X

กลุ่มมีดพร้านาป้อ ร่วมมือนักวิจัย สกว. ผลักดันมีดท้องถิ่นตรังสู่ตลาดโลก

ในยุคที่อุตสาหกรรมเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แทนที่ภูมิปัญญาดั้งเดิม เนื่องจากสามารถผลิตได้มากกว่า เร็วกว่า และได้มาตรฐานเดียวกันทุกเล่ม และต้นทุนต่ำจากการผลิตในจำนวนมาก ทำให้ภูมิปัญญาการทำอุปกรณ์ดั้งเดิมอย่างการตีมีดค่อยๆลดลง

แม้ในหลายพื้นที่จะพยายามอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายในการสวนกระแสการค้ายุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ที่ ‘กลุ่มวิสาหกิจชมุชนมีดพร้านาป้อ’ แห่งนี้

เนื่องจากมีการร่วมมือกันระหว่างวิสาหกิจชุมชน และนักวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เล็งเห็นว่าการตีมีดแบบดั้งเดิมยังสามารถแบ่งส่วนแบ่งการตลาดได้ ในแง่ของเอกลักษณ์ของมีดที่มีคุณภาพดี และการปรับตัวในเท่าทันยุคดิจิทัล

กลุ่มวิสาหกิจชมุชนมีดพร้านาป้อ มีอยู่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลิตมีดพร้าที่ประวัติความเป็นมาว่ามีดเหล่านี้ใช้ในการสร้างเมืองตรังที่ถูกสืบทอดมายาวนาน จำหน่ายไปทั่วประเทศและประเทศมาเลเซีย เมียนมาร์ และลาว

วันใหม่ ชิดจันทร์ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ จ.ตรัง
วันใหม่ ชิดจันทร์

วันใหม่ ชิดจันทร์ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ เล่าว่า เอกลักษณ์ที่ทำให้มีดที่นาป้อ มีความแตกต่างจากที่อื่น คือเหล็กและวิธีการตีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม

“โดยมีดทุกชนิดที่ถูกตีขึ้นที่นี่ ทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เก่า ความเหนียวและทนทานของเหล็กแหนบ หลังจากที่ผ่านกรรมวิธีต่างๆจนกลายเป็นมีด จะมีความแข็งแรง ไม่บิ่นง่าย และมีอายุการใช้งานที่นานมากกว่าเหล็กทั่วไป”

มีดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อคือ ‘มีดงอหัวตัด’ เป็นมีที่มีปลายตัด ตัวเล่มไม่ยาวมากเหมาะสำหรับการใช้สำหรับงานที่สมบุกสมบัน เช่นการถางหญ้า ถางป่าบนภูเขา และ ‘มีดงอหัวแหลม’ ที่มีลักษณะตรงยาวส่วนปลายของโค้งเล็กน้อยและมีปลายแหลมกว่าแบบแรก เหมาะกับการให้ตัดถากเอนกประสงค์ ทั้งนี้ยังมีมีดชนิดอื่นๆ อาทิ จอบ เสียม และมีดขนาดเล็ก ซึ่งรับผลิตมีดตามความต้องการของลูกค้า

สำหรับกระบวนการเผาเหล็กให้แดงสำหรับตี หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล่าว่า เคล็ดลับสำคัญคือการใช้ไม้เขี้ยมจากต้นเขี้ยม ที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมาเผาทำเป็นเชื้อเพลิง สาเหตุที่เลือกไม้เขี้ยมมาใช้ในการเผา เพราะมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว ร้อนสม่ำเสมอ แต่มีความแตกต่างจากถ่านไม้ชนิดอื่น ตรงที่มอดเร็ว และต้องอาศัยพัดลมเป่าเพื่อให้ระอุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ประหยัดถ่านไม้ ไม่ต้องปล่อยให้มอดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

โดยการเผาเหล็กให้แดงจนสามารถตีได้นั้นจะใช้ความร้อน มากกว่า 100 องศา ตีเหล็กประมาณ 100-300 ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของมีดและขั้นตอนการเผาก่อนหน้า ถ้าเหล็กแดงจัดจะสามารถตียืดได้มากกว่า จากนั้นนำเข้าเครื่องรีดเหล็ก เพื่อตกแต่งเก็บรายละเอียดมีด

มีดพร้านาป้อ จ.ตรัง

ต่อด้วยการนำไปทำคมด้วยเครื่องเจียเหล็ก ก่อนจะนำไปชุบด้วยน้ำเปล่าให้เหล็กเย็น โดยวันใหม่ เผยว่าขั้นการชุบมีดนี้ หากชุบไม่ดีเหล็กจะเปราะหรืออาจแตกได้ ซึ่งไม่ใช่ช่างทุกคนที่สามารถชุบมีดได้ ต้องอาศัยความชำนาญอย่างสูง และนับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตมีดพร้านาป้อที่ต้องอนุรักษ์และหาผู้สืบทอดให้ได้

มีดทุกเล่มจาก นาป้อ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของคนท้องถิ่น นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายของคนที่ท้องถิ่นที่น่าสนับสนุน สกว.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพในชุมชนและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำมีด จึงเลือกพื้นที่นาป้อแห่งนี้ เป็นพื้นที่วิจัยและนำผลวิจัยมาผลักดันให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม จนเกิดเป็นโครงการ “การศึกษาและพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์มีดพร้านาป้อ” ขึ้น

วันใหม่ เผยว่า หลังจากที่ สกว. ได้นำการวิจัยมาร่วมพัฒนา ตนและทีมงานได้ประยุกต์ใช้จนสามารถผลิตมีดมากขึ้นได้ในแต่ละวัน โดยตัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ทำให้สามารถทำมีดได้เพิ่มขึ้นจากวันละ 80-120 ชิ้น เป็น 150 – 180 ชิ้นต่อวัน

จากเดิมคนงาน 1 คนจะต้องทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตัดเหล็ก ตีมีด ทำคม จนได้มีดที่สมบูรณ์ ได้ปรับขั้นตอนเป็น แต่ละคนทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง เช่น คนที่ตัดเหล็กแหนบก็ทำหน้าตัดเพียงอย่างเดียว ก่อนส่งให้คนที่ทำหน้าที่ตี และส่งต่อในขั้นตอนอื่นเป็นทอดๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยร่นระยะเวลาการทำงานได้มากกว่า

นอกจากนี้งานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างชุมชนและสกว. ยังมีส่วนสำคัญในการแนะนำการทำช่องทางการตลาดใหม่ๆ จากเดิมที่ใช้วิธีการจำหน่ายโดยตรงด้วยการออกบูทในฐานะสินค้า OTOP และส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลางกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย เมียนมาร์ และลาว

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจมีดพร้านาป้อ เริ่มมีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น อาทิ การสร้างเพจเฟซบุ๊ก สำหรับประชาสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้า ที่ชื่อว่า Napoknife Otop Trang ที่จะมีการอัปเดตรูปภาพ ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีดพร้านาป้อ สามารถติดต่อซื้อขายกับลูกค้ารายย่อยได้โดยตรงและเป็นหนึ่งช่องทางสร้างการรับรู้สินค้าไปในเวลาเดียวกัน

ในอนาคตอันใกล้จะมีการทำการตลาดด้วยแอพพลิเคชั่น LINE@ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจัดจำหน่าย และเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการและศึกษาเรียนรู้

ด้าน ปิยะนุช ปรีชานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพด้านการตลาด ของผลิตภัณฑ์มีดพร้านาป้อ จ.ตรัง” มองว่า มีดพร้านาป้อเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ซึ่งจากการเข้ามาวิจัยได้มุ่งประเด็นไปที่กลุ่มลูกค้าที่ไม่ซื้อมีดพร้านาป้อ ว่ามีปัจจัยใดเป็นต้นเหตุ โดยจะนำผลการวิจัยนี้มาเพื่อหาวิธีการทำการตลาด และส่งเสริมกลุ่มที่ยังไม่เกิดการซื้อสินค้ากลายเป็นกลุ่มลูกค้าของมีดพร้านาป้อได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยัง มีการวิจัยถึงขีดความสามารถในการส่งออกของวิสาหกิจชุมชน และความต้องการซื้อจากประเทศอื่นๆ โดยมุ่งขยายไปยังประเทศอินโดนีเซีย และในอนาคตจะขยายไปสู่ประเทศจีน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดใหญ่ในการทำให้สินค้าจากชุมชนฝีมือคนไทย ส่งออกไปสู่ตลาดโลกต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ปณิดดา เกษมจันทโชติ

ปณิดดา เกษมจันทโชติ

จบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ฝึกงานที่หนังสือพิมพ์จุดประกาย/เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) และอมรินทร์ทีวี มีความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ