X

ลุงตู่ เปิดงาน “อาชีวะยกกำลัง 2” พัฒนาทักษะสู่ความเป็นเลิศ

ปทุมธานี นายกฯ เปิดงาน “อาชีวะยกกำลัง 2” พัฒนาทักษะสู่ความเป็นเลิศ สอดรับตลาดแรงงานทั้งในและนอกประเทศ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมปทุมมาศ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ถนนรังสิต-ปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน “การขับเคลื่อนนโยบาย อาชีวศึกษายกกำลังสอง” โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ปลัดจังหวัดปทุมธานี คณะผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ ความตอนหนึ่งว่า การศึกษาและการพัฒนามนุษย์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ สร้างประเทศ ผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน คนไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีรายได้ และสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและอาชีวะไทย รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้มีโอกาสทบทวนองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพที่เป็นระดับสากลและทันสมัย ตลอดจนสามารถนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า การผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ยังเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จำเป็นต้องปรับรูปแบบให้สอดรับกับบริบทโลก และทันต่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศ และมีฝีมือในสาขาวิชาชีพ ตลอดจนมีทักษะที่เป็นที่ต้องการ และมีความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการแก้ไข ขจัดปัญหาและอุปสรรค ที่เป็นสิ่งกีดขวางการดำเนินภารกิจด้านการศึกษา รวมถึงด้านการจัดสรรงบประมาณ หากคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบ ปรับแนวทางการบริหารการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นข้อติดขัดในการขับเคลื่อนด้านการศึกษา ให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน จะเป็นสิ่งสำคัญในการร่วมกันผลิตกำลังคนอาชีวะทักษะสูง ที่เข้าถึงความต้องการที่เกิดขึ้น และตอบโจทย์ประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาอาชีวศึกษาในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศไทย จากการมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ พร้อมต่อการปฏิบัติงาน และสามารถปฏิบัติงานได้จริง และยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมพัฒนาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ภายหลังพิธีฯ นายกรัฐมนตรีชมนิทรรศการอาชีวะยกกำลังสอง ณ บริเวณภายในห้องประชุมปทุมมาศ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology) หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial Robotics) นวัตกรรม เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) และรถยนต์ไฟฟ้า ELECTRIC VEHICLE (EV)

กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศพร้อมขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง “สู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย” มุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ พร้อมโชว์ศักยภาพกระแสตอบรับ จากผู้ประกอบการชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก โดยเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร แบบ 1 เอกชนต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก รวม 32 แห่ง ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา 50 แห่ง สิ้นปี 2563 และครบ 100 แห่ง ในปี 2564 ประกาศความพร้อมในการสร้างกลไกขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) สู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน สอดคล้องกับแผนงานการปฏิรูปการศึกษายกกําลังสอง

โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจำเป็นต้อง “ปลดล็อก” จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน ที่ก่อให้เกิด Skill Gap หรือปัญหาช่องว่างทางทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง โดยต้อง “ปรับเปลี่ยน” เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็น และสอดคล้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ “เปิดกว้าง” ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนกำลังคนในทุกมิติสู่ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมต้องการ ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนทักษะกับมืออาชีพในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ศักยภาพแรงงานที่ตรงกับความต้องการ และมีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง

โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาได้มอบหมายนโยบาย ในการสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตามความเป็นเลิศของสถานศึกษา และตามบริบทของพื้นที่ โดยต้องสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาคเอกชน สถานประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา ให้เป็นอาชีวศึกษาเฉพาะทางตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อบริหารจัดการการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism, Project Based Learning Authentic Assessment ผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์จากการเรียนในสถานที่จริง หรือสถานการณ์จริง เพื่อยกระดับความสามารถของผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษา ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้ง Hard Skills ทักษะความเชี่ยวชาญที่ทำงานได้ทันที และมี Soft Skills ทักษะด้านความคิดและอารมณ์ ที่สอดคล้องกับโลกของการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ สถาบันอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ตลอดจนภาคเอกชนจากสาขาอาชีพต่างๆ ในการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง แบบ 1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), และ ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งในขณะนี้ ได้รับความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาและยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาจากสถานประกอบการชั้นนำ แล้วกว่า 32 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา ให้ครบ 50 แห่งในสิ้นปี 2563 และในปี 2564 ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ

“ศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนานักเรียนอาชีวะ บุคลากรทางการศึกษา และครู ให้เข้ามาใช้ในการ Up-skills และ Re-skills โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อทำให้วิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นเลิศ จะสามารถสร้างฐานทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่มีศักยภาพ สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีทักษะชีวิตที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้กำลังคนที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ เมื่อภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง ประเทศไทย จะมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี