“วัดสุทธิฯ” เปิดโบสถ์ ฉายแสงสี เสียง สอนคติธรรมผ่าน “Projection Mapping” ตั้งเป้าดึงวัยรุ่นเข้าวัดมากขึ้น ภายใต้ชื่อ “โพธิเธียร์เตอร์” พร้อมแนวคิด “แก่นเดิม เปลือกใหม่ ของพุทธศาสน์”
(18 พ.ค. 62)สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท วาย น็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด แสดงความสำเร็จจากโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน “โพธิเธียเตอร์” โดยการใช้พื้นที่เชิงสร้างสรรค์ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ภายในวัด อาทิ โบสถ์ , ศาลาการเปรียญ , ศูนย์เรียนรู้ ให้กลายเป็นพื้นที่การแสดงธรรมที่ทันสมัยผ่าน “Projection Mapping” หรือ การฉายภาพผ่านโปรเจคเตอร์ลงไปบนผนังโบสถ์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาปัตยกรรม พร้อมนำแสง สี เสียง และ Digital Art 2D – 4D ดนตรีร่วมสมัย มาผสมผสานเป็นเนื้อหาการถ่ายทอดพระธรรมคําสอนที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนการเข้าวัดให้เป็นมากกว่าการกราบไหว้พระ ทําบุญ มาเป็นการฟังธรรมรูปแบบใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ เกิดความสนใจและเรียนรู้ธรรมะในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นายธวัชชัย แสงธรรมชัย หัวหน้าโครงการ โพธิเธียเตอร์ ระบุว่า ในปัจจุบันหากคนรุ่นใหม่จะชวนกันไปเที่ยววัดในวันเสาร์-อาทิตย์นี้คงเป็นเรื่องที่แปลก เพราะวัดไม่เคยมีกิจกรรมที่คนรุ่นนี้รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับเขาด้วย ในขณะที่พวกเขาไปพิพิธภัณฑ์ได้ ไปร้านกาแฟเก๋ๆได้ ไปเดินห้างได้ ทำไมเราไม่ทำให้วัด มันเป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นรู้สึกว่ามาใช้เวลาในวันหยุดได้ และได้ข้อคิดอะไรจากพุทธศาสนากลับไปด้วย อันที่จริงแล้วเมื่อศึกษาย้อนกลับไป ก็พบว่าการสร้างวัดให้วิจิตรบรรจง ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่คนในอดีตใช้เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้าวัด จนเป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนัง สถาปัตยกรรมต่างๆ
“จริงๆแล้วเนื้อหาทั้งหมดยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแปลกนอกใหม่ เท่านั้นเอง” ธวัชชัย กล่าว
สำหรับเนื้อหาของนิทรรศการนี้ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากการแปลบทสวด ‘ชัยมงคลคถา’ หรือที่คนไทยเรียกอย่างคุ้นเคยว่าบท ‘พาหุง’ โดยยึดเอาเนื้อหาสาระเดิมไว้ทั้งหมด แล้วตีความด้วยภาพเคลื่อนไหว (Motion Graphic) และดนตรี ออกมาตามแนวทางศิลปะร่วมสมัย ฉีกภาพลักษณ์เดิมๆ ของพุทธศิลป์ เพื่อฉายลงบนอุโบสถของวัดสุทธิวราราม ด้วยเทคโนโลยี Projection Mapping ที่เป็นการฉายภาพลงไปบนพื้นผิวต่างๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาปัตยกรรม ทั้งนี้ที่เลือกบทพาหุง เพราะว่าคนไทยคุ้นเคยกับบทนี้ แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง ซึ่งบทนี้เป็นเรื่องราวชัยชนะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดแปดตอน ซึ่งหากเราลดการให้น้ำหนักเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์ ก็จะพบว่ามีธรรมะซ้อนอยู่ในเนื้อหาของบทสวดนี้ เป็นวิธีการรับมือกับอุปสรรคในชีวิตประจำวันและการรับมือกับคนหลายๆ รูปแบบ น่าทึ่งว่าแม้คำสอนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อราว 2500 ปีก่อน แต่ยังทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระพุทธเจ้าเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้จริงกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ” ธวัชชัยกล่าวถึงที่มาของการนำบทสวดพาหุงมาออกแบบเป็นนิทรรศการศิลปะ
ขณะที่ ท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต ( สุทิตย์ อาภากโร ร.ศ.ด.ร. ป.ธ.7 ) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ระบุถึงนิทรรศการนี้ว่า ทางวัดสุทธิวรารามมีแนวคิดหาทางส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าวัดมากขึ้น และศิลปะสมัยใหม่แบบนี้ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้วัดเปิดกว้างเข้ากับคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มการจัดนิทรรศการดังกล่าว ได้มีการสอบถาม และหารือหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมแล้ว ยืนยันว่าการใช้พื้นที่ในโบสถ์จัดแสดงนิทรรศการดิจิทัลดังกล่าว ไม่ผิดตามหลักพระธรรมวินัย ดังนั้น วัดสุทธิฯ จึงมีความยินดีอย่างมากหากจะมีวัดใดนำแนวคิดเดียวกันนี้ไปทำขยายผล เพราะไม่ได้เป็นลิขสิทธิ์ ยิ่งมีคนมาสนใจเข้าวัดมากขึ้น มีคนเข้าใจเข้าถึงคำสอนในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ในฐานะสงฆ์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ ‘โพธิ เธียร์เตอร์, แก่นเดิม เปลือกใหม่ ของพุทธศาสน์’ นิทรรศการดิจิทัลครั้งแรกในอุโบสถวัด จะจัดไปจนถึงวันที่ 9 มิถุนายนนี้ และจัดฉายทุกๆ วันเสาร์และอาทิตย์ 7 รอบต่อวัน ที่วัดสุทธิวราราม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆในการเข้าชม ผู้ที่สนใจสามารถจองตั๋วได้ที่ www.BodhiTheater.com
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: