X

มิติใหม่ของแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลปทุมธานี หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปทุมธานี มิติใหม่ของแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลปทุมธานี หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

การแพทย์แผนไทย คือ ขบวนการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับ การตรวจวินิจฉัย บำบัด รักษา ป้องกัน ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ การนวดไทย รวมถึงการเตรียมผลิตยาแผนไทย การประดิษฐ์อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ โดยความรู้หรือตำราที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมาวิชาชีพแพทย์แผนไทยกับการนวดไทยเป็นศาสตร์และศิลป์แขนงหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทย ที่น่าภาคภูมิใจและดำรงไว้ การนวด สามารถบรรเทา แก้อาการ และบำบัดโรคได้ ,ช่วยในการขับสารพิษออกจากกล้ามเนื้อ , ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด , ช่วยบำบัดอาการไม่สบายต่างๆ ซึ่งจะ ได้ประโยชน์ทั้งสุขภาพกายและ สุขภาพใจ เป็นทางเลือกประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่เป็นการดูแลสุขภาพองค์รวม สอดคล้องกับวิถีชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น ใช้ภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทยพัฒนาสุขภาพประชาชน

นายปรีดา ตั้งจิตเมธี นายแพทย์(ด้านเวชกรรม) ระดับชำนาญการปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ กล่าวว่า แนวทางการให้บริการการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลปทุมธานี เพื่อป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019) พ.ศ. 2563 โดยเน้นมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน สำหรับ ผู้ให้บริการแพทย์แผนไทย รวมทั้งผู้รับบริการ เพื่อป้องกัน ควบคุมโรค ลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีจุดคัดกรอง พร้อมอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอลล์ 70% หรือเจลแอลกอฮล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือ คัดกรองและวัดอุณหภูมิผู้ปฏิบัติงานทุกราย วันละ 2 เวลา เช้า – บ่าย ก่อนปฏิบัติงาน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างน้อย 1 – 2 เมตร วัดอุณหภูมิผู้มารับบริการ-ผู้ให้บริการทุกราย ถ้ามีไข้เกิน 37.3 C และเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ติดเชื้อ การเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว ให้ส่งต่อรับการดูแลทางการแพทย์แผนปัจจุบันทันที

ประชาชนที่เข้ารับบริการ ต้องจองคิวล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการผ่านระบบ ออนไลน์ โทรศัพท์ แอปพลิเคชัน หรือในกรณีไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ให้จัดสถานที่สำหรับผู้รับบริการกรอกข้อมูลโดยการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร และมีที่กั้นระหว่างบุคคล บันทึกรายชื่อ ที่อยู เบอร์โทรศัพท์ วันที่และเวลาของผู้มารับบริการทุกราย เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ในกรณีที่ต้องสอบสวนโรค บันทึกรายชื่อผู้ให้บริการ และกิจกรรมที่ให้บริการกับผู้รับบริการทุกราย มีระบบติดตามผู้รับบริการทุกราย หลังรับบริการอย่างน้อย 14 วัน มีสื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เรื่องโรคติดต่อ ในส่วนกิจกรรมบริการการแพทย์แผนไทย ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การตรวจวินิจฉัย การจ่ายยาสมุนไพร การนวดไทยเพื่อการรักษา การประคบสมุนไพรเพื่อการรักษาและการดูแลมารดา หลังคลอด ซึ่งระยะเวลาในการให้บริการไม่เกิน 1 ชั่วโมง ต่อ ครั้ง

เจ้าหน้าที่นวดหรือให้บริการต้องใส่หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (Face Shield) และถุงมือทุกครั้ง จัดให้มีเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนของผู้มารับบริการ โดยอยู่ในถุงที่แยกแต่ละชุดและผ่านการอบฆ่าเชื้อทุกตัว ในส่วนอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ 70% และที่สำคัญต้องทำ ความสะอาด เตียงนวด/ประคบ หมอน เบาะยาง และเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าขวางเตียง ก่อนและหลังให้บริการทุกครั้ง

นางอรรถรส ชุมศรี นายแพทย์(ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมฟื้นฟู)ระดับชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเปิดเผยว่า คลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลปทุมธานีเริ่มเปิดบริการมาตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2543 โดยแรกเริ่มมีเจ้าหน้าที่ 1 คน เตียงนวด 1 เตียง จำนวนผู้รับบริการ 4 คน/วัน เปิดให้บริการเวลา 16.30-20.30 น. ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ 14 คน เตียงนวด 16 เตียง จำนวนผู้รับบริการ 60-80 คน/วัน ตั้งอยู่ที่อาคารสนับสนุนทางการแพทย์ ชั้น 1 การจัดตั้งคลินิกแพทย์แผนไทยเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังใช้วิธีการบำบัดรักษาด้านหัตเวชกรรมไทยร่วมกับการใช้ยาสมุนไพร เพื่อให้บริการด้านการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยแก่ผู้ป่วยและประชาชนที่สนใจ

รวมทั้งเพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย คือการนวด เช่นนวดตัว นวดฝ่าเท้า การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำจากสมุนไพร และการทับหม้อเกลือหญิงหลังคลอดให้บริการทั้งประเภทผู้ป่วยนอกตามความสมัครใจ และฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการทางจิตสงบแล้ว เช่นการนวดตัวให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะช่วยให้ผ่อนคลาย สบายตัว และนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งการแพทย์แผนไทยนั้นมีจุดเด่นคือให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งกายใจพร้อมๆกัน จึงสามารถใช้ดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพกายที่มาจากปัญหาทางจิตใจ เช่นในผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน ผู้ที่มีความเครียด เป็นต้น สามารถใช้เพื่อส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้เช่นกัน


ด้านนางสาวณัฐสุดา อ้นทอง (แพทย์แผนไทยชำนาญการ) หัวหน้างานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า บริการแพทย์แผนไทยในคลินิกขณะนี้แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ ประกอบด้วย 1.ประเภทบำบัดรักษาอาการ ได้แก่ นวดประคบสมุนไพรเพื่อการบำบัดผ่อนคลายอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อจากความเครียดเช่นที่ไหล่ ต้นคอ ซึ่งผู้ป่วยกว่าร้อยละ50 เป็นผู้ที่ทำงานประจำในสำนักงานและผู้สูงอายุ การอบไอน้ำสมุนไพร เพื่อบำบัดรักษาอาการนอนไม่หลับโดยไม่ต้องพึ่งยา( ซึ่งจะเริ่มเปิดบริการเดือน กรกฎาคมนี้)และการประคบร้อนสมุนไพร เพื่อบำบัดอาการปวดเมื่อยต่างๆ

2.ประเภทการส่งเสริมสุขภาพ สร้างความผ่อนคลาย สุขสบายตัว ได้แก่บริการนวดตัวทั่วๆ ไป นวดน้ำมันและนวดฝ่าเท้าและ 3.ประเภทการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่ การนวดประคบร้อนจากสมุนไพร ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่พักรักษาในโรงพยาบาลและมีอาการทางจิตสงบแล้ว เช่นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีขึ้น และการทับหม้อเกลือเพื่อการฟื้นฟูหญิงหลังคลอด โดยบริการแต่ละประเภทใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อครั้ง

โดยเปิดบริการ ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา08.30-16.00 น. และบริการนอกเวลาราชการตั้งแต่เวลา16.00-20.0 น. ประชาชนสนใจติดต่อสอบถามที่หมายเลข 02-598-8896 และ 061-703-9414 หรือนัดหมายแพทย์แผนไทย Online ทาง MOPH Connect โดยเริ่มจาก1.ค้นหา MOPH Connect 2.เลือกรับบริการ และกด และกรอกข้อมูลตามขั้นตอน บริการจองคิว 3.เลือกโรงพยาบาลปทุมธานีและกรอกข้อมูลตามขั้นตอน 4.กดนวดแผนไทย 5.เลือกวันที่จะมารับบริการ6.เลือกเวลา และเตียงที่ต้องการนวดรักษาได้เลย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี