอบหนีผู้ปกครองไปเล่นน้ำบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ เด็กไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ใช้อุปกรณ์ในการช่วยพยุงตัวในน้ำขณะเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงไม่รู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง ทำให้จมน้ำเสียชีวิต

โดย กรมควบคุมโรค ได้แนะนำประชาชนในการเล่นน้ำให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ดังนี้

  1. พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ/สระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจพลัดตก ลื่นลงน้ำได้
  2. การเล่นน้ำให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่า 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายแล่งติดตัวไปด้วย หากหมดแรงให้นำมากอดแนบหน้าอกและลอยตัวไว้
  3. ชุมชนร่วมกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในพื้นที่ และจัดการให้เกิดความปลอดภัย โดยให้มีการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ไม้ และนกหวีด
  4. แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก ทะเล อ่างเก็บน้ำ สวนน้ำ เป็นต้น ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้สวมใส่ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เข้าถึงได้ง่าย ติดป้ายแจ้งเตือน และป้ายบอกความลึกของน้ำ
  5. สระว่ายน้ำ ต้องมีเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อผู้รับบริการ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ป้ายบอกความลึกของน้ำ ป้ายบอกกฎระเบียบความปลอดภัยทางน้ำ และมีรั้วล้อมรอบสระว่ายน้ำทั้ง 4 ด้าน
  6. ใช้หลัก “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ ได้แก่
    1. ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
    2. โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น
    3. ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

ผู้ประกาศข่าว รายการ 77 ข่าวเด็ด ช่อง FIVE Channel HD / ผู้สื่อข่าว การเมืองและสังคม เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด และผู้สื่อข่าวออนไลน์ BrickinfoTV.com