แอมเนสตี้ เปิดวงเสวนาจากครู นักการเมือง และตัวแทนแอมเนสตี้ ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนศึกษาในไทย ชี้การศึกษาไทยจะพัฒนาได้ต้องมีสิทธิมนุษยชนศึกษา แนะพัฒนาครู สร้างห้องเรียนปลอดภัย พร้อมเปลี่ยนแนวคิด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยลงคะแนนเสียงร่วมรับรอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พร้อมจัดงานเสวนา “70 ปี UDHR กับการสิทธิมนุษยชนศึกษาในไทย” ณ สวนครูองุ่น ทองหล่อ กรุงเทพฯ โดย มีนักวิชาการอิสระ ครู และตัวแทนจากแอมเนสตี้ เข้าร่วมพูดคุยถึงสิทธิมนุษยชนทางการศึกษาของไทยและแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทย
นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ในฐานะ นักวิชาการอิสระ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ เปิดเผยว่าเคยทำงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนในห้องเรียน โดยยกตัวอย่างการศึกษาที่ประเทศฟินแลนด์ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาให้นักเรียนทุกคนไปถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีที่เหมือนกัน ในขณะที่บรรยากาศในห้องเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ยังมีลักษณะเป็นห้องเรียนศักดิ์สิทธิ์ คือเป็นห้องเรียน ที่ไม่สามารถแตะต้องสิ่งใด ๆ ได้
เนื่องจากคำตอบของแต่ละคำถามในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นคำถามปลายเปิดหรือคำถามปลายปิดมากแค่ไหน แต่สุดท้ายคำตอบจะวนมาที่ 1 คำตอบเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกไม่กล้าคิด เพราะกลัวจะไม่ตรงกับคำตอบ หรือกล้าคิดแต่ไม่กล้าถาม
นางสาวกุลธิดา เล่าว่าในบางครั้งผู้สอนอาจหลงลืมไปว่าที่จริงแล้วหน้าที่ของครูไม่ใช่การสอนหนังสือ แต่เป็นการสื่อสารกับมนุษย์ซึ่งมีจิตใจ และมีสิทธิเท่าเทียมกันกับครูทำให้เกิดช่องว่าง
จากประสบการณ์สอนนักเรียนเมื่อนักเรียนกล้าที่จะสอบถาม มักจะมีการต่อรองลดการบ้านอยู่เสมอ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนักเรียนทุกคนต่างมีภาระงานอื่น ๆ ที่ต้องทำ โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนพิเศษ ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาไม่ใช่การงดให้การบ้าน แต่เป็นการหาทางออกร่วมกัน
โดยต้องทำให้นักเรียนเข้าใจก่อนว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการให้การบ้านนั้น คือต้องการให้นักเรียนฝึกทำตามแบบเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เมื่อไม่ต้องการมีการบ้านจึงต้องหาวิธีในการฝึกอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมาทดแทนกัน เมื่อทั้งครูและนักเรียน เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ทำให้สามารถปรับการเรียนการสอนสอดคล้องกับชีวิต ของนักเรียนและตอบโจทย์เป้าประสงค์ทางการศึกษาได้ในเวลาเดียวกัน
พัฒนาครู = พัฒนาสิทธิมนุษยชนศึกษาในไทย
ส่วนแนวทางในการสร้างระบบการศึกษาในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จะต้องเริ่มต้นจากกระบวนการหลัก ได้แก่ 1. การปรับการคัดเลือกครู และ 2. พัฒนาครูที่อยู่ในระบบ
โดยการคัดเลือกครูเข้าสู่ระบบการศึกษา ต้องเริ่มตั้งแต่การเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย โดยสังคมต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าต้องการเห็นครูแบบไหนอยู่ในห้องเรียน เมื่อได้คำตอบแล้ว จะต้องกำหนดวิธีการคัดเลือกครูที่จะเข้ามาในระบบ เหมือนเป็นการกำหนดสเปกครูให้ตรงตามความต้องการ ซึ่งจะต้องแตกต่างจากลักษณะเดิมที่เน้นเป็นการผลิตซ้ำ ทำให้ครูไม่กล้าที่จะมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมเดิม ๆ
ส่วนการพัฒนาครูที่อยู่ในระบบการศึกษาแล้วนั้น จะต้องสร้างจากประสบการณ์ของครูหรือการฝึกอบรมครู นางสาวกุลธิดา เล่าว่า จากประสบการณ์สอนนักเรียน พบว่าเมื่อนักเรียนกล้าที่จะสอบถาม มักจะมีการต่อรองลดการบ้านอยู่เสมอ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนักเรียนทุกคนต่างมีภาระงานอื่น ๆ ที่ต้องทำ โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนพิเศษ ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย
แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาไม่ใช่การงดให้การบ้าน แต่เป็นการหาทางออกร่วมกัน โดยต้องทำให้นักเรียนเข้าใจก่อนว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการให้การบ้าน คือ ต้องการให้นักเรียนฝึกทำตามแบบเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เมื่อไม่ต้องการมีการบ้านจึงต้องหาวิธีในการฝึกอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมาทดแทนกัน เมื่อทั้งครูและนักเรียน เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้วทำให้ สามารถปรับการเรียนการสอนสอดคล้องกับชีวิต ของนักเรียนและตอบโจทย์เป้าประสงค์ทางการศึกษาได้ในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบัน เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกบรรจุอยู่ในตัวชี้วัดทางการศึกษาทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย แต่หากการเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนยังมีคำตอบอยู่แบบเดียว ยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ ยังมีความต่างของความสำคัญของครูกับนักเรียนอยู่ ทำให้เกิดเป็นสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหากัน โดยให้ครูอยู่ในฐานะเสมือนผู้กำกับการแสดง มีนักเรียนเป็นผู้แสดง ซึ่งเชื่อว่าห้องเรียนที่อบอุ่นและมีประสิทธิภาพ คนที่พูดเยอะจะต้องเป็นนักเรียนมากกว่าครู
นางสาวกุลธิดา ยังกล่าวอีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะพัฒนาการศึกษาเหมือนฟินแลนด์ เพราะประเทศไทยยังคงมีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ แต่ถ้าอยู่บนหลักของห้องเรียนปลอดภัย หรือสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้เป็นแค่พิธีกรรม หรือเป็นแค่ความรู้บนกระดาษแต่เป็นวิถีปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในทุก ๆ มิติของทุกห้องเรียนขององค์กรต่าง ๆ ให้เกิดความสัมพันธ์กันทั้งคนในแวดวงการศึกษา รวมถึงทุก ๆ คนในสังคม ต้องเข้าใจและปฏิบัติกับมนุษย์ในฐานะมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน และสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคม ๆ หนึ่ง ฝันอยากเห็นสังคมแบบนั้น
นางสาวกุลธิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า “วัฒนธรรมการถูกตัดสินในห้องเรียนเป็นปัญหาทางการศึกษา เราจะไม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้เลย ถ้าไม่จัดการตรงนี้ก่อน”
ด้าน นายอรรถพล ประภาสโนบล ครูมัธยมรุ่นใหม่ หรือครูพล เจ้าของแนวคิดกลุ่ม “พลเรียน” ที่เกิดจากเรียกร้องว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขณะเป็นนักศึกษา
โดยร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าความคิดด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองเริ่มต้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องที่ทำให้รู้สึกประหลาดใจเมื่อเข้าไปเรียนเพื่อเป็นครู แต่กลับถูกกระทำในลักษณะที่ถูกกดให้ความเป็นมนุษย์เล็กลงมาก ทำให้คำถามที่สำคัญขึ้นว่า “คณะศึกษาศาสตร์ที่จะสร้างครูแบบไหนกันแน่ แล้วมองสังคมที่หวังไว้แบบไหน”
จากเหตุการณ์รับน้อง ทำให้ตกผลึกว่าการศึกษาและสังคมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งหมายถึง ครูเป็นกลไกที่สำคัญมากในการสร้างสังคมให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นได้ ซึ่งการรับน้องเช่นนี้สะท้อนว่า ถ้าสร้างครูแบบนี้ออกไปนั่นหมายความว่าระบบของสังคมในอนาคตก็จะมาจากพื้นฐานของการละเมิดสิทธิบางอย่างเช่นกัน
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจึงพยายามตั้งคำถาม จัดงานเสวนา เวิร์กชอปให้กับนักศึกษาครูด้วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องเรียนสามารถสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ แม้จะมีเรื่องสิทธิมนุษยชนในตำราเรียน แต่สิทธิมนุษยชนยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะถูกมองเป็นเพียงเเนื้อหาที่จำเป็นต้องเรียน แต่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคุณค่าที่สังคมจะต้องยึดถืออย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน
ซึ่งการสอนเด็กเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นจะต้องทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิต เช่น การสอนเรื่องการค้าทาส ผ่านเรื่องราวของช็อกโกแลต สะท้อนให้เด็กเห็นว่าการรับประทานช็อกโกแลตส่งผลกระทบต่อการกดขี่บุคคลในโลกที่ 3 อย่างไร เพื่อให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมาก ถึงขั้นข้ามโลกไปแล้วด้วยซ้ำ
ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็น
นายอรรถพล มองว่า ที่ผ่านมาวัฒนธรรมได้หล่อหลอมให้เชื่อว่าการปฏิบัติระหว่างครูกับนักเรียนนั้นไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าครูสั่งนักเรียน หรือครูมีอำนาจเหนือกว่านักเรียน หรืออาจถึงขั้นใช้ความรุนแรง ซึ่งความคิดแบบเดิมจะส่งผลพวงให้สังคมไม่เห็นทางเลือกในการปฏิบัติอื่น ๆ ในการพัฒนาที่ดีกว่า
การสร้างสิทธิมนุษยชนในระบบการศึกษาไทย สามารถทำได้โดยต้องเริ่มจากความเชื่อของครู ว่าอยากจะเห็นสังคมมีความเท่าเทียมในลักษณะใด ซึ่งหากเรามีความเชื่อจะส่งผลต่อกระบวนการสอนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและสิ่งอื่น ๆ จะตามมา
เช่น การสร้างปฏิสัมพันธ์ของครูที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าภายในห้องเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียง แลกเปลี่ยน กล้าพูดคุย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดี ที่สามารถปลุกศักยภาพบางอย่างในตัวนักเรียนเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพูดคุยในห้องเรียน ซึ่งรวมถึงการตั้งคำถามถึงอำนาจบางอย่างที่ห้ามถามถึงในสังคมภายนอกด้วย
“สังคมต้องทำให้รู้ว่ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ซึ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงมีแค่ 1 กับ 0 ถ้าไม่เชื่อว่าเปลี่ยนแปลงได้จะเป็น 0 ซึ่งเชื่อว่า ต้องใช้เวลาและความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้” นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
ส่วน นางสาวดาริกา บำรุงโชค ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนในวันนี้กับเมื่อ 50 ปีที่แล้วไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิสตรี ความหลากหลายทางเพศ (LGBT) สิ่งเหล่านี้เติบโตกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และจำเป็นที่จะผลักเพดานเรื่องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เหล่านี้ให้ขยายไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
นางสาวดาริกา ได้ให้คำนิยมสิทธิมนุษยชนในมุมมองที่เข้าใจง่ายว่า สิทธิมนุษยชนคือคุณค่าของสังคม ๆ หนึ่งที่ใช้กำกับความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม
ซึ่งการจะทำให้เกิดสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงได้นั้นต้องตั้งคำถามว่า จะทำให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นไปตามวุฒิภาวะของสังคมได้อย่างไร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ ส่วนหนึ่งคือเรื่อง “การศึกษา” ที่สามารถทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะเป็นพื้นฐานในการให้คุณค่าต่อกันและกัน
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีลักษณะเป็นสังคมที่การตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติที่หลายคนมองว่าไม่ใช่ปัญหา อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจในภาพโครงสร้างใหญ่ของสังคม เช่น ครูมีอำนาจมากกว่านักเรียน พ่อแม่มีอำนาจมากกว่าบุตรหลาน หรือลำดับอำนาจทางหน้าที่การงาน
เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ประเทศไทยมีการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับครู มีการฝึกอบรมที่เรียกว่า Training for Trainer รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่สำคัญในการให้นิยามที่ถูกต้องในเรื่องสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดความเข้าใจได้ในวงกว้าง
ที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเด็กนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยมองว่าควรให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะสิทธิมนุษยชนคือพื้นที่ที่สามารถออกแบบทุกอย่างร่วมกันได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: