ปทุมธานี รำพาข้าวสาร ประเพณีแต่โบราณ…ที่นับวันจะเลือนหาย
..ลอ ลา นาวาจอดเอ้ยยย
ประทับทอดอยู่หัวบันได
โอ้ พ่อขา แม่คุณ ลูกเอาผลบุญมาให้
(ลูกคู่)..เอลา เอ้ลา เอหล่า ขาวเอยยยยย
ลูกผู้เป็น เหมือนดังไก่แจ้ มาร้องเซงแซ่ อยุ่ที่ใต้ถุน
ให้แม่โปรยข้าวสาร ลงมาทำทาน เอ้ยย ..เอาบุญ
(ลูกคู่) เอลา เอ้ลา เอหล่า..ขาวเอยยย
…..เสียงเพลงท่วงทำนองไทยเดิม ดังกังวานออกจากเรือลำเล็ก ที่ลอยลำลัดเลาะมาตามคลองแม่น้ำอ้อม ดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำ ในค่ำคืนเดือนมืด หลังวันออกพรรษาเพียงวันเดียว กลุ่มคนในเรือที่มีทั้งชายและหญิง ล้วนแล้วเป็นเป็นคนสูงวัย เมื่อต้นเสียงขึ้นเพลงมาอย่างไพเราะ ลูกคู่ก็คลอตามด้วยสำเนียงเสนาะ ฟังแล้วช่างไพเราะจับใจ….
ขบวนเห่เรือแบบนี้ ชาวปทุมธานี เรียกกันว่าขบวน..รำพาข้าวสาร
รำพาข้าวสาร เป็นประเพณีเก่าแก่ ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณของชาวเมืองปทุมธานี จากการสืบค้นพบว่าประเพณีนำพาข้าวสารนั้น มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 3 คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทำติดต่อกันมาทุกปี
เท่าที่ตรวจค้นได้ พบว่าจุดเริ่มต้นเกิดที่วัดแจ้ง ตำบลสามโคก อ.สามโคก จังหวัดปทุมธานี
จากประวัติกล่าวกันไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยา เสียทีให้แก่พม่า เจ้าน้อยระนาด ธิดาของเจ้าสัวสุ่นได้ลงเรือหนีทัพพม่ามากับพวกมาตามลำน้ำเจ้าพระยาในเวลา กลางคืน จนมาสว่างที่อำเภอสามโคก ตรงกับวัดแจ้งในเวลานี้ และได้จอดเรือพักผ่อนอยู่ที่ริมตลิ่ง กล่าวกันว่า ได้เจอดินกลาย เป็นทองตรงวัดแจ้ง จึงตั้งใจว่า เมื่อตั้งหลักฐานมั่นคงแล้วจะมาสร้างวัดที่นี่ ต่อมาเจ้าน้อยระนาด (ตีระนาด เก่งมาก) ได้เป็นเจ้าจอมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และมีพระราชโอรสซึ่งเกิด ในเจ้าจอมมารดาน้อยระนาด คือ พระองค์เจ้าชายกลาง
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระองค์ชายกลางได้ทรงกรมเป็นที่กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ และในรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนเป็นกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ และสิ้นพระชนม์ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา ทรงเป็นต้นสกุลวัชรีวงศ์
เข้าใจว่าสกุลนี้จะมาสร้างวัดแจ้ง กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ มีโอรสคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ (พระองค์เจ้าขาว) ได้มาบูรณะวัดแจ้งทุกปีและพระองค์เป็นผู้ริเริ่มให้มีการรำพาข้าวสารขึ้น เพื่อนำไปถวายพระให้เป็นทุนในการปฏิสังขรณ์วัด
การที่พระองค์เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ฉะนั้นในการร้องเพลงรำพาข้าวสาร จึงเริ่มต้นด้วยชื่อ ของท่าน ซึ่งเป็นการแสดงความคารวะต่อพระองค์ท่าน
ประเพณีการรำพาข้าวสารนี้ ชาวนนทบุรีก็นำไปใช้ด้วยเช่นกัน แต่จะเรียกว่า “รำพาข้าวสารพระองค์เจ้าขาว”
คุณลุงเสน่ห์ เจริญนา ชาวบ้านวัดดาวเรือง ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า
“ตนเองนั้นได้ยินได้ฟังการรำพาข้าวสารมาตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ โดยในครั้งนั้นคุณยายของตนเป็นแม่เพลง และมีผู้ใหญ่อีกหลายคนเป็นลูกคู่ ทั้งหญิงและชาย ซึ่งประเพณีรำพาข้าวสารนั้นมีมานานกว่า 100 ปีแล้ว และนิยมทำกันในช่วงหลังวันออกพรรษา คำว่า” รำพาข้าวสาร ”
“..ถ้าจะให้แปลตรงตัว ก็คือ การร้องเพลงขอข้าวสาร เพื่อนำไปถวายวัดนั่นเอง..”
ประเพณีรำพาข้าวสาร ผูกติดอยู่กับประเพณีตักบาตรพระร้อยของชาวจังหวัดปทุมธานี โดยเมื่อถึงวันออกพรรษาก่อนจะถึงวันเทศกาลตั้งบาตรพระร้อย พวกตนจำนวนกว่า 10 คน จะออกไปรำพาข้าวสารตามบ้านเรือนประชาชนทั่วๆไปแล้วนำข้าวสารที่ได้มานั้นไปถวายวัดเพื่อใช้ในการหุงข้าวสวยข้าวต้ม เลี้ยงพระในวันตักบาตรพระร้อย จึงถือเป็นประเพณีที่ผูกพันกันมายาวนาน
ลุงเสน่ห์ กล่าวต่อว่า ในสมัยก่อนเมื่อจะถึงเทศกาลตักบาตรพระร้อย ตามวัดวาอารามต่างๆจะมีพระมารวมกันเป็นร้อยๆองค์ ก็มีปัญหา ที่จะหาข้าวปลาอาหารมาถวายพระในเวลาเช้า เพราะกว่าจะถึงเวลาตั้งบาตรพระร้อย ก็ปาเข้าไป 3-4 โมงเช้า
“..ฉะนั้น ในตอนเช้าจึงจำเป็นต้องหาข้าวสารจำนวนมาก มาต้มข้าวต้ม เลี้ยงพระ หรือถวายพระก่อนให้ได้ฉันก่อน..”
จึงเป็นที่มาของกลุ่มศิลปินพื้นบ้านที่รวมตัวกัน พากเรือร้องรำทำเพลงไปตามลำคลอง เพื่อขอรับบริจาคข้าวสาร มาไว้ใช้ต้มข้าวต้มเลี้ยงพระ
การรำพาข้าวสาร ก็เริ่มจาก พวกเราจะนำกลอง ฉิ่ง ฉับ กรับ โหม่ง ลงไปในเรือ แล้วก็พายไปตามลำคลอง เพราะบ้านเรือนของประชาชนในย่านนี้ส่วนใหญ่ก็จะปลูกอยู่ริมน้ำตามแบบโบราณ
โดยคณะรำพาข้าวสาร มีทั้งชายและหญิงประมาณ 10 กว่าคน จะลงเรือแล้วพายไปตามลำคลอง ลัดเลาะไปจอดตามบ้านเรือนในตอนค่ำ ภายในเรือมีกระบุง หรือกระสอบใส่ข้าวสาร มีคนแก่คนหนึ่งนุ่งขาวห่มขาว นั่งกลางลำเรือเป็นประธาน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนคนอื่นๆ ช่วยกันพายเรือ และแต่งกายตามสบายหรือแล้วแต่จะตกลงกัน ทุกคนนั่งริมกราบเรือ เพื่อช่วยกันพายและมีคนคัดท้ายที่เรียกว่า “ถือท้ายเรือ” หนึ่งคน
เหมือนกับแข่งเรือ แต่เราพายเรือไปตามบ้านที่เรือจอดถึงหัวบันไดบ้านได้ ตลอดทางที่เราพายเพื่อกันไป ก็จะร้องรำทำเพลงกันให้สนุกสนาน
น้ำเหนือ มันไหลล่อง เอยยย..
น้ำในตลองมันก็ไหลขึ้น
แม่จงแผ่เมตตาที่พวกเรามาคราครืน
เอลา เอ้ลา เอหล่า ขาวเอยยยย
ทำบุญด้วยข้าว ให้แม่มีเงินเต็มถัง
ถ้าทำบุญด้วยสตางค์ ให้แม่มีเงินเป็นไห เอยยย..
ทำบุญด้วยข้าว หรือทำบุญด้วยสตางค์
แล้วแต่แม่จะหลั่งน้ำใจ….เอเลเอ้ลา เอหล่า ขาวเอยยยยย
เมื่อเรือจอดที่หัวบันไดบ้านแล้ว ก็จะร้องเพลงเพื่อเรียกเจ้าของบ้าน ที่อาจจะนอนหลับ หรือไม่หลับให้มาช่วยกำทำบุญ
โดยมีต้นเสียงหรือแม่เพลงขึ้นนำว่า
“เจ้าขาว ลาวละลอกเอย มาหอมดอก ดอกเอ๋ยลำไย
แม่เจ้าประคุณพี่เอาผลบุญมาให้” จากนั้นทุกคนก็จะร้องรับ
พร้อมๆ กันว่า “เอ่ เอ เอ้ หลา เอ่ หล่า ขาว เอย”แล้วก็ร้องไปเรื่อยๆ เป็นทำนองเชิญชวนให้ทำบุญร่วมกัน
ร้องไปเรื่อยจะเป็นดอกอะไรก็ได้จนกว่าเจ้าของบ้านจะตื่น เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินเสียงเพลง ก็จะรู้ทันทีว่ามาเรี่ยไรข้าวสารเพื่อจะนำไปทำบุญต้มข้าวต้มเลี้ยงพระ
เจ้าของบ้านก็จะร่วมทำบุญโดยเอาขันตักข้าวสารลงมาให้ที่เรือของพวกเรา ซึ่งก็จะพูดคุยกันเป็นการอนุโมทนาด้วยเมื่อคณะรำพาข้าวสารได้รับบริจาคแล้วก็จะให้ศีลให้พรเป็นเพลงให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุข และทำมา ค้าขึ้น
ทำบุญ ไม่เสียข้าวสุกแล้วเอยยย..
พวกลูกแก้ว เอ้ยย จะให้พร
ให้แม่มีสุขเลิศล้น…นะนะนแม่ขนตางอน….
คิดข้าวขอให้ข้าวกองเอยยยย
ถ้าแม่คิดทอง เอ้ยย ขอให้ทองนี้เกิด
ทองเอ้ยย ทองคำ..ละแม่กรวตน้ำเอาไปเถิด
.เอลา เอ้ลา เอหล่า ขาวเอยย
ถ้ามีลูกหญิง ขอให้สืบสายเอยย
ถ้าแม่มีลูกชาย ขอให้ถือสมุท
ให้เขาลือละเลื่องไปทั่วทั้งเมืองมนุษย์..เอยยย
เอลเอ้ลา เอหล่า ขาวววเอยยยยยยยยย…….
เมื่อร้องเพลงให้พรเสร็จแล้วก็พายเรือไปบ้านอื่นต่อไป
การรำพาข้าวสารจะเริ่มตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น.เรื่อยไปจนสว่าง จึงเลิกแล้วพากันกลับบ้าน และในคืนต่อไปคณะรำพาข้าวสารก็จะพายเรือไปขอรับบริจาคที่ตำบลอื่นต่อไปจนกระทั่งเห็นว่าข้าวของที่ ได้มาพอที่จะทำบุญเลี้ยงพระได้ทั้งวัดแล้วแล้วจึงยุติการรำพาข้าวสาร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: