ปทุมธานี -เรือนจำปทุมธานีเซ็น MOU โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
วันที่12 มิ.ย.61ที่ เรือนจำจังหวัดปทุมธานี ดร. พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ดร. ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางนุชนาถ ศรีเผด็จ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดปทุมธานี นางทิวาภา รักสัตย์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ผู้บัญชาการเรือนจำในเขต 1รวม 18 แห่งและ วิทยาลัยเทคนิคอยุธยา บริษัท เอ็ดดี้โกลด์ พราว 2 จำกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภายในจังหวัดปทุมธานี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน และภาคเอกชน ว่าด้วยการประสานความร่วมมือโครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง
เรือนจำจังหวัดปทุมธานี จัดทำบันทึกว่าด้วยการประสานความร่วมมือ โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง โดยมีหน่วยงานทั้งหมด 24 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือกันในการวางแผนในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และผู้ที่พ้นโทษในการกลับไปใช้ชีวิตในชุมชน ให้มีงานทำ ตลอดจนสร้างทัศนคติที่ดีของสังคมให้เกิดการยอมรับและให้โอกาสผู้พ้นโทษในการกลับเข้าสู่สังคม เพื่อเป็นการ คืนคนดี มีคุณค่า สู่สังคม
ข่าวน่าสนใจ:
ภายในกิจกรรมครั้งนี้ ยังมีผลงานของผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอาชีพแล้วนำมาแสดงโชว์ เช่น การวาดภาพเหมือน การทำทองรูปพรรณ การทำขนมของหวานต่างๆ การแกะสลักรองเท้าแตะ การปั้นรูปสัตว์ต่างๆ การร้อยพวงมาลัย
พันตำรวจเอก ดร. ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง ในเรือนจำทั่วประเทศ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง รวมถึงเป็นการวางแผนในการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานของประเทศ ตลอดจนสร้างทัศนคติที่ดีของสังคมให้เกิดการยอมรับ และให้โอกาสผู้พ้นโทษในการกลับเข้าสู่สังคม และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษไปแล้วให้สังคมได้รับรู้ รับทราบ ยอมรับและมั่นใจว่า ผู้ต้องขังจะได้รับโอกาสในการ พัฒนาทักษะในขณะต้องโทษ และหลังพ้นโทษ เหมือนบุคคลทั่วไปเมื่อฝึกจบได้รับวุฒิบัตรแล้ว ผู้ต้องขังสามารถนำวุฒิบัตรนี้ไปลดหย่อนวันต้องโทษได้อีกด้วย และเรือนจำต่างๆพร้อมจะสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ เพื่อให้โอกาสผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมและมีที่ยืนอย่างมั่นคงในสังคมด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สามารถเลี้ยงตนเองได้
วันหนึ่งพวกเขาก็ต้องออกมาจากที่ต้องขัง ถ้าพวกเขาได้รับการแก้ไข ชี้แนะแนวทาง และได้รับการเปิดใจจากสังคม ก็ยังเป็นผู้ที่พอจะมีศักยภาพที่จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไทยได้ต่อไป หลายคนที่ออกจากที่ต้องขัง เขาสำเร็จการศึกษาจากเรือนจำและนำไปต่อยอด มีงานทำเสียภาษีให้รัฐ เพราะฉะนั้นความพยายามของพวกเราในวันนี้ก็คือความพยายามที่จะเปิดทางสว่างให้กว้างขึ้น เมื่อผู้ต้องขังเหล่านี้ออกจากเรือนจำ ก็จะเผชิญกับทางสองแพ่ง ซึ่งหลาย ๆ ปีผ่านมาทางไปสู่สวรรค์ ทางสว่างค่อนข้างยาก ไปเคาะประตูบ้านบ้านไหนก็ไม่ต้อนรับ ไปสมัครงานบริษัทไหนก็ถูกปฏิเสธ เพราะมีประวัติ เขากลัวว่าจะไปลักขโมย จี้ปล้น ข่มขืนอีก ซึ่งก็เกิดเป็นปัญหาของสังคม เมื่อทางสวรรค์ไม่เปิดให้พวกเขาเหล่านี้ ก็จะไปทางที่เขาเคยชิน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาด้านวิชาชีพ ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขปัญหา อุปสรรค ฟื้นฟู พัฒนา รวมทั้งพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม เสริมสร้างชีวิตที่ดีให้แก่กันในการ “คืนคนดี มีคุณค่า สู่สังคม” ตามนโยบายของรัฐบาล สร้างเสริมชีวิตและสังคม ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
การดำเนินการในครั้งนี้ได้จัดทำฐานข้อมูลผู้ต้องขัง สถานที่รองรับการฝึกวิชาชีพ และระบบการส่งผู้ต้องขังออกไปฝึกทักษะการทำงานในสถานประกอบการภายนอกเรือนจำ เป็นการส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำก่อนพ้นโทษ เป็นการดำเนินการฝึกอาชีพหลักสูตรฝึกเตรียมเข้าทำงาน และฝึกยกระดับฝีมือแรงงานรวมทั้งการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ด้วยการอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ในการฝึกอบรม และการปฏิบัติงาน และเป็นการควบคุมดูแล ติดตามผลผู้ต้องขังที่ได้รับการส่งเสริมการมีงานทำผ่านกลไกของศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ ศูนย์ CARE (Center for Assistance to Reintegration and Employment)
พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา / รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: