ปทุมธานี มท.2 พร้อมอธิบดีกรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์โรงสูบน้ำดิบสำแล ผลิตน้ำประปาส่งกรุงเทพฯและปริมณฑล
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 มกราคม 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศในกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลอง ท่าจีน และเจ้าพระยา โดยได้นำคณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบผลการบริหารน้ำที่ โรงสูบน้ำดิบการประปานครหลวงสำแล ต.สำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ติดตามการสูบน้ำดิบการประปานครหลวงสำแล หลังพบว่าสถานการณ์น้ำกร่อย ส่งผลกระทบปีนี้ภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง น้ำในเขื่อนมีน้อย จึงไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไปเป็นรสชาติกร่อย สามารถรู้สึกได้ว่าความเค็มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
โดยสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบางวันและบางช่วงเวลา ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ที่รับน้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลองไม่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานทางกรมชลประทานเพื่อดูสถานการณ์การระบายน้ำเพื่อไล่น้ำเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุน โดยทางสถานีสูบน้ำจะหยุดสูบน้ำ 2-3 ชั่วโมงในช่วงที่น้ำทะเลหนุนและคอยตรวจค่าน้ำเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในวันที่ 13-14 มกราคมที่จะถึง จะมีเกิดน้ำทะเลหนุนอีก ซึ่งได้มีการเฝ้าระวังดูสถานการณ์ความเค็มของน้ำเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะยาวนานถึงเดือนพฤษภาคม 2563 หรือจนกว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยพบว่าคุณภาพน้ำประปาในช่วงภัยแล้ง น้ำประปาที่ผลิตจากโรงงานผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) ทุกแห่งได้มาตรฐานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ทุกประการ
หากในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จะมีค่าคลอไรด์เกินค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ว่า หากค่าคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือความนำไฟฟ้า ประมาณ 1,200 หน่วย จะส่งผลต่อรสชาติเปลี่ยนไปเป็นรสชาติกร่อย สามารถรู้สึกได้ว่าความเค็มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่น่าดื่ม ในบางช่วงเวลา แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนปกติ การบริหารจัดการของ กปน. ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ กรมชลประทาน อย่างใกล้ชิด ในขณะที่เกิดภาวะน้ำทะเลหนุน การประปานครหลวงได้บริหารจัดการโดยการหลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงมาผลิตน้ำประปามาโดยตลอด แต่ยังคงมีความเค็มหนุนสูงเข้ามาในระบบ จึงส่งผลให้รสชาติน้ำประปาเปลี่ยนไปเล็กน้อย ซึ่งทางกปน. ขอยืนยันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องผลิตน้ำประปาอย่างต่อเนื่องในช่วงหน้าแล้งนี้ เพื่อการอุปโภคที่สำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชน โดยขอเน้นย้ำว่าคุณภาพน้ำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มีเพียงรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไปในบางช่วงเวลาเท่านั้น
สำหรับแผนในระยะยาว ขณะนี้ กปน.ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ด้วยเงินลงทุน 42,750 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ อาทิ ขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง รองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น ซึ่งหากแล้วเสร็จในปี 2567 จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงในการใช้น้ำประปาของประชาชนในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: