X

เที่ยววัด ..ไหว้พระ ขอโชคไอ้ไข่ วัดโปรยฝน สาธุชนมุ่งหน้ามาขอพร รู้กันยัง มีคนถูกรางวัลที่ 1 มาแล้วนะ

เที่ยววัด ..ไหว้พระ ขอโชคไอ้ไข่ วัดโปรยฝน สาธุชนมุ่งหน้ามาขอพร รู้กันยัง มีคนถูกรางวัลที่ 1 มาแล้วนะ

…” ฉันอยากไปไหว้ไอ้ไข่มานานแล้ว เพราะเคยได้ยินถึงคำร่ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอพร ขอโชคลาภได้สมปรารถนา แต่บ้านฉันอยู่โคราช จะไปไหว้ไอ้ไข่ที่นครศรีธรรมราช มันก็ไกลมากฉันเดินทางไม่ไหว พอได้ข่าวว่าที่วัดโปรยฝน ปทุมธานี นำไอ้ไข่มาไว้ที่นี่ ฉันจึงบอกให้ลูกสาวพามาไหว้ ฉันศรัทธาไม่ใช่เพราะแค่จะขอหวย ฉันอยากมาร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ ที่วัดโปรยฝนแห่งนี้ด้วย..”

“หนองเสือ” ในอดีตถือเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเลยให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นพื้นที่ห่างไกล เดินทางเข้าไปลำบาก ในยุคสมัยหนึ่งพื้นที่หนองเสือ จึงถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ที่หลบหนีคดี ใช้เป็นสถานที่ซ่อนตัวของผู้ร้าย นักเลง ในยุคนั้น ด้วยเพราะพื้นที่เป็นป่า และเป็นรอยต่อหลายจังหวัด ทั้ง พระนครศรีอยุธยา สระบุรีนครนายก ทำให้การหลบหนีเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างง่ายดาย

ครั้งหนึ่งในอดีต มีเสือร้าย ที่หลบหนีคดีมาจากจังหวัดลพบุรี แล้วบวชเป็นพระภิกษุ อยู่ที่หนองเสือ จนกลายเป็นพระที่ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มีชื่อเสียงโด่งดัง วัตถุมงคลของหลวงพ่อท่านเป็นที่ต้องการของประชาชน ด้วยประสบการณ์ ปาฎิหาริย์ ที่ว่า..เหนียวนักแล

วัดโปรยฝน ถือเป็นวัดเก่าแก่ในพื้นที่อำเภอหนองเสือ จ.ปทุมธานี สร้างขึ้นเมื่อ พศ.2441 บนที่ดินกว่า 12 ไร่ ที่มีคุณหญิงสมาน อมาตยกุล และ คุณหญิงภัทร อมาตยกุล ท่านผู้มีจิตใจเป็นบุญกุศล ร่วมกันถวายที่ดินแห่งนี้เพื่อสร้างวัด โดยมีพระอาจารย์ทอง เจ้าอาวาสองค์แรก เป็นผู้ดำเนินการรับมอบและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ช่วยกันสร้างวัดขึ้นมา ทั้งกุฎิสงฆ์ ศาลา หอระฆัง พระอุโบสถ โดยในครั้งนั้นมีชื่อว่า “วัดทรามสงวน”

หลังจากพื้นที่ทุ่งนารกร้าง ถูกสร้าง เป็นวัด ก็มักจะเกิดเหตุอัศจรรย์ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบมาตลอด กล่าวคือ เมื่อทางวัดมีการจัดงานใดๆขึ้นมาทั้งเทศกาลและนอกเทศกาล ทั้งการบวชพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา ตรุษไทย หรืองานประจำ รวมทั้งงานมลคลต่างของทางวัด ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนโปรยปราย” ลงมาทุกครั้ง แม้จะไม่ใช่ช่วงฤดูฝนก็ตาม

ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อันเป็นมงคล การที่สายฝนโปรยปรายลงมาในงานพิธีต่างๆถือว่าเทวดารับรู้ และพรมน้ำมนต์ลงมาสร้างความปลาบปลื้มให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ต่างยกมือท่วมหัวพร้อมเปล่งวาจา “สาธุ” ทุกครั้งและยังชอบพูดกันในกลุ่มชาวบ้านว่า “วัดโปรยฝน” และเรียกกันติดปากต่อๆมา จนเป็นวัดโปรยฝนมาจนทุกวันนี้

เมื่อเข้าไปในวัดโปรยฝน ก็จะพบกับบรรยากาศแบบวัดตามหัวเมืองทั่วไป แต่ที่ไม่เหมือนคือ รถยนต์สารพัดยี่ห้อจอดอยู่เต็มพื้นที่ ประชาชนจำนวนนับพัน ต่างพากันยืนรออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อเข้าไปกราบไหว้ขอโชค ขอพร ไอ้ไข่..วัดโปรยฝน ซึ่งเราก็ไม่รอช้า ร่วมทำบุญกับทางวัดในการเอาดอกไม้ธูปเทียน ไปเข้าคิวกราบไหว้ขอพรไอ้ไข่..

หลังกราบไหว้ไอ้ไข่ ได้พรแล้ว เราก็เดินออกไปด้านหลังซึ่งมีร้านค้าของชาวบ้านในพื้นที่ นำสินค้าหลากหลายมาวางขายให้กับสาธุชนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ก็ถือว่าวัดช่วยคน ประชาชนช่วยวัด เพราะคนรอบๆวัดก็ได้อานิสงส์ในการนำผลผลิตจากสวนจากไร่มาวางขายให้กับประชาชนหรือนักท่องเที่ยวอย่างเรา ซึ่งก็อุดหนุนไปตามสมควร ขนมบ้านๆ แบบกล้วยทอดขอบอกว่าอร่อยเลิศทีเดียวเชียว นอกจากนี้ก็ผัดสดๆ ผลไม้สดๆ จากชาวสวนหนองเสือก็มีให้เลือกซื้อ

ออกจากกุฎิเจ้าหน้าที่ที่ประดิษฐานไอ้ไข่ หลังจากการไหว้ขอพร เราทะลุออกไปด้านหลัง ก็มองเห็นศาลเจ้าแม่ตะเคียน ตรงนี้ถือว่าไม่ควรเดินผ่าน ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่ข้างต้นตะเคียนคู่ที่มีมายาวนานคู่กับวัดโปรยฝน ศาลปู่ศาลตา ถัดมาก็พระอุโบสถ (หลังเก่า) ที่เราไม่ยอมพลาด ต้องหาดอกไม้ธูปเทียน ไปกราบสักการะพระประธานในพระอุโบสถ ที่เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี โดยตรงจุดนี้คนจะเยอะมาก ถือเป็นอีกจุดหนึ่งของวัดที่ผู้คนนิยมมากราบเพื่อความเป็นสิริมงคล

ใกล้กัน พระอุโบสถ หลังใหม่ ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อใช้แทนพระอุโบสถหลังเก่าที่เริ่มจะคับแคมไปตามการเวลา อุโบสถหลังใหม่แห่งนี้ทราบจากพระอาจารย์กุ่ย หรือท่านพระครูสมุท์อำนวยโชติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดโปรยฝน ว่า พระอุโบสถหลังนี้ตั้งงบประมาณไว้ราวๆ 30-50 ล้านบาท ถือเป็นพระอุโบสถ หลังที่ 2 ของวัดโปรยฝน เนื่องจากพระอุโบสถ หลังเก่านั้นก่อสร้างมายาวนานนับ 100 ปี ก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งทางวัดก็บูรณะมาตลอด และมาถึงวันนี้ก็ต้องสร้างหลังใหม่เพื่อใช้งานได้อย่างครอบคลุม ซึ่งการดำเนินการจนถึงขณะนี้ถือว่าคืบหน้าไปมากด้วยกำลังศรัทธาของประชาชน

ที่พลาดไม่ได้เมื่อมาวัดโปรยใน นั่นคือ ทำบุญปิดทองลูกนิมิต ปิดทองช่อฟ้าใบระกา ที่เตรียมไว้ในการฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งก็พบว่าประชาชนจำนวนมากทั้งชายและหญิงต่างให้ความสำคัญพากันมาปิดทองกันเป็นจำนวนมากท่ามกลางเสียงดังกังวานของประทัดที่เจ้าหน้าที่ของทางวัดทำการจุดแทบจะตลอดเวลาตามกำลังศรัทธาของประชาชน

มีโอกาสได้คุยกับคุณยายสงวน ที่เดินทางมาจากโคราช หรือนครราชสีมา ที่เดินทางมาทำบุญสร้างพระอุโบสถกับทางวัดโปรยฝน โดยคุณยายกล่าวว่า …” ฉันอยากไปไหว้ไอ้ไข่มานานแล้ว เพราะเคยได้ยินถึงคำร่ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอพร ขอโชคลาภได้สมปรารถนา แต่บ้านฉันอยู่โคราช จะไปไหว้ไอ้ไข่ที่นครศรีธรรมราช มันก็ไกลมากฉันเดินทางไม่ไหว พอได้ข่าวว่าที่วัดโปรยฝน ปทุมธานี นำไอ้ไข่มาไว้ที่นี่ ฉันจึงบอกให้ลูกสาวพามาไหว้ ฉันศรัทธาไม่ใช่เพราะแค่จะขอหวย ฉันอยากมาร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ ที่วัดโปรยฝนแห่งนี้ด้วย..”

รู้ยังคนที่มากราบไอ้ไข่ที่วุดโปรยฝน กลับไปแล้วถูกรางวัลที่ 1 เลยเชียวนะ อันนี้ไม่ได้พูดเล่นๆ แต่เป็นข่าวทั้งในสื่อทีวี และสื่อออนไลน์มาแล้ว โดยคนที่ถูกรางวัลที่ 1 นั้น เป็นสาวโรงงานย่านพระนครศรีอยุธยา แต่ในที่นี้ขอไม่บอกชื่อนะครับเพราะสื่อต่างๆ ออกไปกันเยอะแล้ว แต่ที่อยากบอกคือเขามาขอพรไอ้ไข่..วัดโปรยฝน และมาร่วมทำบุญสร้างพระอุโบสถด้วย

พระอาจารย์กุ่ย หรือท่านพระครูสมุท์อำนวยโชติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดโปรยฝน กล่าวว่า “ วัดโปรยฝนเป็นวัดเล็กๆวัดหนึ่ง เมื่อทางวัดจัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ก็มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาร่วมบุญ การที่นำไอ้ไข่มาไว้ที่วัดโปรยฝน และมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ขอพร ก็ถือว่าเป็นที่พึ่งทางใจ โดยในบางครั้งบางโอกาสคนเราก็อยากมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต แต่ไม่ใช่แค่กราบไหว้ขอพร ต้องทำงาน ต้องมีสติ ต้องมีศีลธรรมในใจ ซึ่งก็จะพูดกับประชาชนบ่อยๆว่า ไม่ใช่กราบไหว้แล้วจะรวย ต้องทำมาหากินด้วย ไม่มีใครรวยด้วยการนอนอยู่กับบ้านแน่นอน..”

..เราเดินจนทั่ววัดแล้ว โดยแวะอุดหนุนสินค้าของชุมชน เสี่ยงโชคบ้างแบบอุดหนุนรัฐบาลละนะ ก่อนกลับออกมาพบว่ามีประชาชนนำรถยนต์มาให้พระอาจารย์เจิม รวมทั้งเจิมหน้าผาก เพื่อความเป็นสิริมงคล ที่จาดไม่ได้คือ “ เหรียญพลิกชะตา” รุ่นแรก ของวัดโปรยฝน ทราบว่ามีประสบการณ์ อภินิหารที่หลายคนเจอกับตัวเองจนขนลุก พระอาจารย์กุ่ยท่านก็เมตตาจารย์มือให้มาด้วย..สาธุครับ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี