X

สัมผัสวิถีชีวิตรามัญ สืบสานประเพณีโกนจุกเด็กมอญ

ปทุมธานี สัมผัสวิถีชีวิตรามัญ สืบสานประเพณีโกนจุกเด็กมอญ

วันที่ 26 ก.พ.2564 ชุมชนคุณธรรมฯวัดสิงห์ ร่วมกับพุทธศาสนิกชนอำเภอสามโคก จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พระครูฎีกาอรรถพล อนุจารี เจ้าอาวาสวัดสิงห์ เป็นประธานในพิธีโกนผมจุก ให้แก่เด็กที่มีอายุครบการโกนผม ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีของชาวมอญ จังหวัดปทุมธานี โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี พุทธศาสนิกชน ร่วมสืบสานประเพณี ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ชาวมอญสมัยก่อนนิยมที่จะให้บุตรหลานของตนไว้จุกสาเหตุเพราะมีการเชื่อกันว่าบุตรหลานของตนจะอยู่เย็นเป็นสุขหรือเป็นการรักษาโรคอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กมีร่างกายไม่แข็งแรงเจ็บป่วยบ่อย พระสงฆ์หรือผู้เฒ่าผู้แก่มักแนะนำผู้ปกครองให้ไว้จุกแก่บุตรหลานเพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อเด็กแรกเกิดมีอายุครบ 1 เดือนจะต้องโกนผมไฟ (โซ่กโก๊ะ)

หลังจากนั้นถ้าผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานไว้จุกก็เริ่มได้เลย ก็คือจะเก็บผมตรงกลางของศีรษะคอนมาทางด้านหน้าเล็กน้อยแล้วโกนผมส่วนที่เหลือทั้งหมดออก การโกนผมจุก (จอแหละโป๊ะ) จะโกนเมื่อเด็กอายุได้ 13 ขวบต่อมาในสมัยหลังๆมีการอนุโลมให้จัดพิธีโกนจุกขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสมของสภาพสังคม เช่นเพื่อตัดจุกเมื่อเด็กต้องการเข้าเรียนเป็นต้นเด็กผมจุกในสมัยนี้จะต้องโกนจุกเร็วขึ้นโดยสามารถโกนได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ 5 ขวบ 7ขวบ 9 ขวบ ถึง 11 ขวบข้อสำคัญของพิธี คือในวันที่โกนจุก ต้องไม่มีสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งคนใดตั้งครรภ์ และต้องบอกญาติทุกคนร่วมรับรู้ และให้มาร่วมงาน เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันเหลือน้อยลง เป็นพิธีที่ทำเพื่อให้พ่อแม่เด็กมีขวัญและกำลังใจในการเลี้ยงลูก

โดยวันนี้มีการโกนจุกแบบมอญเป็นเด็กผู้หญิงฝาแฝดคือ เด็กหญิงสาธิตา ต้นสมปลาย (น้องเพชร) เด็กหญิงสุชาดา ต้นสมปลาย(น้องพลอย) ที่เดินทางมาโกนจุกจากจังหวัดบุรีรัมย์ พ่อแม่บางท่านก็นำลูกน้อยสวมใส่ชุดไทย หรือเด็กบางคนก็ใส่ชุดปกติธรรมดา แต่ที่สำคัญบนศีรษะของเด็กๆเหล่านั้นจะไว้จุก เด็กน้อยบางคนถูกแค่ตัดเส้นผมเท่านั้น จากที่เคยสดชื่นเริงร่าก็น้ำตาร่วงหล่น ปากแบะ.ร้องไห้จ้าด้วยความกลัว ส่วนช่วงเย็นจะมีการจุดประทีปและเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

น.ส.ฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า งานโกนจุกของชาวมอญ ถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันเก่าแก่ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตชาวมอญได้เป็นอย่างดี เห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้มุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบาย โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ มีภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์ที่ดี และได้รับการยอมรับในเวทีทางวัฒนธรรมระดับสากล

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี