X
เดชชาติ พวงเกษ

“มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”อำลากรุง กลับบ้านเกิดเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

จากมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองหลวง ความรู้พื้นฐาน จบ ป.6 มุ่งมั่นพัฒนาตัวเองจนเก่งภาษาอังกฤษ เรียนจบมหาวิทยาลัย ที่ ”โซเชียลมีเดีย” มีส่วนสำคัญที่เป็นสะพานเชื่อมให้เขาประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ “เดชชาติ พวงเกษ” หรือ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ที่ผู้คนรู้จักเขาในทวิตเตอร์ วันนี้เขาหันหลังให้กับเมืองหลวงกลับบ้านเกิดในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยร่วมยินดีกับเขา

5 ก.ค.2561 วันแรกของ ”เดชชาติ พวงเกษ” เข้ารายงานตัวเพื่อเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในวัย 46 ปี ที่โรงเรียนบ้านโสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ จังหวัดบ้านเกิดที่เป็นผลจากความมุมานะมาตลอด33 ปี จากเด็กบ้านนอกจากราศีไศล จบชั้นป.6 เสี่ยงโชคเข้ามาทำงานในเมืองกรุงฯ จนสุดท้ายคนรู้จักเขาบนโลกออนไลน์ในนาม “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”บนทวิตเตอร์ หรือชื่อ”ราษีไศล” ในบล้อค OK NATION ที่เขาแจ้งเกิดครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน

เขาไม่ย่อท้อต่อการเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตัวเรียน เรียนปรับวุฒิเพิ่มที่กศน. และสุดท้ายเขาได้รับทุนเรียนจนปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย จนกระทั่งไปสอบเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่บ้านเกิดและถูกเรียกตัวไปรายงานตัวและเริ่มงานในวันที่ 5 ก.ค.

เดชชาติ เล่าว่าการเรียนการสอนครั้งแรกเป็นไปตามที่เคยวาดฝันไว้ เด็กๆในชั้นเรียนมีความสุขกับการเรียนภาษาอังกฤษ กล้าที่จะทักทายและตอบโต้กับตน ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยระบุว่าเขาไม่ได้เคล็ดลับอะไรพิเศษในการสอน แต่จะเน้นย้ำกับนักเรียนอยู่เสมอว่า “ภาษาอังกฤษง่ายกว่าภาษาไทย มีสระและพยัญชนะรวมกันแล้วแค่ 26 ตัว แต่ภาษาไทยมีพยัญชนะถึง 44 ตัวและยังไม่รวมสระ” ซึ่งเป็นลักษณะการโน้มน้าวเชิงจิตวิทยาที่ เดชชาติ ใช้สร้างกำลังใจในการฝึกภาษาของตัวเองมาตลอด

เมื่อ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา เดชชาติ ส่งข้อความทางทวิตเตอร์ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ที่มีผู้ติดตามเขากว่า 29,000 คนเพื่อบอกลาในการเปลี่ยนอาชีพใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษและมีผู้แสดงความเห็นชื่นชมในตัวเขา และให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก และโลกโซเชียลนี่เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้เขาออกสู่โลกที่กว้างขึ้น หลายคนอาจจำเขาได้จากทวีตเมื่อปี 2556 เมื่อเขาถ่ายรูปชายชาวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดบริเวณซอยสุขุมวิท 71 แล้วโพสต์ภาพเหตุการณ์บนทวิตเตอร์ จนถูกพูดถึงเขาในสื่อทั่วโลก

คืนวันที่ 2 ก.ค.ที่เป็นวันที่เขาเดินทางกลับศรีสะเกษ ด้วยรถไฟจากสถานีหัวลำโพงโดยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อรายงานตัวกับตำแหน่งงานใหม่ เราได้คุยกับเดชชาติ ถึงการตัดสินใจของเขาก็พบว่า เขาเตรียมการกับเรื่องนี้ไว้นานจนกระทั่งสำเร็จและดูเขามีความสุขกับการทำหน้าที่ใหม่ครั้งนี้

“ผมอายุ 46 ปีแล้ว ถามว่าช้าไปมั๊ย สำหรับผมมันไม่ช้า มันถึงจุดที่เราต้องเปลี่ยนตัวเอง ผมเรียนจบป.6 ต้องหยุดเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำนา อายุ 18-19 ปี เข้ามาทำงานกรุงเทพฯเป็นกรรมกรในโรงงานผลิตตราชั่ง ค่าแรงวันละ35บาท ทำงาน 10 กว่าปี จากลูกจ้างทดลองงานขยับเป็นนายช่างใหญ่ค่าแรง 300 บาท ผมก็ทนได้และภูมิใจกับมัน หลังจากนั้นก็ออกมาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกกว่า 10 ปีและมีโอกาสเรียนต่อจนจบปริญญาตรีและมีความรู้ภาษาอังกฤษ การได้กลับบ้านเพื่อสอนเด็กเป็นสิ่งที่ผมใฝ่ฝันมาตลอด” เดชชาติ บอกถึงความตั้งใจของเขา

เดชชาติ บอกว่าช่วงที่เขาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในวิน สุขุมวิท 71 ย่านพระโขนง เขาเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ทั้งจาการอ่านหนังสือ ฟังเพลง และทักทายกับแขกที่มาใช้บริการจนเขากล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษ และเริ่มทวิตเป็นภาษาอังกฤษแบบง่ายๆทุกวันในการรายงานจราจรในย่านที่เขาอยู่ หรือเรื่องราวทั่วไปที่สั้นๆง่ายๆ หรือขับมอเตอร์ไซค์ผ่าน

“พอผมเริ่มส่งข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งทางทวิตเตอร์และเพจก็มีชาวต่างชาติที่ติดตามเข้ามาแสดงความเห็น แนะนำเรื่องการใช้ภาษา การใช้คำที่ถูกต้อง ผมก็ได้ความรู้มากขึ้นทุกวัน จนวันหนึ่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพสวุรรณภูมิ ที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเขาติดต่อมาเพื่อให้ทุนเรียนต่อผมก็พิอมีวุฒิการศึกษา ม.6 จากการเรียนกศน.จึงตัดสินใจไปเรียน 4 จบคณะรัฐศาสตร์ และไปสอบตำแหน่งวิทยากรสอนภาษาอังกฤษไว้ และสอบได้ที่6 ขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี วันนี้ (2 ก.ค.) เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาให้ไปรายงานตัววันที่ 5 ก.ค.ผมดีใจมากจนนอนไม่หลับ”

ด้วยเหตุผลที่เดชชาติไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู เขาจึงเลือกสอบในตำแหน่งวิทยากรสอนภาษาอังกฤษ หรือที่เรียกทั่วไปว่าเป็นครูอัตราจ้าง และโรงเรียนที่เขาสอนอยู่ห่างจากบ้านเกิดที่ อ.ราษีไศล และต้องหาบ้านเช่าใกล้โรงเรียนเพราะไม่ต้องจ่ายค่าเดินทาง

เดชชาติ เล่าว่าเขาใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับไปอยู่บ้านเกิดในอาชีพใหม่ แม้จะอยู่กรุงเทพมานานแต่ยังรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการ และหลังจากที่ได้กลับไปสอนหนังสือที่บ้านเกิดตามความฝัน ก็พบความแตกต่างหลายเท่า ที่ จ.ศรีสะเกษ ตื่นเช้าไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องวางแผนการเดินทางเพราะรถไม่ติด สามารถกะเวลาในการเดินทางไปสู่จุดหมายได้ง่ายๆ และไม่ต้องสูดควันพิษมากเหมือนในเมืองใหญ่

“ผมพอแล้วครับกับชีวิตที่กรุงเทพฯ ผมอยู่มาตั้งแต่อายุ 18 ปี จนอายุ 46 ปี รวม 28 ปี ผมรู้สึกอึดอัด และมันอันตราย ผมเคยประสบอุบัติเหตุตอนขับมอเตอร์ไซค์ไหล่ทรุดต้องรักษาตัวนาน ผมอยากกลับบ้านที่วิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่เครียด และสอนเด็กๆให้มีความรู้ภาษาอังกฤษ ที่เป็นผลพวงที่ผมได้มาจากการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯและจากโลกออนไลน์”

เดชชาติ ที่เริ่มจากการนำเรื่องราวจากบ้านเกิดที่เป็นชนบทมาบอกเล่าผ่านสังคมออนไลน์ ในบล้อค OKNATION ในชื่อ”ราษีไศล” ทำให้หลายคนได้เห็นถึง”ความแปลก” ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างคนนี้ใช้เวลาไหนมาเขียนเรื่องราวที่เห็นภาพวิถีชีวิตชาวชนบท ที่น้อยมากในช่วงนั้นที่จะมีผู้นำมาเขียนถ่ายทอดทางสังคมออนไลน์

”ผมกลับบ้านศรีสะเกษ ก็เก็บเรื่องราว ถ่ายภาพ นำมาถ่ายทอดในบล้อคเรื่อยๆ ตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก คนที่โพสต์ในแนวนี้มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการโพสต์เรื่องกิน เรื่องเที่ยว ตามห้างฯ หรือตามแหล่งท่องเที่ยวหรูๆ ที่ไม่เคยรับรู้วิถีชีวิตคนท้องทุ่งก็บอกว่าเขาว่ามันน่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่หลังจากมีเฟซบุ๊กเรื่องราวจากหมู่บ้านถูกถ่ายทอดออกมาเยอะมาก”

จากบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างธรรมดาคนหนึ่งของเดชชาติ นับตั้งแต่ปี 2556 ที่เขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เดชชาติได้เป็นวิทยากรในงานต่างๆ รวมถึงสำเร็จการศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาตรีในสาขารัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิอีกด้วย พร้อมกับผลงานวิจัยเรื่อง ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างสะท้อนให้เห็นการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รู้จักมองหาโอกาสในชีวิต ประกอบความมุ่งมั่น ตั้งใจและความพยายาม ทำให้ความฝัน ที่หลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ กลายเป็นความจริงได้ในที่สุด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ