“สื่อเต็มเลย 5” เปิดประสบการณ์เจ้าของสื่อโซเชียล แนะควรเริ่มสร้างเนื้อหาจากตัวตนไม่ลอกเลียนแบบ และเผยเคล็ดลับการสร้างเนื้อหาให้โดนใจ ส่งผลให้เกิดรายได้ตามมา
สัมมนาหัวข้อ “สื่อใหม่อะไรก็เกิดขึ้นได้” เปิดเวทีให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมืออาชีพ อย่างคุณกัญญาณัฐ ถาวรสุภเจริญ เจ้าของเพจ “Aristotoey”, คุณคณาวิศว์ วัฒนทวีไพศาล เจ้าของเพจ “เสียงที่ไม่ได้ยิน” และคุณภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ จากเพจ “Buffet Channel” ร่วมพูดคุยถึง การสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองผ่านสื่อโซเชียล, แนวทางการสร้างสรรค์เนื้อหาให้โดดเด่น และการสร้างรายได้ผ่านสื่อโซเชียล
คุณกัญญาณัฐ เล่าผ่านมุมมองของคนที่เป็นสื่อว่า เธอเลือกใช้ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ไปพร้อม ๆ กัน เพราะหากสื่อเก่าอย่างสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจาก ก็ยังมีสื่อใหม่อย่างเฟสบุ๊คแฟนเพจที่สามารถใช้สร้างตัวตนได้เช่นกัน โดยเธอเรียกตัวเองว่า “แรงข้างหลัง” ที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์เรื่องความรักของตัวเอง เริ่มจากเขียนเรื่องเศร้าจนถึงการให้กำลังใจ และพบว่ามันมีคุณค่าเมื่อมีผู้อ่านบอกว่า “คุณรู้ไหม ที่คุณเขียน มันช่วยชีวิตเรานะ”
เพจของคุณกัญญาณัฐใช้ชื่อว่า Aristotoey เติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่สื่อโซเชียลเริ่มมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น ทำให้มีเพจต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแข่งขันกันมากมาย ซึ่งเธอให้เทคนิคของการอยู่รอดไว้ว่า ต้องเป็นตัวเองให้มากที่สุดเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองให้โดดเด่น และการที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้ต้องศึกษางานของเขา และต้องพัฒนางานตัวเองให้มีพื้นที่ในสื่อออนไลน์ต่อไปและต้องสร้างผลงานของตัวเอง ไม่ใช้วิธีการไปลอกของคนอื่นมา เพราะคนเสพงานจะจำเอกลักษณ์ในงานของแต่ละคนได้
ด้านคุณคณาวิศว์ เล่าว่า ในอดีตการที่จะรู้จักนักเขียนหนึ่งคนต้องตามอ่านหนังสือของเขาเยอะมาก แต่ปัจจุบันคนซื้อหนังสืออ่านเพราะรู้จักนักเขียนจากการติดตามผลงานผ่านช่องทางออนไลน์ จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนบนโซเชียลมีเดียของเขา เริ่มจากประสบการณ์ด้านความรัก เมื่อเกิดความผิดหวัง ความเศร้าจึงมีการโพสต์ระบายบนเฟซบุ๊ก และเริ่มมีข้อความที่ให้ข้อคิด ให้กำลังใจเพิ่มเข้ามาในภายหลัง และมีภาพถ่ายประกอบการเขียน เนื่องจากเขาชื่นชอบในการถ่ายรูปด้วย
เจ้าของเพจ “เสียงที่ไม่ได้ยิน” บอกด้วยว่า เพจนี้สร้างขึ้นจากบริบทแวดล้อมรอบตัว แค่เพียงคำถาม “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” ถึงแม้ประโยคนี้จะไม่ได้สื่ออะไรมากมาย แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนได้รู้สึกว่ายังมีคนคอยเป็นห่วงอยู่ และสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับเขามากคือ การที่พบว่ามีผู้ติดตามเพจหายจากการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะได้กำลังใจดี ๆ จากสิ่งที่เขาเขียนลงไปในเพจ และให้คำแนะนำสำหรับการเริ่มทำข้อมูลและเนื้อหาลงในสื่อโซเชียลว่า ควรคำนึกถึงความคิดสดใหม่ ลงให้สม่ำเสมอเพราะมีผลต่อการติดตาม
ขณะที่คุณภาณุพรรณ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของช่อง Buffet Channel ว่า เกิดการจากรวมกลุ่มเพื่อน สร้างคลิปล้อเลียนภาพยนตร์ดังจนเป็นที่รู้จักในสังคมออนไลน์ และทำเนื้อหาทุกอย่างรอบตัวทั้งข่าวและกระแสโซเซียลต่าง ๆ โดยมีเอกลักษณ์บนพื้นฐานของความตลก แม้จะมีคู่แข่งจากเพจอื่นๆ แต่ Buffet Channel ยังคงแนวทางเป็นกลุ่มเพื่อนที่ให้ความบันเทิงทุกรูปแบบเหมือนเดิม และกำลังเติบโตเรื่อย ๆ แม้จะมีเสียงสะท้อนด้านลบบ้าง ซึ่งต้องขอบคุณเพราะอย่างน้อย แสดงว่าเขาก็ได้ดูคลิปนั้นจนจบ
เจ้าของ Buffet Channel ให้เทคนิคในการสร้างเนื้อหาให้โดดเด่นว่า ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และเนื้อหาต้องอยู่ในกระแส ที่สำคัญต้องลงข้อมูลให้ทันก่อนหมดกระแส ในส่วนกลยุทธ์การทำงานนั้น จะรับฟังทีมงานแต่ละฝ่ายที่ทำหน้าที่ ตั้งแต่คิดเนื้อหา ถ่ายทำ และตัดต่อ และมีการตรวจสอบข้อมูลในยูทูปว่า มีผู้ติดตามรับชมช่วงไหนมากที่สุด เพื่อกำหนดเป็นช่วงเวลาการปล่อยผลงาน
ส่วนของการสร้างรายได้ในสื่อโซเซียล คุณภาณุพรรณ เปิดเผยว่า การสร้างเนื้อหาอย่าเริ่มจากทำเพื่อเงิน อย่าเพิ่งเน้นตรงนั้น ต้องเริ่มจากทำเนื้อหางานให้ดีก่อน ถ้าเราทำได้ดี มันจะอยู่ได้ด้วยผลงาน แล้วรายได้จะวิ่งเข้าหาเราเอง ขั้นตอนที่สองคือ เมื่อมีคนติดตามผลงานประมาณหนึ่ง ทางยูทูปจะปรับให้เราสามารถเปิดการสร้างรายได้จากโฆษณาจากยูทูปโดยอัตโนมัติ
“ปัจจุบันนี้มีตัวเลขกลม ๆ ที่ Buffet Channel ได้อยู่ที่เกือบหกหลัก นี่เป็นแค่รายได้จากที่เขามาโฆษณาในช่องยูทูปของเราอย่างเดียว ยังไม่รวมของทางเฟสบุ๊คที่มีเม็ดเงินค่อนข้างสูงเหมือนกัน รายได้เหล่านี้เริ่มจากเรามีผลงานที่คนชอบ ปัจจุบันนี้ที่เรามี Channel เรามีบริษัท เรามีพนักงาน มีคนร่วมอุดมการณ์ ร่วมความสนุก ความบันเทิงกับเรา เพราะมีคนชอบเนื้อหาของเรา เลยทำให้มีรายได้มากพอที่จะดูแลตัวเราเองได้ ดูแลลูกน้องเราได้ ดูแลครอบครัวเราได้” คุณภาณุพรรณ กล่าว
งานสัมมนาในหัวข้อ “สื่อใหม่อะไรก็เกิดขึ้นได้” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสัมมนาสื่อเต็มเลย5 ที่จัดขึ้นโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานของพวกเขาผ่านสื่อโซเชียล ซึ่ง นอกจากผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาจะได้รับคำชี้แนะในการทำงานบนสื่อออนไลน์แล้ว ยังได้รับฟังความคิดเห็นที่ช่วยสร้างมุมมองด้านบวกในการชีวิตอีกด้วย
นอกจากนี้ ในวันที่ 25 เม.ย. ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดสัมมนาอีกครั้งในหัวข้อ “รู้ทันโลกออนไลน์ : มหันภัยหรือดอกไม้..เต็มเลย” ซึ่งจะมีวิทยากรในแวดวงวิชาการและวิชาชีพมาให้ความรู้และประสบการณ์มากมาย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ : สื่อเต็มเลย รวมทั้ง ทวิตเตอร์ : น้องนกแห่งด้อมสื่อเต็มเลย และอินสตาแกรม : Mediaroundyou5 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 086-821-7288
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: