X

ศึกษาดูงาน ชูความพร้อมเมืองคุณภาพ ต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทุกมิติ

ปทุมธานี  ศึกษาดูงานชูความพร้อมเมืองคุณภาพ ต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23-25 ม.ค 2563 ที่ผ่านมานายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอาวุธ วิเชียรฉาย นายอำเภอเมืองปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอธัญบุรี นายพงษ์เทพ รุ่งรืองพัฒาการจังหวัดปทุมธานี นายเอกบดินทร์ จำเนียรกาล ขนส่งจังหวัดปทุมธานี นางสาวธนียา นัยพินิจ หัวหน้าสํานักงานจังหวัดปทุมธานี นายชวลิต ครองสิน ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายสมเดช คงกะพันธ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี ดร.พัชราภรณ์ สิริวรเวชยางกูล สถิติจังหวัดปทุมธานี หัวหน้ากลุ่มงานต่างๆ ได้เดินทางสัมมนาและศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดปทุมธานีประจำปีงบประมาณ 2563 ณ จังหวัดระนอง โดยมีนายพรเทพ ผ่องศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนองและสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง ให้การต้อนรับ

“จังหวัดระนอง” เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน นับตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจ เดิมเป็นหัวเมืองขนาดเล็กขึ้นกับเมืองชุมพร โดยคำว่า ระนอง นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “แร่นอง” เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดมีแร่อยู่มากมาย สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในระนองนั้น มีมากมายหลากหลายแห่ง ซึ่งที่โดดเด่นก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและธรรมชาติ

โดยคณะยุทธศาสตร์จังหวัดปทุมธานีได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่“เกาะพยาม” ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน เป็นเกาะที่ใหญ่ลำดับรองลงมาจากเกาะช้าง ตอนกลางของเกาะเป็นพื้นที่ภูเขามีป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่บางส่วนถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสวน ซึ่งชาวบ้านบนเกาะมีอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนยาง และสวนกาหยู (มะม่วงหิมพานต์) ที่เป็นของฝากขึ้นชื่อของเกาะและศึกษาการเกษตรเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
จากนั้นเดินทางไปที่หมู่บ้านแหลมนาว เป็นชุมชนเป้าหมายแห่งหนึ่งเพื่อลงพื้นที่ไปทําการศึกษาและพบว่ามีประเด็นน่าสนใจมากมายสอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาของจังหวัดปทุมธานี ในเรื่องของการท่องเที่ยววิถีชุมชน

หมู่บ้านแหลมนาว ” ชุมชนต้นแบบพึ่งพาตนเอง อําเภอสุขสําราญ จังหวัดระนอง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาสองร้อยปี แต่ป่าสมบูรณ์อันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสนก็ไม่ถูกบุกรุกแผ้วถาง ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนประกาศพื้นที่อุทยานฯ หรือยุคปัจจุบัน มีบ้างที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพืชในผืนป่าเพื่อดำรงชีพ
นายพิเชษฐ์ ภักดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.นาคา อ.สุขสำราญ กล่าว่า หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆแหลมนาว แห่งนี้ อาจเป็นสถานที่ที่อยู่นอกสายตาของนักท่องเที่ยว หรือห่างไกลจากความรู้จักแม้แต่คนในจังหวัดระนองเอง ความตั้งใจที่ต้องการสร้างฐานะให้ลูกบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว โดยนำวิถีประมงเชิงอนุรักษ์มาเป็นตัวชูโรง เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด และสนุกเพลิดเพลินกับกิจกรรม ลองทำ ลองสัมผัส วัฒนธรรมของชาวเล

โดยยึดหลักเคร่งครัด คือต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีดั้งเดิม และไม่สร้างผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ รวมถึงการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการรักษาและต่อยอด ล้วนเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ ชุมชนที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ยังต้องพยายามแก้ไขคือเรื่องขยะ ซึ่งหมู่บ้านเองมีแนวทางการจัดการขยะที่วางเอาไว้แล้ว อาทิ ขยะแก้ว ขวดน้ำ ขวดพลาสติก และเศษวัสดุอื่น ๆ จะคัดแยกเพื่อส่งขึ้นฝั่ง ส่งไปโรงงานรีไซเคิลขยะ และรายได้จากการขายขยะจะเก็บเข้ากองทุนกลางของหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในเรื่องการจ้างคนขนขยะอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ส่วนขยะเศษอาหารจะนำมาใช้เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ และบางส่วนนำไปเป็นอาหารของปู ปลา ส่วนขยะที่กำจัดได้ก็จะจัดการเผาโดยมีเตาเผาขยะของชุมชน
นายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าว่าจังหวัดปทุมธานี มีรายได้เป็นอันดับ 6 ของประเทศ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี ประชาชนในจังหวัดมีรายได้ต่อหัวเป็นอันดับ 12 ของประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Province Product : GPP) 380,688 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้ ภาคอุตสาหกรรม มูลค่า 202,786 ล้านบาท และการขายส่งขายปลีกมูลค่า 65,358 ล้านบาท เศรษฐกิจการค้าของจังหวัดปทุมธานี มีการกระจายตัวหลายส่วน ทั้งด้านการค้าการลงทุน การเกษตร อาหาร และการแปรรูป การท่องเที่ยว และภาคการบริการ

การสัมนาและศึกษาดูงานในครั้งนี้มีทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันทำงานแบบบูรณาการในการสร้างยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อเป็นกรอบคิดและแนวทางในการเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว โดยกรอบยุทธศาสตร์จะครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาคน พัฒนาเมือง การค้าการลงทุน การเกษตรและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและบริการ และอุตสาหกรรม เกิดเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดปทุมธานี คือ “ปทุมธานี เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางธุรกิจบริการ ฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง” เราจะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นเมืองน่าอยู่ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน และส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพให้จังหวัดปทุมธานีเป็นประตูสู่การค้าสู่ประชาคมอาเซียน

ในครั้งนี้ได้คณะพบปะพูดคุยกับ Mr. Eugen Keidel อดีตนายกเทศมนตรีเมือง Freiburg (ไฟรบวร์ก)ประเทศเยอรมันและMr.s Patchrawadee Keidel ภรรยาชาวไทย ที่เดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย โดย Mr. Eugen Keidel มีโครงการนำผู้สูงอายุที่เมือง Freiburgกว่า 500คน มาพักผ่อนเล่นกอล์ฟที่จังหวัดปทุมธานี และท่องเที่ยวเชิงเกษตร และวัฒนธรรม โดยนายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี มีความยินดีที่จะให้การต้อนรับ และเปิดเผยว่า จังหวัดปทุมธานีมีธุรกิจบริการตลาด/ห้างสรรพสินค้า/พิพิธภัณฑ์/ศูนย์เรียนรู้/สนามกอล์ฟ/โรงแรม/กีฬาทางน้ำ/สวนสนุก/สวนเกษตร/OTOP นวัตวิถี/โฮมสเตย์/และยังใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง โดยมีความพร้อมให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะมาเที่ยวพักผ่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวในจังหวัดปทุมธานี

นายชวลิต ครองสิน ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า มิติของการท่องเที่ยวในจังหวัดปทุมธานี มีมากมายหลากหลาย ทั้งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่วนการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม นั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะนำนักท่องเที่ยวนักลงทุนเที่ยวชมโรงงานต่างๆในจังหวัดปทุมธานี การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมนี้จะเป็นพื้นที่ที่บริษัทหรือโรงงานต่างๆ “ผลิตสิ่งของ”ทั้งอุปโภค บริโภคหรือผลิตสินค้า ทางประวัติศาสตร์หรือทางวัฒนธรรม ไปจนถึงโรงงานที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคนิคการผลิตขั้นสูง

ด้าน “ดร.พินิจ บุญเลิศ” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี” กล่าวว่าด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของจังหวัดปทุมธานีโดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นสู่การเป็นเมืองที่มีคุณภาพ (quality) ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.มาร์เก็ต(market 4.0) 2.การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ecoindustrial town) และ 3.เมืองนวัตกรรม (city of innovation) 4. เมืองประตูแห่งการเชื่อมต่อโลก (Gate of connection)เป็นเมืองที่เป็น ประตูแห่งการเชื่อมต่อโลก จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่ใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) เราสามารถเป็นประตูเชื่อมต่อกับหลายๆประเทศทั่วโลกได้ และปทุมธานีอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นเมืองที่เพียบพร้อมที่สำคัญของอาเซียนและมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี