จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการรถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็กโฉมใหม่ กับรูปลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น และขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สานต่อแนวคิดลดมลภาวะ ตามโครงการนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว และช่วยอำนวยความสะดวกแก่นิสิต คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“รถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็ก” (Shuttle Bus) ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่ถูกเรียกจนติดปากว่า ‘รถป๊อบ’ ซึ่งมีที่มาจากคำว่ารถปรับอากาศพิเศษ (ปอ.พ) เริ่มต้นให้บริการราวปี 2545
รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรที่เดินทางด้วยรถขนส่งทางสาธารณะ รวมถึงชุมชนโดยรอบที่ต้องการเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเข้ามาทำงาน พบปะเพื่อนฝูง หรือใช้บริการห้องสมุดของจุฬาฯ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นคนจุฬาฯ เท่านั้นที่จะใช้บริการได้ ซึ่งที่มาผ่านก็ไม่มีการตรวจสอบหรือให้แสดงตัวตน เพียงแต่ขอสงวนสิทธิ์ให้กับบุคลากรจุฬาฯได้ใช้บริการก่อน โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ประมาณ 07.00 น. ของทุกวัน ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากเท่านั้น
ในช่วงแรกมีการจำหน่ายคูปองในราคา 2 บาท แก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากที่เกิดปัญหาว่า คนที่ไม่มีคูปอง จะไม่สามารถใช้บริการรถโดยสารได้ ทำให้เสียความตั้งใจที่จะมาใช้บริการ จึงเกิดแนวความคิดเปิดบริการฟรีมาจนถึงปัจจุบัน
ข่าวน่าสนใจ:
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รถโดยสารปรับอากาศมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้พลังงานทางเลือกในระบบขับเคลื่อน มีการปรับระบบให้เป็นแบบไฮบริดจ์ ซึ่งผสมระหว่าง ไฟฟ้ากับดีเซล หรือ ไฟฟ้ากับ LPG และถูกพัฒนาจนใช้การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และบริษัทเอกชน ซึ่งสอดรับกับนโยบาย ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’ ที่จุฬาฯผลักดันอยู่เสมอ
นอกจากจะใช้รถพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้เดินเท้า ด้วยการสร้างทางเดินที่มีหลังคา เพื่อลดการขับรถเข้ามาในมหาวิทยาลัยชั้นใน มีการทำที่จอดรถไว้บริเวณมุมขอบของมหาวิทยาลัยและใช้บริการรถ Shutter Bus ที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้แทนเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งมวลชนมาสู่บริเวณมหาวิทยาลัย เพื่อลดการก่อมลภาวะ
ปัจจุบันมีรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าให้บริการ 5 สาย รวมทั้งสิ้น 34 คัน แบ่งเป็นรถที่วิ่งประจำ 28 คัน ผลัดเปลี่ยนกันให้บริการ และรถสำรอง 6 คัน สำหรับในกรณีฉุกเฉิน เช่นรถไม่สามารถกลับเข้าในจุดรับส่งได้ เนื่องจากการจราจรติดขัด ฝนตกรถติด หรือกรณีฉุกเฉินอื่นๆ
ในสถิติล่าสุด ปี 2560 รถโดยสารปรับอากาศภายในจุฬาฯ มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 4 ล้านคนเที่ยว/ปี คือมีคนใช้บริการถึง 4 ล้านครั้ง ในรอบ 1 ปี ซึ่งอาจเทียบเท่ากับรถเมล์บางสายที่ให้บริการตามปกติในกรุงเทพฯ ซึ่งนับว่าได้รับความนิยมมาก ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งกรอบงบประมาณสนับสนุนไว้ประมาณปีละ 40 ล้านบาท ด้วยการจ้างเหมาบริษัทเอกชนที่มีความพร้อมในการให้บริการ
โดยรถรูปแบบใหม่ เปิดให้บริการ ‘ฟรี’ แบ่งเส้นทางบริการออกเป็น 5 สาย ได้แก่
สายที่ 1 สายสีแดง ลิโด้ (BTS สยาม), คณะเภสัชศาสตร์, เตรียมอุดมศึกษา, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, ศาลาพระเกี้ยว, สาธิตปทุมวัน, สัตวแพทย์ศาสตร์, แยกเฉลิมเผ่า
สายที่ 2 สายสีน้ำเงิน BTS สนามกีฬาแห่งชาติ, อาคารจุฬาพัฒน์ 13, คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา, สหเวชศาสตร์, อาคารจามจุรี 10, หอพักนิสิต, สำนักงานจุฬาฯ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, ศาลาพระเกี้ยว, อาคารมหิตลาธิเบศ, อาคารมหามกุฏ, คณะวิทยาศาสตร์, คณะครุศาสตร์, อาคารจามจุรี 9, ธรรมสถาน, วิทยพัฒนา, ศศินทร์
สายที่ 3 สายสีเขียว คณะแพทยศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์, อาคารมหิตลาธิเบศ, อาคารมหามกุฏ, คณะวิทยาศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, ศาลาพระเกี้ยว
สายที่ 4 สายสีเหลือง ลิโด้ (BTS สยาม) , คณะเภสัชศาสตร์, เตรียมอุดมศึกษา, คณะครุศาสตร์, หอพัก U-Center, คณะนิติศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, ศาลาพระเกี้ยว, สาธิตปทุมวัน, สัตวแพทย์ศาสตร์, แยกเฉลิมเผ่า
สายที่ 5 สายสีม่วง ศาลาพระเกี้ยว, อาคารมหามกุฏ, คณะวิทยาศาสตร์, คณะนิเทศศาสตร์, สาธิตมัธยม, อาคารจามจุรี 9, ตลาดสามย่าน, แอมพาร์ค, ระเบียงจามจุรี, ธรรมสถาน, สำนักงานจุฬาฯ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์
เวลาให้บริการ
ช่วงเปิดภาคการศึกษา : วันจันทร์-ศุกร์ สาย 1,2 และ 5 เวลา 07.00-22.00 น.
วันจันทร์-ศุกร์ สาย 3,4 เวลา 07.00-19.00 น.
ช่วงปิดภาคการศึกษา : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-19.00 น.
ช่วงเปิดและปิดภาคเรียน : วันเสาร์ เฉพาะสาย 1 และ 2 เวลา 07.00-19.00 น.
ในแง่ของความพึงพอใจในการบริการ รศ.ดร.บุญไชย มองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีทั้งผลตอบรับที่ดีและไม่ดี บ่อยครั้งที่เกิดคำถามว่า ‘เป็นการเดินรถภายใน ทำไมถึงไม่สามารถจัดตารางเวลาได้’ คำตอบคือ รถโดยสารปรับอากาศ ไม่ได้มีทางวิ่งเฉพาะของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถกำหนดเวลาที่ตายตัวได้ เช่นเดียวกับระบบ ขสมก. ที่พยายามทำบัสเลนแต่ไม่สำเร็จเรื่องจากหลายปัจจัย มีสถานการณ์ต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ฝนตกรถติด เย็นวันศุกร์ที่การจราจรจะติดขัดเป็นพิเศษ ในทำนองเดียวกันนี้ ทำให้รถภายในจุฬาฯไม่สามารถกำหนดเวลาของการเดินรถได้
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้มีการสร้างแอพพลิเคชั่น “CU Popbus” ที่เกิดจากความร่วมมือของนิสิตวิศวกรรมศาสตร์และอีกหลายคณะในมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการรอรถนานเหมือนไร้จุดหมายที่นิสิตเคยประสบ โดยแอพพลิเคชั่นนี้ สามารถติดตามการเดินรถในแต่ละจุด ระบุความเร็วรถ ด้วยระบบ GPS เพื่อให้ผู้โดยสารรู้ความเคลื่อนไหวของรถสายต่างๆ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถคำนวณได้ว่าจะต้องรอรถเป็นเวลาเท่าไหร่ รถอยู่ห่างจากจุดที่ผู้ใช้บริการกำลังรออยู่ในขณะนั้นกี่เมตร เพื่อช่วยให้วางแผนการเดินทางได้มากขึ้น
ส่วนเสียงสะท้อนของผู้ใช้ ทั้งนิสิต และบุคลากร จากการสอบถาม พบว่ามีความพึงพอใจในบริการ CU Shuttle Bus ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นบริการฟรี และดีกว่าการเดินเท้า แต่อยากให้มีการเพิ่มเติมจำนวนรถให้บริการให้เพียงพอต่อความต้องการ มาเร็วขึ้น หรือให้คนขับใส่ใจผู้โดยสารมากขึ้น ส่วนมุมมองที่มีต่อรถระบบไฟฟ้ารุ่นใหม่ทุกคนมีความเห็นว่าดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ เพราะขึ้นลงได้สะดวกขึ้น และมีรูปลักษณ์ที่ดีกว่าแบบเดิม และยืนยันที่จะใช้บริการรถโดยสารปรับอากาศหรือรถป๊อบเหล่านี้ต่อไปเมื่อมีโอกาส
“ถึงแม้จะมีเสียงสะท้อนที่ไม่พึงพอใจอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถเลิกทำได้แน่ๆ ถ้าเลิกทำจะมีปัญหาแน่นอน แม้ช่วงเริ่มโครงการบอกว่าคือบริการเสริม เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก แต่ปัจจุบันหลายคนมองว่าเป็นเรื่องหลักที่ใช้เป็นข้ออ้างที่มาไม่ทัน อีกหนึ่งปัญหาคือการบริการ ต้องยอมรับว่าในบางสถานการณ์ที่รถติด แดดร้อนจะเกิดความหงุดหงิดทั้งในฝ่ายของผู้โดยสารและผู้ให้บริการ ที่ยังต้องหาทางพัฒนากันต่อไป” รศ.ดร.บุญไชย กล่าว
ส่วนในอนาคตประเทศไทยจะสามารถใช้รถพลังงานไฟฟ้าหรือไม่นั้น รศ.ดร.บุญไชย มองว่า ในแง่ของเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มองว่าการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพฯทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากรถพลังงานไฟฟ้านั้นมีขีดจำกัดในเรื่องของการชาร์จไฟ เช่นกรณีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในจุฬาฯ หากชาร์จพลังงานไฟฟ้าเต็มที่ ในชั่วโมงเร่งด่วนที่ต้องเดินรถตลอดเวลา จะใช้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
หากจะใช้รถพลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชนไทยที่มีเส้นทางวิ่งยาวๆ อาจจะต้องปรับเส้นทางให้สั้นลงด้วย ที่สำคัญคือการจะใช้รถระบบไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชนไทยได้นั้น จะต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบรถพลังงานไฟฟ้าให้พร้อม เช่น สถานีชาร์จไฟที่เพียงพอ จึงจะสามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ในอนาคตรถพลังงานไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันนี้ อาจจะไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่อาจจะเป็นทางรอดของระบบขนส่งมวลชนไทยและสิ่งแวดล้อม ที่น่าจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการลดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ช่วยลดการเกิดมลภาวะในระบบนิเวศต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: