หลังจากที่มีการประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561ซึ่งเป็นการประกาศหลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นี้ จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดความเห็นเกี่ยวกับการเกณฑ์ใหม่นี้ในหลายแง่มุมทั้งจากเจ้าของและผู้เช่า
ผู้ประกอบการไม่รู้ เหตุหน่วยงานรัฐไม่แจ้ง
จากการสอบถาม เจ้าของหอพักย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงความคืบหน้าของการปรับเปลี่ยนการคิดค่าเช่า และค่าระบบสาธารณูปโภคตามเกณฑ์ใหม่ หลายรายเปิดเผยว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดของกฎเกณฑ์ดังกล่าวจึงยังไม่มีการปรับใช้ และบางรายปฏิเสธการให้ข้อมูล
เจ้าของหอพักย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ รายหนึ่งเปิดเผยว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการประกาศปรับเกณฑ์คิดค่าเช่าใหม่ ว่าจะมีการบังคับใช้เมื่อไหร่อย่างไร เห็นเพียงข่าวที่ถูกส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและข่าวจากโทรทัศน์ และเชื่อว่าเจ้าของอพาร์ตเม้นต์ ห้องเช่าหลายแห่งก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกับตน
ทั้งยังกล่าวว่าอยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนว่าต้องการให้ปรับเปลี่ยนอย่างไร อยากให้สื่อมวลชนช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ช่วยชี้แจงให้ถึงผู้ประกอบการว่าควรจะปฏิบัติไปในทิศทางใด หากต้องมีการปรับลดจริงต้องมาพิจารณาเมื่อถึงเวลา
ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวตามเกณฑ์ใหม่
เจ้าหน้าที่อพาร์ตเมนต์อีกแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ชัย ให้ข้อมูลว่า ทราบเรื่องกฎเกณฑ์การปรับค่าน้ำ-ค่าไฟแล้ว และเห็นว่าหอพักที่ดูแลอยู่จะมีการปรับค่าน้ำ-ค่าไฟลงเมื่อถึงเวลาบังคับใช้ ในวันที่ 1 พ.ค. 61 ส่วนรายละเอียดราคายังไม่ทราบว่าจะอยู่ที่เท่าใด ต้องรอการยืนยันจากเจ้าของหอพักอีกครั้ง
ด้าน ศิริวัช แจ้งสนิท ผู้ประกอบการธุรกิจอพาร์ตเมนต์ ในย่านบางกะปิ มีมุมมองว่า ข้อดีสำหรับการกำหนดแบบนี้ คือทุกที่จะมีการเก็บอัตราค่าบริการเท่ากันหมด เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นราคาที่ผู้ประกอบการตั้งขึ้นเอง ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่จะตอบได้ว่าราคานี้ ถูกหรือแพง ซึ่งถ้าเก็บแพงเกินไปลูกค้าก็หนี เก็บถูกเกินไปก็ไม่มีกำไร เมื่อรัฐบาลมีการกำหนดราคาให้ก็จะได้ไม่มีข้อถกเถียงกัน
“เรื่องการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา หากรัฐกำหนดเป็นกฎหมายให้เก็บในราคาเท่ากันหมดก็ยินดีทำตาม เพราะที่ผ่านมาการคิดค่าบริการน้ำไฟ อพาร์ทเมนต์ก็คิดจากราคาอพาร์ทเมนท์ในละแวกเดียวกันเขาเก็บเท่าไรกัน เราก็เก็บตาม”
ผู้ประกอบการมองเกณฑ์ใหม่กระทบผู้ให้บริการห้องเช่า
อัครเดช ผู้ประกอบการห้องเช่าย่านบางกะปิอีกรายกลับมองว่า เรื่องการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาสำหรับเช่านั้นจำเป็นต้องคิดในราคาที่ต่างจากจะคิดในเรตค่าใช้ไฟฟ้าและค่าน้ำประปาตามบ้าน โดยให้เหตุผลว่า “เพราะมิเตอร์นั้นเป็นมิเตอร์รวม และค่าน้ำค่าไฟ ที่การไฟฟ้า การประปาคิดนั้น คิดจากฐานของผู้ประกอบการซึ่งจะแพงมากกว่าค่าใช้ไฟปกติ”
ผู้เช่ากังวลเกณฑ์ใหม่ดันค่าเช่าสูงขึ้น
นภัสวรรณ ผู้เช่าอพาร์ทเมนต์ เล่าประสบการณ์ว่า “ที่ผ่านมาเจอมาหลายแบบ หอพักแรกที่อยู่คิดค่าไฟหน่วยละ 7-8 บาท ค่าน้ำหน่วยละ 20 บาท พอย้ายมาอีกอพาร์ตเมนต์คิดค่าน้ำแบบเหมารวม 300 บาท การมีประกาศแบบนี้ก็ทำให้ปรับลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ต้องไม่ลืมว่านอกจากค่าน้ำ ค่าไฟแล้ว ยังมีค่าอินเตอร์เน็ต และค่าเคเบิล ที่ต้องจ่าย ส่วนที่เจ้าของมักบอกว่าเอามาบำรุงรักษา เราก็เห็นว่าเขาแทบจะไม่ดูแลอะไรเลย “
นภัสวรรณ ยังแสดงความกังวลว่า จากนี้เจ้าของอพาร์ตเมนต์บางราย เมื่อจำเป็นต้องลดค่าน้ำค่าไฟ อาจจะไปปรับเพิ่มกับค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น สุดท้าย ภาระก็ตกอยู่ที่ผู้เช่าเช่นเดิม
เช่นเดียวกับ จักรพรรณ ผู้เช่าอพาร์ตเมต์รายหนึ่งเผยว่า “ค่าน้ำค่าไฟทุกวันนี้ก็แพงอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มอีก และยังมีบริการยิบย่อย เช่นเวลาลืมกุญแจ แล้วไปขอเบิกกุญแจสำรองมาเปิดห้องก็มีค่าบริการเพิ่มในการยืมกุญแจสำรองอีกครั้งละ 50 บาท ก็อยากจะให้รัฐบาลมาช่วยกำกับดูแลให้มีกฏระเบียบที่เหมือนๆกันหมด”
ส่วน ปรีติ ผู้เช่าอพาร์ตเมนต์อีกราย เผยว่า “สุดท้ายแล้วภาระก็ตกมาที่ผู้บริโภคอยู่ดี รัฐบังคับใช้ให้อพาร์ทเมนต์เก็บค่าน้ำค่าไฟ ให้ไม่เกินหน่วยละ 5 บาท ทำได้อยู่แล้ว แต่ในที่สุดเดี๋ยวเจ้าของหอพักก็ปรับขึ้นค่าเช่าห้อง หรือเพิ่มค่าส่วนกลาง เพื่อทดแทนเงินที่เขาเสียไปจากค่าน้ำค่าไฟ ดีไม่ดีค่าห้องหรือค่าส่วนกลางที่เขาจะเก็บเพิ่มอาจจะแพงกว่าค่าน้ำค่าไฟที่เราเคยจ่ายในยูนิตแพงๆ เสียอีก ตรงนี้คือสิ่งที่อยากให้รัฐเข้ามาช่วยดูแล”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: