X
กัญชาเพื่อเยียวยาสุขภาพ

จุฬาฯ เผยกัญชาเยียวยาสุขภาพได้ เร่งใช้ถูกกฎหมาย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19  เรื่อง “กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?” เผยผลวิจัยชี้กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคได้ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้สามารถใช้อย่างถูกกฎหมาย

กัญชาเพื่อเยียวยาสุขภาพ

การสัมมนา “กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?” ได้รับความสนใจจากทั้งนักวิชาการสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนทั่วไปอย่างคับคั่ง ทำให้ที่นั่งในห้องประชุม ไม่เพียงพอในการรองรับผู้มาเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เข้าร่วมต้องยืนหรือใช้เก้าอี้เสริม ซึ่งสะท้อนว่าประเด็นในการผลักดันกัญชาสู่การรักษาโรคในประเทศไทย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก วิทยากรผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ

ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์
ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์

ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงแนวทางที่จะทำให้มาซึ่งยาคุณภาพจากพืชกัญชา โดยมีงานวิจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่ในจุดนี้ โดยได้ยกตัวอย่างวิจัยชิ้นแรกที่สนับสนุนด้านกัญชา ที่เกิดจากการร่วมมือกันหลายคณะของจุฬาฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาเรื่องของการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ เช่น สร้างสารสกัดกัญชาที่ไม่ได้มาจากต้นกัญชาเพียงอย่างเดียว สามารถสร้างสารสกัดกัญชาในต้นไม้อื่น ๆ เพื่อให้ผลิตสารสกัดได้เร็วขึ้นและเพียงพอกับความต้องการ

วิธีการสกัดกัญชาที่เชื่อมั่นว่าได้มาอย่างปลอดภัย ก่อนนำไปเข้ากระบวนการผลิต และพัฒนาตำรับยาให้เหมาะกับการใช้ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การพ่น การเหน็บ ฯลฯ ให้สะดวก เหมาะสม และปลอดภัย โดยมีการศึกษาความปอลดภัยเรื่องการใช้ในคนในมิติต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่นำไปใช้ในทางที่ผิด เมื่อกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการขึ้นทะเบียนยาและนำไปใช้อย่างปลอดภัย ที่น่าจะเป็นประโยชน์จะมีการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งด้านการตลาด ด้านนโยบาย

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยต่าง ๆ ออกมาเพิ่มเติม ล่าสุดกำลังพัฒนางานวิจัย “จุฬาฯกับ อ.เดชา โมเดล” เป็นงานวิจัยที่จะดูในแง่ของแพทย์แผนไทย ว่าใช้กับโรคใดบ้าง มีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไร และสามารถพัฒนาไปในลักษณะใดได้บ้าง

“ไม่ใช่ต้องการเพียงยาที่รักษาโรคได้ แต่ต้องการยาที่มีความปลอดภัย มีมาตรฐานในการรักษาโรค” ซึ่งล้วนแล้วแต่เริ่มดำเนินการแล้วในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้สนับสนับทุนวิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้สามารถใช้กัญชาได้อย่างเหมาะสมในประเทศ และมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้คือวิกฤตอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องกัญชาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีที่นำมาซึ่งการนำมาสู่การใช้กัญชาที่ทำให้เกิดการใช้กัญชาในทางการแพทย์ บนความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน วิสาหกิจชุมชน ด้านการศึกษา เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชน ที่นับเป็นบทเรียนที่ดี และขอให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันและขอให้จับมือเดินไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ของประชาชน “มีความหวังว่าในอนาคตเราจะมีกัญชาที่ปลอดภัยใช้ และมีผลประจักษ์ชัดในการรักษาโรคมากขึ้น”

 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ายาแผนปัจจุบัน ไม่สามารถชะลอโรคได้ และมีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กัญชาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาและความหวังทางการแพทย์

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับชมรมใต้ดินที่มีการใช้กัญชาในลักษณะทางการรักษา พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้หาวิธีใช้กัญชาเพื่อการต้องการรักษาโรคให้คนในครอบครัว เพราะคนป่วยต้องมีศักดิ์ศรี คือตายอย่างสงบไม่เป็นภาระของลูกหลาน และจากสาเหตุนี้กัญชาจึงถือว่าเป็นยาซึ่งทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

3 ประเด็น ที่ต้องมาติดตาม คือ ผลิตภัณฑ์ คนป่วย และคนสั่งใช้ วันที่ 19 พ.ค. 62 จะเป็นวันชี้ชะตา ซึ่งเหลือเพียงอีก 17 วัน ซึ่งต้องช่วยกันทำให้คนถือยาจากกัญชาทั่วประเทศมากขึ้นทะเบียนโดยไม่ถูกจับถูกปรับ ก่อนถึงวันที่ 19 พ.ค. 62 ส่วนกรณีผู้ปลูกรายย่อย ประกาศให้ประชาชนทั่วประเทศมาลงทะเบียนได้ง่ายและสะดวกที่สุด เพื่อต่อไปให้ อ.ย.ขึ้นทะเบียน ผู้ป่วยและผู้ปลูก

โดยอีก 3 เดือน หลังจาก 19 พ.ค.นี้ ผู้ป่วย ผู้ผลิต สามารถครอบครองต่อได้แต่ของทั้งหมดจะอยู่ในระบบ แต่ต้องสะอาดจากสารเคมี ปราศจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง เพราะสารเคมีพิษเหล่านี้คือสาเหตุของโรคต่าง ๆ โดยคงามสะอาดจะเป็นไปตามมาตรฐานที่มีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้พูดถึงกรณีที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริงหรือไม่ โดยกล่าวว่า

“ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่ามันใช้ได้ผล แต่ต้องพิจารณาเนื่องจากหลายคนมีหลายโรคและมีการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ต่างกัน”

ส่วนกรณีที่มองว่าการใช้กัญชาจะส่งผลเสียต่อระบบประสาท หรือนำไปสู่การเป็นจิตเวชได้นั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่ามีสาเหตุมาจากพันธุ์ของกัญชาที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน รวมถึงและลักษณะการใช้ที่ผิด ใช้หนักเกินควร ที่นำไปสู่การใช้บ่อย (100 ครั้ง/ปี) ทำให้กลายเป็นอาการติดและต้องใช้ไปตลอดชีวิต จึงจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งหากมีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เคร่งครัด จะส่งผลดีและได้ผล

โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่มีการพิสูจน์แล้วว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ ไม่ว่าจะเป็น อาการปวด ปวดจากระบบประสาท, อาการเกร็ง บิด, โรคลมชัก, โรคสมอง สมองเสื่อม,ด้านอารมณ์ (ยกเว้นโรคไบโพลาร์)

หรือแม้แต่การในกับผู้ป่วยมะเร็ง ช่วยในขั้นต่าง ๆ เช่น คนที่เป็นมะเร็งเมื่อรู้ว่าเป็นโรคจะห่อเหี่ยวและทำให้มะเร็งยิ่งเติบโตการใช้สารสกัดจากกัญชาจะช่วยเหลือด้านอารมณ์ได้ ส่วนในผู้ที่ใกล้เสียชีวิตสามารถทำให้ไม่ทรมาน มีโอกาสสั่งเสียงกับญานฝติก่อนจากไปอย่างสงบ ซึ่งในบางกรณีการใช้น้ำมันกัญชาสามารถหยุดการกระจายมะเร็งบางชนิด บางราย บางระยะ แต่ต้องย้ำว่าจำเป็นที่จะรักษาควบคู่ไปพร้อมกับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ มองว่าการพัฒนาที่ดีที่สุด คือต้องให้กลุ่มใต้ดินและบนดินต้องต่อท่อมาอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน เพื่อให้คนที่จะใช้กัญชารู้ชัดเจนว่าใช้แล้วปลอดภัย มีการจับคู่กับของโรงพยายาลชุมชน จังหวัด สถานีอนามัย อสม. ในการสั่งใช้ยาตามความเหมาะสม ฯลฯ

ซึ่งหลังจาก 3 เดือนหลังนี้จากนี้ พืชกัญชาต้องส่งมาให้หน่วยสกัด ตรวจความสะอาด ซึ่งในเรื่องค่าตอบแทนจะไม่มีระบุเนื่องจากมีการตกลงกันแล้วว่าทำเพื่อจิตอาสาทำเพื่อผู้ป่วย ซึ่งหากทำได้ชมรมที่เคยซื้อขายไร้ทิศทางจะหายไปด้วย

“ต้องการให้ใต้ดินและบนดินเชื่อมต่อกัน ณ ขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่ดีกรีไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือหรือการอนุมัติ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้อะไรเพื่ออะไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มองว่า การใช้กัญชาเพื่อสุขภาพนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมและมิติต่าง ๆ ปัจจุบันปฏิกิริยาของแต่ละคนต่อกัญชาแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคนมีมุมมองไม่เท่ากัน ต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจและเป็นไปในทิสทางเดียวกันมากที่สุด เพราะมองว่านอกจากกัญชาจะเยียวยาสุขภาพแล้วจะต้องเยียวยาสังคมด้วย

สำหรับปัจจุบัน กัญชาคือยาเสพติดประเภทที่ 5 ยาทุกตัวมีโทษเสมอ เพียงแต่จะชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์กับโทษ ซึ่งแพทย์และชาวบ้านอาจมองในมุมที่แตกต่างกัน

ซึ่งผลจากการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา จากงานวิจัย านวิจัย คือ พฤติกรรมการใช้กัญชาในกลุ่มผู้ใช้กัญชาในเขตกรุงเทพมหานคร, โครงการสำรวจประมาณการผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. โดย ปปส และเครือข่ายวิชาการยาเสพติด พบว่า คุณสมบัติของกัญชาสามารถแบ่งผลการรักษาได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ได้ผลและพิสูจน์แล้ว, กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่มีแนวโน้มแต่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และกลุ่มที่ 3 คือยังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจน

โดย 4 กลุ่มโรคที่สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ตามกรมการแพทย์ได้แล้วคือลมชักในเด็กปลอกประสาทอักเสบผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการขึ้นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัดและผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ส่วนกลุ่มโรคที่น่าจะใช้ได้ผลและอยู่ระหว่างการศึกษาคือโรคพาร์กินสันส์ อัลไซเมอร์ ฯลฯ

ขณะนี้ มีการร่าง “พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ…… ฉบับประชาชน” ที่แยกจากพระราชบัญญัติยาเสพติดและพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ มีการบริหารจัดการตั้งแต่การปลูกเมล็ดพันธุ์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการกำหนดสิทธิชุมชนและธรรมนูญชุมชน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงชื่อ ทำประชาพิจารณ์เพื่อนำไปสู่การเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อไป

“ควรดึงความรู้ที่มาจากผู้ป่วย แล้วนำมาสังเคราะห์ภาพใหญ่แล้วเอามาใช้ได้ยังไงบ้าง อยากให้ดึงทั้งประสบการณ์ที่สำเร็จและความล้มเหลว รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ ยอมรับความจริงและพัฒนาเพื่อคนอื่นต่อไป” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ 
ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ

ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ  ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กัญชาเป็นสูตรยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันถูกระบุว่าจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติด ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การจัดแบ่งตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

ก. ตำรับยาตามองค์ความรู้เป็นที่รู้จักและยอมรับทางการแพทย์แผนไทย บางตำรับมีการใช้อยู่ในปัจจุบันแต่ตัดกัญชาออกไป ด้วยยาหาง่าย ไม่เป็นอันตราย 16 ตำรับ

ข. ตำรับยาที่ประสิทธิผล แต่มีวิธีการผลิตไม่ชัดเจน เช่น บางตำรับมีสัดส่วนของตัวยาไม่ชัดเจน และมีตัวยาหายาก ต้องมีการถอดความรู้ให้ชัดเจน 11 ตำรับ

ค. ตำรับยาที่มีกัญชาค่อนข้างน้อย หรือมีฤทธิ์กัญชาไม่มาก ควรให้มีการศึกษาเพิ่มเติม 32 ตำรับ

ง. ตำรับยาที่มีส่วนประกอบอยู่อนุสัญญา CITES หรือเป็นตัวยาที่ WHO ประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง หรือที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ 31 ตำรับ

ปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการ การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย เพื่อให้มีการขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยทั้ง 4 ด้าน คือ

  • ด้านการปลูกและการผลิตตำรับยา
  • ด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลากร
  • ด้านการวิจัยและพัฒนาวิชาการตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่
  • ด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชา

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย เพื่อประสานงานการขับเคลื่อนจัดการกัญชาและกระท่อม ประสานและติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาเกี่ยวกับกัญชา

“ความเป็นห่วงคือ เครื่องยากัญชาอาจจะนำมาสูบหรือใช้เพื่อสันทนาการ ซึ่งอาจจะมีข้อเสีย ซึ่งจะมีการบดไม่ให้คงสภาพที่เป็นดอก และผสมตัวยาบางชนิดเช่นพริกไทย หรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่เรียกว่าเครื่องยาผสมกัญชากลาง เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในการสันทนาการ” ภญ.ดร.อัญชลี กล่าว

ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

ส่วน ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มองในมุมของกฎหมายว่าการที่สิ่งใดถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับการจำกัดความ ซึ่งปัจจุบัน “กัญชา” ถูกขนานนามให้เป็นยาเสพติด ที่ก่อให้เกิดผลเสียหรือโทษอย่างร้ายแรงต่อร่างกายและเป็นภัยร้ายต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม ตั้งคำถามว่า เราสามารถทำได้จริงหรือไม่ “กัญชาเสรี” โดยนิยามคำว่าเสรีว่าเป็นการเปิดให้เข้าถึงสำหรับทุกคน ซึ่งถ้ามีการเปิดเสรี ต้องคำนึงว่าจะแยกแยะอย่างไรเพื่อรักษาโรคหรือเสพเยี่ยงยาเสพติด หรือแยกแยะว่าเป็นยาเสพติดหรือการใช้เพื่อสันทนาการ โดยตั้งคำนึงถึงความแตกต่างของ คำ 2 คำ นี้ คือ Legalization กับ Medicalization

  • Legalization การมีกฎหมายควบคุมและกำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงและการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อการแพทย์ เพื่อรักษาโรค เพื่อสันทนาการ เพื่อเป็นอาหาร
  • Medicalization ต้องเป็นสารสกัดที่ให้คุณมากกว่าให้โทษ ลดทอนความเป็นอันตรายของยา

ทั้งนี้ ผศ.ดร.คนึงนิจ มองว่า การตัดสินใจด้านกฎหมายนั้นมีอนุสัญญาในต่างประเทศที่จะต้องคำนึงถึง และมีหลายขั้นตอน ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศ จะต้องจัดตั้งหน่วยงานการให้การควบคุมกัญชาแห่งชาติ

ซึ่งกฎหมายก่อนคลายล็อกเกี่ยวกับกัญชา คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ส่วนกฎหมายหลังคลายล็อก พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ.2562

ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ.2562 พืชกัญชาจัดอยู่ในสารเสพติดประเภทที่ 5  เจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้เนื่องจากปรากฏผลวิจัยว่า สารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมากซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว

โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ

– เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษอีก 8 คนสำหรับการพิจารณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนายกแพทยสภา เป็นต้น

– ห้ามีให้ผู้ใดผลิตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้

– เพื่อประโยชน์ของทางราชการการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ให้รวมถึงการเกษตรกรรมพาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

– ในกรณีที่เป็นกัญชง ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

– ในกรณีที่เป็นการนำติดตัวเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคเฉพาะตัวโดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบ วิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือหมอพื้นบ้านตามกฏหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษาให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต

– ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทห้าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตแต่ไม่ใช้บังคับแก่การมียาเสพติดให้โทษในประเภทห้าไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว (ผู้ป่วยที่ใช้ยาตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพ)

“กฎหมายต้องเข้ามาเรียนรู้ นักกฎหมายต้องพึ่งพาแพทย์ เภสัชกร ต้องแยกแยะว่าจะออกกฎหมายอย่างไร เพื่อให้รองรับคุณสมบัติของทั้ง 2 ด้าน ของกัญชา ปัจจุบันอิสราเอลมีการตั้งองค์กรกลางควบคุมเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ควบคุมกำกับ 100% ผลิตกัญชาออกมาเพื่อรักษาประชาชน แต่ไม่ได้แปลว่าถ้าเขามีเราต้องมี”

ผศ.ดร.คนึงนิจ  ระบุว่า แม้มีแนวโน้มในทางสากลว่าจะมีการถอดกัญชาออกจากสารเสพติด แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นแบบ open access และต้องมีกระบวนการต่าง ๆ หลายขั้นตอน สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คือแพทย์ต้องตกลงกันให้เรียบร้อยเพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงการใช้สารสกัดจากกัญชาอย่างเร็วที่สุด เพื่อดำเนินการเพื่อผู้ป่วยต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ