ปทุมธานี พัฒนาเส้นใยกล้วยสู่ผืนผ้า สร้างอัตลักษณ์ให้จังหวัดปทุมธานี
จากเส้นใยกล้วยธรรมดาๆ แปรสภาพสู่ผืนผ้าหลากสีสัน ผลงานอันวิจิตรของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ก่อนจะพัฒนาให้เป็นอัตลักษณ์ของเมืองปทุมฯ
วันที่ 11 พย. 2562 ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ พัฒนาเส้นใยกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จังหวดปทุมธานี ภายในโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนายพงษ์เทพ รุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี นางชไมพร ขวัญทอง พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี นายไวพจน์ เอี่ยมสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ให้การต้อนรับที่อาคารศูนย์ส่งเสริมอาชีพ วัดไก่เตี้ย ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าว่าจังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ปลูกกล้วยมากกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ต้นกล้วยหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรจะตัดทิ้ง เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกรอบใหม่ โดยมีปริมาณมากกว่า 30,000 ต้นต่อปี เป็นเพียงแค่เป็นปุ๋ยบนดิน ซึ่งหากมีการนำเศษวัสดุเหลือทิ้ง ในส่วนของกาบและก้านใบของกล้วย นำมาแยกสกัดเป็นเส้นใยน่าจะมีประโยชน์ สิ่งทอจากใยกล้วยเป็นโครงการทีกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จังหวัด แต่ละจังหวัดจัดทำโครงการโดยน้อมนำแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลัก ในการพัฒนาชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของจังหวัดปทุมธานีได้มีความสนใจที่จะพัฒนาเส้นใยธรรมชาติโดยเลือกกล้วยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี และหาได้ไม่ยากในท้องถิ่น เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการพัฒนาเส้นใยจากกล้วยอยู่ก่อนแล้ว
ประกอบกับจังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งผลิตและปลูกกล้วยจำนวนมาก จึงได้พัฒนาเส้นใยกล้วยนำมาเป็นผ้าขาวม้าและชุดแต่งกายเพื่อพัฒนาให้เป็นผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี โดยเริ่มต้นที่กลุ่มแม่บ้านกระแชงที่มีความสนใจและมีภูมิปัญญาด้านงานฝีมือด้านการผลิตผ้าสิ่งทออยู่ก็อยู่แล้ว จึงได้มาร่วมกัน ที่จะทำให้ผ้าจากเส้นใยกล้วย เกิดขึ้นจากที่นี่ ภายใต้ชื่อ โครงการ การพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ จังหวัดปทุมธานี
นายพงษ์เทพ รุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี กล่าว่า ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้นำทีมวิทยากรมาให้ความรู้กับชาวบ้าน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทำอย่างไรให้ผ้าออกมามี คุณภาพที่ดี ประกอบด้วย 4 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรที่ 1 การแยกเส้นใยกล้วย หลักสูตรที่ 2 การปั่นเส้นด้ายด้วยใยกล้วย หลักสูตรที่3 การทอผ้าใยกล้วย และหลักสูตรที่ 4 การเย็บผลิตลายผ้าและการย้อม พร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายจากเส้นใยกล้วยให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดปทุมธานีต่อไป
เส้นใยกล้วย มีคุณสมบัติเด่นในด้านความแข็งแรง และเงามันสามารถขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย ยังสามารถนำมาต่อยอดทอเป็นผืนผ้าและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ถือเป็นการลดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกล้วย และสร้างมูลค่าด้านการพัฒนาเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้แก่เกษตรกร ลดการนำเส้นใยธรรมชาติ จากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางเลือกใช้ผ้าจากเส้นใยกล้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มในการผลิตเสื้อผ้า Eco-friendly เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋าถือ หมวก และรองเท้า สามารถเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ จึงนำงานวิจัยมาถ่ายทอดและต่อยอดให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ และสร้างความเป็นอัตลักษณ์ผ้าจากเส้นใยกล้วยของจังหวัดปทุมธานี
โดยจากการศึกษาหาข้อมูล ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีงานวิจัยในการพัฒนาเส้นใยจากกล้วย จึงได้ขอความอนุเคราะห์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มและคณะเป็นวิทยากรหลักของโครงการมาถ่ายทอดองค์ความรู้ และได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และพระมหาไพบูลย์ ฐิตะธัมโม เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย อนุญาตให้ใช้อาคารศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าจากต้นกล้วย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มทางการเกษตร นำวัสดุเหลือใช้ ในพื้นที่มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นซึ่งอาจต่อยอดเป็นสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้า OTOP สร้างรายได้ในอนาคต ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นกล้วย พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: