นางสาวธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอพุทธมณฑล สนับสนุนเกษตรกรต้นแบบที่ทำการผลิตพืชปลอดสารพิษ “นายจรัญ มั่นคงดี (ลุงต๋อย)” เกษตรกรที่มีความตั้งใจผลิตพืชปลอดสารพิษมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย เพื่อยืนยันที่จะผลิตพืชผักโดยไม่ใช้สารเคมี ปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้สารอินทรีย์ เพราะมีความเชื่อว่า ทุกคนควรรับประทานอาหารที่ปลอดภัย จึงตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะเป็นเกษตรกรต้นน้ำ เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ ในพื้นที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
จากกาาสอบถามเกษตรกรว่า ได้เริ่มทำเกษตรปลอดสารพิษมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 จากการทำร่วมกับ คุณลำพึง ศรีสาหร่าย เกษตรกรต้นแบบที่ริเริ่มทำเกษตรปลอดสารพิษ จากหัวใจสีเขียว เริ่มต้นเข้ามาปลูกผักบนเนื้อที่ 4 ไร่ ด้านข้างของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนพื้นที่ในการปลูกผักปลอดสารเคมีในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และผู้มาเยือนจากภายนอกได้มีโอกาสบริโภคผักที่ปลอดภัย การทำสวนผัก มีลักษณะการปลูกแบบยกร่อง เน้นปลูกผักตามฤดูกาล เป็นพืชผักสวนครัวมากกว่า 20 ชนิด เช่น คะน้า แฟง โหระพา ผักโขม ถั่วพู กะหล่ำปลี เป็นต้น แม้ว่าช่วงแรกผลผลิตจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่ได้มีการพัฒนาจนคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค โดยเห็นว่าผักของที่สวนอร่อยกว่าผักที่ใช้สารเคมีทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ เนื้อสัมผัส และที่สำคัญความเชื่อมั่นต่อผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ หลังจากที่ คุณลำพึง ศรีสาหร่าย เสียชีวิตลง ลุงต๋อย ก็ได้ดำเนินกิจกรรมภายในสวน โดยการบริหารงานของลูกชายคุณลำพึง ศรีสาหร่าย ต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักที่ว่า การทำเกษตรปลอดสารพิษ ไม่ใช้สารเคมี เน้นสร้างและบำรุงดินให้มีคุณภาพ การใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสร้างพืชที่แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง สร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีศัตรูธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน ช่วยในการจัดการโรคและแมลง
ขณะนี้ผักภายในสวน นอกจากจะเป็นผักสวนครัวตามฤดูกาลแล้ว ยังเป็นผักที่ปลูกตามความต้องการจากผู้บริโภค มีวางจำหน่ายบริเวณหน้าร้าน “ผักปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ” ด้านหน้าของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐมและสำนักงานเกษตรอำเภอพุทธมณฑล ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรปลอดสารพิษ ได้มีการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ และการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด พร้อมหนุนเกษตรกรผลิตพืชปลอดสาร ก้าวแรกสู่การพลิกโฉมระบบเกษตรสู่ความยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: