สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนชม “ดาวเคียงเดือน” 17 มิ.ย. นี้ ดาวพฤหัสบดีสว่างเคียงข้างดวงจันทร์เต็มดวง หากฟ้าใสไร้ฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศตลอดคืนถึงรุ่งเช้า
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. ชวนติดตาม ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” วันที่ 17 มิถุนายน 2562 ดาวพฤหัสบดีปรากฏเคียงดวงจันทร์เต็มดวง เริ่มสังเกตได้้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 16 มิถุนายน 2562 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 17 มิถุนายน 2562 และจะปรากฏใกล้กันที่สุดเวลาประมาณ 03:19 น. ห่างเพียง 1.4 องศา หากสภาพอากาศเป็นใจ ฟ้าใสไร้ฝน ดูด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ ผู้สนใจรอชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในคืนดังกล่าวได้ ดาวเคียงเดือนจะส่องสว่างสวยงามมากเนื่องจาก ดาวพฤหัสบดีเพิ่งโคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา
“ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น การที่ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ อธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: