ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จัดเป็นของเสียอันตราย ซึ่งหมายถึง ของเสียหรือขยะที่มีปริมาณ ความเข้มข้น หรือลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี หรือการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหรือมีส่วนทำให้มีการตาย หรือการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงที่รักษาไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม หากไม่ได้รับการกำจัด บำบัด กักเก็บ ที่เหมาะสม
ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments) คือ ซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน (off-spec) หรือหมดอายุการใช้งาน หรือล้าสมัย ซึ่งแบ่งเป็น 10 ประเภท ได้แก่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน ฯลฯ
– เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น เครื่องดูดฝุ่น เตารีด เครื่องปิ้งขนมปัง มีดโกนไฟฟ้า ฯลฯ
– อุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ เมนเฟรม โน้ตบุค เครื่องสแกนภาพ เครื่องโทรสาร/โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
– เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้อง และเครื่องบันทึกวีดีโอ เครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
– อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หลอดโซเดียม ฯลฯ
– ระบบอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์
– เครื่องมือวัดหรือควบคุมต่างๆ เช่น เครื่องจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ
– ของเล่น เช่น เกมส์บอยส์ ของเล่นที่ใช้ไฟฟ้า หรืออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
– เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่าน เลื่อยไฟฟ้า หรืออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
– เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ฯลฯ
ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ นอกจากจะมีประเด็นปัญหาในเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดจากส่วนประกอบที่เป็นสารอันตราย เช่น สารตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ฯลฯ ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม และมีความเสียงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศน์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ บางชิ้นส่วนสามารถทำการถอดแยกเพื่อนำไปสกัดแยกโลหะมีค่า เป็นการเพิ่มรายได้ เช่น มีรายงานว่า ญี่ปุ่นสามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง ชิ้นส่วนตัวต้านทานในวงจรคอมพิวเตอร์ สามารถสกัดแยกทองคำและพาลาเดียมได้อย่างละประมาณ 50-100 กรัมต่อซากเครื่องใช้ไฟฟ้าหนัก 1 ตัน รวมทั้งยังได้ทองแดงอีก 200 กิโลกรัม นอกจากนี้ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีส่วนประกอบของโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ พาลาเดียม และทองแดง ขณะนี้ประเทศไทยเอง มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่สามารถรีไซเคิลและสกัดแยกโลหะมีค่าเหล่านี้ออกจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้
- การขายกับพ่อค้าคนกลาง เพิ่มมูลค่า
- นำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่สร้างปัญหาสุขภาพ
ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้น โดยเฉพาะโทรศัพท์ อุปกรณ์จากโทรศัพท์ และแบตเตอรี่ ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของประชาชนเองควรให้ความร่วมมือในการคัดแยกซากโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว หรือเสื่อมสภาพ ไม่ทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น
สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งในจุดที่กำหนด โดยในส่วนของภาครัฐนั้นสามารถติดต่อทิ้งขยะในสำนักงานเขตต่างๆได้ ส่วนภาคเอกชน มีองค์กรที่ร่วมตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง อาทิ BigC(บางสาขา), The Mall(บางสาขา), HomePro(บางสาขา), 7-Eleven (บางสาขา) Emporium, Emqurtier เป็นต้น
ในอนาคตเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน จะเสริมสร้างเครือข่าย ขยายจุด Drop off ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆมากขึ้น เพื่อความสะดวกและผลักดันการแยกขยะอันตรายออกจากขยะมูลฝอยให้เป็นปรกติวิสัย
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: