X

สำนักงานวัฒนธรรมชวนเที่ยวแบบ New Normal วัดบางหลวงเมืองปทุมธานี แหล่งท่องเที่ยววิถีธรรม

ปทุมธานี สำนักงานวัฒนธรรมชวนเที่ยวแบบ New Normal วัดบางหลวงเมืองปทุมธานี แหล่งท่องเที่ยววิถีธรรม

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยรอบที่สองเริ่มดีขึ้น เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นำโดยนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี จึงอยากเชิญชวนท่องเที่ยววิถีธรรม แบบ New Normal ที่วัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี

วัดบางหลวง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นวัดโบราณที่มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี การที่ได้ชื่อว่า “บางหลวง” นั้น มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าสมัยที่สมเด็จพระเอกาทศรถได้โปรดให้ขุดคลองลัดเตร็จใหญ่ขึ้นใน พ.ศ. 2151 นั้น ได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งซึ่งชาวบ้านช่วยกันเอาซ่อนไว้ที่วัดบางหลวงนอก เรียกว่าบังไม่ให้หลวงเห็น จึงพูดกันติดปากว่า “บังหลวง” หรือวัดบังหลวง แล้วกลายเป็น “บางหลวง” เมื่อเวลาผ่านไป จนทุกวันนี้ หลวงพ่อเพชรองค์นี้ก็ยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดบางหลวงและเป็นพระพุทธรูปที่มือขยับบิดไปบิดมาได้ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ มีพุทธศาสนิกชนพากันมาเคารพสักการะกราบไหว้กันอยู่เสมอ พอถึงเทศกาลงานประจำปี วันแรม 4 ค่ำ เดือน 11 จะมีประชาชนมากราบไหว้นมัสการกัน มากมิได้ขาด จนล่ำลือไปทั่ว จนชาวบ้าน พูดกันติดปากว่า “บางหลวงไหว้พระ” เป็นที่รู้จักกันโดยพฤตินัยกันทั่วไป

พระมหาถาวร ถิรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดบางหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองปทุมธานี เปิดเผยว่า พระรามัญมุนี ( สุทธิ์ ญาณรสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหลวง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้บันทึกไว้ เมื่อ พุทธ ศักราช 2451 ว่า “วัดบางหลวงใน หรือวัดบางหลวงไหว้พระนี้ แต่ ก่อนมิได้สร้างวัดนี้ เป็นทำเลพงแขม (แขมคือไม้ชนิดหนึ่งคล้ายอ้อ)รก ด้วยหญ้าลัดดาวัลย์ เป็นที่อาศัยของสัตว์จตุบาทวิบาท มีเสือดาว กวางทราย เป็นต้น มีลำคลอง เข้าไปทุ่งนาแห่งหนึ่งเรียกคลองบางหลวง พง ป่ารกชัฏตามริมคลองเป็นที่เปล่าเปลี่ยวผู้ คนไปมา คลองนี้แต่ก่อนกว้างประมาณ 3 – 4 วา และมีจระเข้ตัวเล็ก ๆ ชุกชุม มัจฉา ชาติก็มาก สกุณชาติต่าง ๆ ก็มาก อาศัยอยู่ ตามต้นไม้ พวกพรานเที่ยวสัญจรหาละมั่งกวางทราย จับนกจับปลาไปไว้เป็นภักษาหาร

ครั้นมนุษย์มาก ขึ้นความเจริญของภูมิประเทศก็ดีขึ้นทุกขั้น ต่อมาเมื่อประมาณ พุทธศักราช 2246 หรือจุลศักราช 1065 สมเด็จพระสรรเพ็ชรที่ 8 ทรงพระนามเดิม ว่า “พระพุทธเจ้าเสือ” (ดอกเดื่อ) เป็นพระเจ้าแผ่นดินในพระนครศรีอยุธยาทาราวดี คือกรุงเก่าได้ ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นที่ตำบลปากคลองบางหลวง ฝั่งใต้ พระราชทานนามว่า “วัดสิงห์”
ในบันทึกนี้น่าจะเป็นความจริงอยู่มาก เพราะวัดบางหลวงมี 2 วัด คู่ กัน คือ วัดบางหลวงนอก กับวัดบางหลวงใน วัดบางหลวงในคือวัดบางหลวงที่อยู่ปัจจุบันนี้ ส่วน วัดบางหลวงนอกได้ทรุดโทรมปรักหักพังร้าง ไปหมดแล้ว

วัดบางหลวง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ประมาณ 3 กิโลเมตร ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 เดิมชื่อว่า “วัดสิงห์” เป็นวัดที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระอุโบสถทรงไทยโบราณ ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยและภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์มอญ 2 องค์ คือ ทรงชเวดากอง และมุเตา ซึ่งวัดนี้ใช้ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงปัจจุบัน
ภายในวัดมีสิ่งสำคัญหลายอย่าง คือ อุโบสถเก่าที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน ฝาผนังโบสถ์เป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติที่เขียนสีไว้อย่างสวยงาม

เจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์บริวารอยู่สี่ด้าน นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระปทุมธรรมราช พระประจำจังหวัดปทุมธานี จากหลักฐานที่ปรากฏในไมโครฟิล์มกองจดหมายเหตุทำให้ทราบว่าองค์พระพุทธรูปสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2443 หลวงพ่อเพชร พระเก่าแก่ประจำวัด หลวงปู่รามัญมุนี พระสงฆ์ผู้ทรงศีล

พระปทุมธรรมราช เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หล่อด้วยโลหะผสม ปางขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 3 คืบ พระสุคตประมาณ 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ห่มจีวร สังฆาฏิพาดตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สูง 8 นิ้ว ยาว 47 นิ้ว วัดความสูงตลอดถึงเกศ 65 นิ้ว โดยพระศาสนโสภณ (อ่อน) แต่ครั้งยังเป็น พรธรรมไตรโลกาจารย์ วัดพิชยญาติการราม ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ เห็นว่าในเขตปกครองของท่านไม่มีพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองจำดำริกับ พระรามัญมุนี(สุทธิ์ ญาณรังสี) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดบางหลวงในสมัยนั้น พร้อมด้วย พระยาพิทักษ์ทวยหาญ เจ้าเมืองและกรรมการเมือง ร่วมจัดหาทุนทรัพย์ในการหล่อพระพุทธรูปครั้งเมื่อถึงเดือนมกราคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443พระธรรมไตรโลกาจารย์ นำช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปมาจากกรุงเทพฯ โดยทำพิธี ณ โรงพิธี วัดปรมัยยิกาวาส จำนวน 4 องค์ต่อมาได้มีการกำหนดการเททองเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443 ที่วัดบางหลวง สิ้นเงิน 519 บาทเศษ เมื่อทำการแต่งองค์พระเสร็จแล้ว พระธรรมไตรโลกาจารย์ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม พระประจำจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443 นามว่า พระปทุมธรรมราช สืบต่อมา

วัดบางหลวง แห่งนี้ อยากมีโชค ขอพร หลวงพ่อใหญ่ อยากมีชัย ขอพร หลวงพ่อเพชร อยากสำเร็จ ขอพร พระปทุมธรรมราชอยากแคล้วคลาด ขอพร หลวงปู่รามัญมุนี วัดบางหลวง ปทุมธานี จากนั้นชมความงามของสะพานโค้งบางหลวง เป็นสะพานข้ามคลองบางหลวงศิลปะแบบตะวันตก สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นสะพานคอนกรีต โค้งมน ฐานและเสาสะพานอยู่ที่ทั้งสองฝั่งไม่มีเสากลางสะพาน มีสีขาวสง่างดงาม

ไหว้พระเสร็จแล้วก็มาทำบุญด้วยการให้อาหารปลาคาร์ฟ การให้อาหารปลาคาร์ฟที่วัดบางหลวงแห่งนี้มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือผู้ให้ต้องนำอาหารปลามาใส่ในขวดนมสำหรับเด็ก แล้วจึงนำไปหย่อนให้ฝูงปลาว่ายเข้ามารุมดูดอาหารจากจุกนม จนเกิดเสียงดังจ๊วบจ๊าบ ซึ่งทางวัดได้จัดเตรียม อาหารเม็ดจำหน่ายถุงละ 10 บาท พร้อมขวดนมเปล่าไว้ให้
และวัดบางหลวงแห่งนี้ยังมีประเพณีสำคัญคือประเพณีโกนจุกของชาวมอญซึ่งจะมีขึ้นช่วงเทศกาลออกพรรษา และยังเป็นสถานที่ประกวดการบรรยายธรรม ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และสามารถนำหลักธรรมทางศาสนา ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดบางหลวงแห่งนี้ยังเป็น ชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทยอันดีงามที่ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร

นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ทิศทางการท่องเที่ยวชุมชนและวัด ในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักต้องให้ความสำคัญต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง “ชุมชน” ถือเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความเปราะบาง ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ดังนั้น หากยังจำเป็นต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ และการกำหนดมาตรการที่ชุมชน สามารถนำไปใช้เพื่อการวางแผนและการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนที่เหมาะสมได้ คือสร้างความมั่นใจ บนพื้นฐานของความปลอดภัยและสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่มีมาตรการป้องกัน สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี