ปทุมธานี ผู้ว่าเมืองปทุมฯ ลงพื้นที่สถานีผลิตน้ำประปาคลอง 13 วางมาตรการลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยนายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอธัญบุรี นายสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอหนองเสือ นายกฤษณ์ ก้อนนาค ผู้จัดการการประปา สาขาธัญบุรี นายนิคม วัชรดิเรกรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดปทุมธานี ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจติดตามและรับฟังปัญหาสถานีผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และร่วมประชุม เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งเพื่อวางมาตรการลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและภัยแล้ง รวมถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อำเภอหนองเสือและอำเภอธัญบุรี
เนื่องจากปัญหาปริมาณน้ำในคลอง 13 บริเวณอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี มีปริมาณน้ำลดลง จนเริ่มส่งผลต่อกระบวนการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จึงมีการประชุมเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่จำหน่ายน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 อำเภอประกอบด้วย อำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ อำเภอธัญบุรี อำเภอลำลูกกา และ อำเภอองค์รักษ์ รวมผู้ใช้น้ำทั้งหมด 70,593 ราย
ข่าวน่าสนใจ:
นายกฤษณ์ ก้อนนาค ผู้จัดการการประปา สาขาธัญบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า ขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี เพื่อสูบผันน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ลงสู่คลอง 13 เป็นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา รวมทั้งพืชสวนและไม้ยืนต้นในเขตพื้นที่อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ และการแก้ไขระบบน้ำปาไหลอ่อนในพื้นที่อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง และอำเภอลำลูกกา แบ่งออกได้เป็นอย่างน้อย ๆ 2 ระยะ โดยระยะยาวจะทำการหาสถานีผลิตน้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยให้ความเห็นเพื่อที่จะหนีน้ำเค็มไปด้านทิศเหนือ ทำให้ประสิทธิภาพน้ำที่ผลิตลส่งมาในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีดีขึ้น จากนั้นจะทำการจ่ายน้ำจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยการวางแนวท่อจ่ายน้ำมาตามแนวถนนมอเตอร์เวย์และส่งเข้ามาในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ฝั่งอำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยระบบเมื่อสมบูรณ์ จะสร้างความมั่นคงทางระบบน้ำประปาของจังหวัดได้อย่างน้อย 15 ปี ในกรณีที่ไม่มีการต่อเติม หรือสิ่งปลูกสร้างที่มากขึ้น ก็จะยิ่งยึดอายุของระบบให้เพิ่มมากขึ้น ในด้านของระยะเร่งด่วนทำการจัดซื้อน้ำจากการประปานครหลวง ชลประทาน หรือจากภาคเอกชน เพิ่มเติมถ้ากรณีถึงขึ้นวิกฤตทำการประสานความช่วยเหลือจะนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระราม 9 เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ เพื่อที่จะดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาปัญหาน้ำไหลอ่อนในพื้นที่ระยะยาวต่อไป
ด้านนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า จังหวัดปทุมธานีได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง การสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบการผลิตน้ำประปา รวมถึงสำรวจเส้นทางคมนาคมเลียบลำคลอง ลำน้ำ และแม่น้ำ เพื่อวางมาตรการป้องกันการพังทลายของตลิ่ง ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด อีกทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรมิให้ปิดกั้นลำน้ำและสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพื้นที่พืชสวนและนาข้าวรอการเก็บเกี่ยวเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยส่วนภาคการเกษตรนั้นขณะนี้ได้มีการขอความร่วมมือในการงดปลูกข้าวนาปรัง และปรับเปลี่ยนให้กลับมาทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยแทน ย้ำทุกคนอย่าตระหนกตกใจ ต้องร่วมมือร่วมใจประหยัดน้ำ ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งนี้ไปด้วยกันและยังกำชับให้นายอำเภอทั้ง3อำเภอคืออำเภอธัญบุรี,อำเภอคลองหลวงและอำเภอหนองเสือ เฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่าให้เกิดความขัดแย้งเชื่อมั่นใจหากการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนก็จะมีน้ำเพียงพอที่จะให้อุปโภคไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง
นายสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอหนองเสือ กล่าวว่าจากการบรูณาการทุกภาคส่วนของจังหวัดปทุมธานี ทางอำเภอหนองเสือได้ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชลประทาน ขนเครื่องมือหนัก ขุดลอกคลอง เพื่อเปิดทางเดินน้ำแก้ไขภัยแล้งบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้ประชาชนเนื่องด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งมีปริมาณลดน้อยลง โดยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำมาอย่างต่อเนื่องโดยขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน อย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: